พิธาระบุอันตราย ขออย่าดึงสถาบันกษัตริย์มาอ้างในการโหวตนายกฯ ไม่ทำตามมติประชาชน

12 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ก่อนหน้าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ท่ามกลางกระแสการต่อต้านของเหล่าส.ว. ยกเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขึ้นมาเป็นข้ออ้างไม่โหวตให้แก่แคนดิเดตจากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากอย่างพรรคก้าวไกล ทั้งยังมีข่าวการ “แจกกล้วย” หรือการเสนอผลประโยชน์แลกกับการไม่เลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ส.ว.รวมประชาชนเข้าไปในสมการการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และทำตามหลักการ ในประเด็นที่มีการยกสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาอ้างในการไม่โหวตเขาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องอันตราย การที่เอาสถาบันกษัตริย์มาอ้าง ยิ่งทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนที่เลือกตั้งมา ผมคิดว่า ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันเลยจริงๆ เพราะว่า พระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองไม่ควรที่จะเอามาเป็นเหตุและผลตรงนี้”



เติมคำว่า “ประชาชน” ในหลักการของส.ว.และขอให้เลือกนายกฯตามหลักการ

ในประเด็นเรื่องการที่ส.ว.ส่งต่อข้อความว่า ส.ว. มีอิสระในการเลือกคนดี มีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ “ไม่ยึดโยงกับผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่อย่างใด ว่า เห็นไม่แตกต่างกัน แต่มองว่า ต้องมีคำว่าประชาชนอยู่ในนั้นด้วยและคิดว่า ถ้าจะมีคำว่า ประชาชนอยู่ในนั้น ประชาชนอยู่ในสมการนั้นมันก็ต้องยึดโยงผลการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเพราะอันนั้นคือหลักการของรัฐบาลเสียงข้างมาก ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะไปเลือกตั้งทำไม ใช้งบประมาณตั้งหลายพันล้านบาท ประชาชนเลือกและมีการจัดตั้งรัฐบาล ได้มาแปดพรรค 312 เสียงจาก 500 เสียง

“มีเอกสิทธิ์ในการเลือก แต่ว่าท่านต้องเลือกตามหลักการ ปี 62 ท่านบอกท่านจะเลือกตามเสียงข้างมาก ตอนนี้ท่านบอกท่านเลือกตามใจ ผมคิดว่า ตรงนี้มันก็ไม่มีหลักการระหว่างปี 62 กับปี 66 ปี 62 พล.อ.ประยุทธ์ได้ 250 กว่า ปีนี้ผมได้ 312 ผมก็เลยยังหาตรรกะในนั้นไม่เจอ แต่ว่าเรื่องการที่จะต้องมีความซื่อสัตย์ คนดีแต่ระบบต้องดีกว่า คนดีเราวัดกันไม่ได้ แต่ระบบที่ดีมันคัดกรองความซื่อสัตย์และเรื่องของการไม่คอร์รัปชั่นอะไรต่อไป”

เรื่องการยึดมั่นในความเป็นชาติ ศาสนาที่โอบรับในความหลากหลาย สถาบันกษัตริย์และสถาบันประชาชนที่ต้องอยู่คู่กัน 

 

ย้ำอันตราย ขออย่านำสถาบันกษัตริย์มาอ้าง

“การที่เอาสถาบันกษัตริย์มาอ้าง ยิ่งทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนที่เลือกตั้งมา ผมคิดว่า ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันเลยจริงๆ เพราะว่า พระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองไม่ควรที่จะเอามาเป็นเหตุและผลตรงนี้ ผมก็เข้าใจนะว่า มีกลุ่มคนหลายคนที่ไม่อยากเห็นผมเป็นนายกฯ ไม่ว่าเขาจะสูญเสียสัมปทาน ไม่ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ที่เขาเคยมีอยู่ แต่ไม่กล้าที่จะพูดออกมาตรงๆ แล้วก็อ้างสถาบันทั้งที่คุณก็รู้แล้วว่า ใช้เป็นเหตุผลแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์กับสถาบันไหนเลยในประเทศไทย เพราะฉะนั้นผมอยากจะขอให้หยุด เพราะว่า ในระบบของเรา Constitutional Monarchy ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมืองเพราะฉะนั้นอย่าดึงพระองค์ท่านลงมาแล้วใช้เป็นข้ออ้างบังหน้าแล้วบอกว่า จะไม่เลือกตามรัฐบาลเสียงข้างมาก ผมคิดว่าอันนี้มันอันตรายเกินไป และไม่ได้เป็นเรื่องของผมด้วยเป็นเรื่องของหลักการการบริหารประเทศทั่วไปในระบบของเรา”

ข้อกังวลเรื่องนี้ตรงกับชัยธวัช ตุลาธนที่ได้กล่าวไว้เมื่อวานนี้ เขาระบุว่า “แสดงให้เห็นว่า พวกเราก็มีเป้าหมายเดียวกันท่าน พวกเราก็มีวิธีการในการแสดงการจงรักภักดีของเรา เราคิดว่า การที่จะแสดงการจงรักภักดีและก็ทำให้สถาบันธำรงอยู่ได้ก็คือ การที่ไม่ให้ใครเอาสถาบันลงมาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำตามมติประชาชนหรือโจมตีคนอื่น หรือรังแกคนอื่น หรือรังแกคนที่เห็นต่างทางการเมือง” โดยในระยะหลังมีการ “ผูก” เรื่องแบบนี้เรื่อยๆ แต่เรายังไม่ยอมแก้ออกและยังใช้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม 

“เอามาเป็นเกราะกำบังผลประโยชน์ของตัวเอง เอามาเป็นเกราะกำบังเป็นข้ออ้าง ทั้งที่จริงๆ อาจจะมีสิ่งที่ไม่ใช่อย่างนั้น อาจจะมีร้อยแปดพันเก้า แต่ทุกคนไม่มีใครกล้าพูดออกมา แค่พูดออกมาว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่แก้ม. 112 ซึ่งจริงๆแล้วอย่างที่บอกถ้าเกิดคุณจะธำรงรักษาอะไรไว้บางสิ่งบางอย่าง บางทีก็จะต้องมีพลวัต มันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่มันไม่เปลี่ยนแปลงแล้วเราจะทำยังไงให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนดีขึ้นกับคนรุ่นใหม่ดีขึ้น รักษาความรู้สึกแห่งยุคสมัยต่อไป มันก็คือการปรับเปลี่ยน” 

โหวตพิธาเป็นนายกฯ คนละเรื่องกับการผ่านร่างแก้ไข ม. 112

ประเด็นเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการลดโทษและการยกเว้นโทษ หากมีโอกาสจะผลักดันร่างที่มีเนื้อหาเดิมหรือไม่ พิธาตอบว่า จะทำ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สัญญากับประชาชนไว้ก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งยังทำเช่นเดิม แต่สิ่งที่ไม่ต้องกังวลคือ สิ่งที่เขาเสนอเข้าไปเป็นแค่เสียงหนึ่ง ความคิดหนึ่งในสภาและสภาเป็นพื้นที่ในการหาข้อยุติในความขัดแย้ง ทุกคนมีสิทธิอภิปราย มีข้อบังคับและถ่ายทอดสดต่อสาธารณะ ทุกคำพูดต้องละเมียดและมีวุฒิภาวะ ขณะเดียวกันกลุ่มที่บอกว่า อยากแก้โทษให้หนักขึ้นก็ต้องมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ขั้นตอนการทำร่างกฎหมายจะต้องผ่านคณะกรรมาธิการ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและต้องผ่านวุฒิสภา ดังนั้นการโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความว่า จะผ่านร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปด้วย

“ผมก็ยังยืนยันอยู่อย่างเดิมว่า แน่นอนว่าทั้งพระราชฐานะและพระราชอำนาจเราต้องคิดถึงตรงนี้อย่างปราณีัตและก็ทำให้พระองค์ท่านและสถาบันสามารถอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปในอนาคต ยี่สิบปีที่ผ่านมาลองคิดดูดีๆ ลองถามดูดีๆว่า ยี่สิบปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นแล้วยี่สิบปีต่อจากนี้ ถ้าเรายังใช้วิธีเดิมแบบเดิมจะเป็นผลดีหรือเป็นผลเสียกันแน่เพราะว่า คิดถึงเยาวชน คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่อาจจะมีความรู้สึกเหมือนพวกเราที่ผ่านมาก่อนแล้วอีกยี่สิบปีข้างหน้าเรายังจะใช้วิธีแบบเดิมนี้จริงหรือเปล่า แล้วมันเป็นผลดีต่อสังคมจริงหรือเปล่า แล้วมันเป็นผลดีต่อสถาบันต่างๆในประเทศไทยจริงหรือเปล่า การที่คุณเป็นอนุรักษ์นิยม คุณต้องการจะอนุรักษ์อะไรบางสิ่งบางอย่าง คุณต้องการที่จะให้ธำรงอยู่แบบเดิมโดยที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรไปกับยุคสมัยหรือต้องการให้เดินหน้าไปพร้อมกับสังคม เดินหน้าเข้าสู่ศตวรรษ 21 ผมคิดว่า การที่เราจะ conserve บางอย่าง conservation ในมุมมองของผมคือการที่ต้องมีพลวัตเท่านั้นเอง”

“สำหรับเพื่อนส.ส.และก็พี่ๆวุฒิสภาทุกท่าน หลังจากที่มีโอกาสพูดคุย ผมคิดว่า สุดท้ายเราไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่หรอก ผมก็คิดว่า เราก็มีความหวังดีกับประเทศชาติบ้านเมืองอยากจะให้ไม่มีการคอร์รัปชั่น อยากเห็นว่าไม่ให้มีการทำรัฐประหารต่อไป ผมมั่นใจว่า จะพยายามทำในสิ่งที่ท่านหวังให้เกิดขึ้นให้ได้ เรียกศรัทธากลับมาสู่ระบบการเมือง เป็นนักการเมืองที่เป็นต้นแบบให้แก่พี่น้องประชาชนได้และพยายามแก้ไขปัญหาผลักดันในสิ่งที่พวกท่านพยายามจะทำมา แต่ผมเข้าใจว่า ท่านอาจจะยังมีข้อกังวลใจหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมก้ได้มีโอกาสในการอธิบายแล้วว่า แบ่งแยกดินแดนไม่มี รัฐเดียว การต่างประเทศเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้งและสมดุล เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือเป้าหมายตรงกัน ประเมินวิธีการอาจจะต่างกันแต่เพื่อเป้าหมายเดียวกันเพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างและหวังว่า ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วท่านยังมีวาระเหลืออีกหนึ่งปี ผมพร้อมที่จะเอานวัตกรรมที่ผมเข้าใจ ข้อมูลที่ผมเข้าใจ กำลังวังชาที่ผมมี ทำงานร่วมกับประสบการณ์ของท่านที่ท่านมีผ่านกลไกรัฐสภาที่ยังไงก็ต้องบังคับให้เราทำงานร่วมกันอยู่แล้ว และใช้หนึ่งปีนั้นเป็นหนึ่งปีที่เปลี่ยนผ่านยุคสมัยใหม่ให้กับประชาชน เป็นยุคสมัยใหม่ที่ประชาชนเป็นที่ตั้งให้เขามีความหวัง แล้วเอากำลังวังชาที่เรามี เอาเวลาที่เรามาทะเลาะกันแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชน”
 

ขอขอบคุณรายการเรื่องเล่าเช้านี้และฟังทั้งหมดที่นี่