#RespectMyVote66: นายกฯ ต้องมาจากพรรคเสียงข้างมาก “ส.ส.-ส.ว.” ต้องลงคะแนนรักษาหลักการประชาธิปไตย

6 กรกฎาคม 2566 เครือข่าย Respect My Vote จัดงานเสวนา “เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน” เวลา 13.15-14.35 น. ณ ห้องประชุมริมน้ำ (ห้อง 107) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพผลการเลือกตั้ง ด้วยการสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏร
งานเสวนาครั้งนี้มี อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มณเฑียร บุญตัน ส.ว. และปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมวงเสวนา โดยมี ณัชปกร นามเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ
“งดออกเสียงไม่เท่ากับปิดสวิสช์ตัวเอง” ส.ว. ต้องออกเสียงเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากในสภา
หลังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม คำกล่าวอ้างหลักของ ส.ว. บางกลุ่มในช่วงก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี คือ การงดออกเสียงถือว่าเป็นการ "ปิดสวิชต์ตัวเอง" ซึ่งมณเฑียรอธิบายว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากการปิดสวิชต์ตัวเองที่ถูกต้องจริงๆ คือ การลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้
มณเฑียรอธิบายถึงเหตุผลที่แสดงความเห็นเช่นนั้นว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติที่สมการในการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงแค่ 500 เสียงจากจำนวนส.ส. เท่านั้น การงดออกเสียงอาจจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดให้ การเลือกนายกรัฐมนตรีถูกระบุให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งรัฐสภา คือ ต้องใช้เสียงถึง 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเสียงทั้งหมดของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน การโหวต งดออกเสียง ก็เปรียบเสมือนการไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่า การปิดสวิชต์ ส.ว. ที่แท้จริงจึง คือ การลงคะแนนเสียงตามพรรคการเมืองที่รวมคะแนนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่นำดุลยพินิจส่วนตัวของ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามถึงอดีต ส.ว. ทั้ง 56 คนที่เคยลงคะแนนเสียง “ปิดสวิซต์ตัวเอง” ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ว่ายังมีจำนวนคงเดิมอยู่หรือไม่ มณเฑียรระบุว่า หลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ส.ว. ก็ไม่ได้มีการประชุมอย่างเป็นกิจลักษณะในหัวข้อการเลือกนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งมณเฑียรระบุว่า ส.ว. ไม่ได้มีการรวมเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่นเหมือนระบบพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นการรวมกลุ่มในลักษณะตามประเด็นที่สนใจร่วมกัน ซึ่ง ส.ว. แต่ละคนจะมีการพบปะพูดคุยกันในหัวข้อนี้มากน้อยแค่ไหนในสถานที่อื่นก็ไม่อาจทราบได้
ต่อมา มณเฑียรระบุว่า ยังเชื่อว่ามี ส.ว. จำนวนมากที่ไม่มีใครมาสั่งได้ แต่เชื่อว่าความหวาดกลัวอย่างบริสุทธิ์ใจของ ส.ว. บางส่วนนั้นมีอยู่จริง คือ ส.ว. หลายคนเติบโตในยุคที่ประเทศไทยผ่านความขัดแย้งใหญ่มาก่อน ซึ่งเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การชักจูงสังคม และเป็นยุคที่เคยมีฐานทัพต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย จึงทำให้ภาพจำเหล่านั้นทำให้ ส.ว. หลายคนกลัวว่าหากพรรคการเมืองบางพรรคได้เป็นรัฐบาล ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก มณเฑียรจึงกล่าวย้ำว่า ให้ลงคะแนนแก่พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก่อน โดยไม่ต้องเอาความกลัวหรือความชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. คือตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องห้ามใช้ดุลยพินิจแทนเสียงประชาชน”
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง พรรคการเมืองในประเทศไทยถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายเกือบชัดเจน อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์การพยายามกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง 2566 ก็เริ่มมี อดีต ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้ง 2562 ออกมาส่งเสียงเช่นกัน
อลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งรัฐสภา ทำให้หลังการเลือกตั้งการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจึงควรรวดเร็วและราบรื่น ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤติทางสังคม ดังนั้นการเคารพต่อผลการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญอย่างมากในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงได้
อลงกรณ์กล่าวต่อว่า ข้อสำคัญที่ ส.ว. และ ส.ส. บางคนหลงลืมไป คือ รัฐธรรมนูญระบุให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตัวแทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งยังมีสิ่งที่อยู่เหนือกว่า "ตัวแทน" ก็คือประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย "ตัวจริง" การฟังเสียงของประชาชน คือ การฟังเสียงจากผลการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ควรมีใครสามารถเข้าไปขวางเสียงนี้ได้ทั้งสิ้น เขากล่าวย้ำว่าการแข่งขันเรื่องนโยบายจบไปพร้อมกับการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นในวันเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรต้องใช้ดุลพินิจเอาเรื่องนโยบายมาพิจารณาอีกต่อไป เพราะประชาชนเป็นคนตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่แรก 
ต่อมา ประชาธิปไตยควรให้สิทธิเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันนี้แปดพรรคร่วมรัฐบาลก็ถือว่าสามารถรวมเสียงมากที่สุด มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เสียงปริ่มน้ำ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลในฐานะแคนดิเดตร่วมของทั้งแปดพรรคก็ควรที่จะได้มีสิทธิในการเป็นรัฐบาล มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตั้งแต่แรก
อลงกรณ์ยังบอกให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หลายคนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์การเลือกตั้งปี 2539 ที่มีการแข่งขันกันระหว่างพรรค "ความหวังใหม่" ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำ และพรรค "ประชาธิปัตย์" ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นผู้นำ โดยครั้งพรรคความหวังใหม่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. อยู่ที่ 125 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. อยู่ที่ 123 ที่นั่ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศยอมแพ้การแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคืนดังกล่าวทันที ซึ่งอลงกรณ์มองว่าเป็นการแสดง “สปิริตประชาธิปไตย” แบบที่การเลือกตั้งในปี 2566 ยังขาดหายไป
ขณะเดียวกันเมื่อถูกถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงคะแนนเสียงอย่างไรในการเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 อลงกรณ์ตอบเพียงว่า ต้องรอให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่และมีการประชุมพรรคเพื่อหามติร่วมกันให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากตัวเองไม่สามารถตอบแทนทุกคนในพรรคได้ แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้นอยากลงคะแนนเสียงให้แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลเพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย และรอพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นที่นิยมใหม่ในการเลือกตั้งอีกสี่ปีข้างหน้า
“ย้อนกลับไปที่ กกต. และ ส.ว.” สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องทำก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี
ด้านปริญญา เทวานฤมิตกุล ระบุว่า ในระบบการเมืองปกติพรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียงเช่นนี้คงไม่มีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะดูเข้มแข็งเกินไปจนฝ่ายค้านดูอ่อนแอเสียด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะมรดกจากคณะรัฐประหารอย่าง ส.ว. ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่ง ส.ว. มักอ้างว่าพวกเขาก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกับ ส.ส. ผ่านการลงประชามติคำถามพ่วงในปี 2559
จุดนี้ถูกปริญญาตั้งคำถามว่า คำถามพ่วงที่ถูกถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” นั้นไม่มีความตรงไปตรงมา เนื่องจากจงใจออกแบบคำถามให้ประชาชนสับสน ขณะเดียวกัน หากประชามติครั้งนั้นไม่ผ่านก็ไม่มีทางให้ถอยกลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับเดิม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ส.ว. ก็ถูกรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 กำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งแม้ว่า ส.ว. จะไม่ใช่ผู้แทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงเพราะไม่ได้มาจากประชาชน แต่ยังสามารถฟังเสียงของประชาชนได้เช่นเดียวกันหากยอมทำตามผลการเลือกตั้ง ด้วยการลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ตามระบบการเมืองที่เกิดขึ้น ปริญญามองว่า ส.ว. อาจจะช่วยเลือกนายกรัฐมนตรีได้หาก ส.ส. ไม่สามารถรวมเสียงกันได้อย่างชัดเจน แต่ในกรณีที่ ส.ส. รวมเสียงกันได้เข้มแข็งเช่นปัจจุบันนี้ ปริญญาคิดว่า ส.ว. จะต้องอ้างการขาดคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน ซึ่งปริญญาระบุว่าเรื่องดังกล่าวต้องพูดคุยกันอยู่บนข้อเท็จจริง เนื่องจากคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด และการแถลงข่าวของ กกต. ว่า พิธาอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) มาตรา 151 นั้น ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560  (พ.ร.ป.กกต.) มาตรา 43 ซึ่งระบุให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง และสามารถเข้ามาแสดงพยานหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดตามที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรทำให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี
การที่ กกต. ไม่ดำเนินการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ปริญญามองว่าการแถลงของ กกต. เช่นนี้ทำให้พิธามีมลทินโดยที่ไม่ได้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นตามกฎหมาย เสมือนเป็นการเปิดเป็นโอกาสให้ ส.ว. สามารถนำมาใช้กล่าวอ้างในการไม่ลงคะแนนเสียงให้ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันการได้มาซึ่งคะแนนเสียง 65 เสียงจาก ส.ว. เพื่อเลือกแคนดิเดตจากพรรคเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากไม่สามารถทำได้ปริญญามองว่าจะทำให้เกิดข้อครหาเรื่อง “ใบสั่ง ส.ว.” ที่จะไม่เป็นผลดี ดังนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีฐานะเป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว. จึงควรออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ให้ “ฟรีโหวต” นายกรัฐมนตรี สร้างความชอบธรรมและลบล้างข้อครหาต่อตัวเองเสีย วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีกับทุกฝ่ายที่สุด  
ยืนยันหลักการ ประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ปริญญาระบุว่า หลักการเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของการเลือกแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องการรักษาหลักการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยย้ำว่าหากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ผ่านจนนำไปสู่รอบที่สอง แล้วพรรคอื่นๆ เช่น ประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย ลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่ ก็จะทำให้หลักการเสียหายไปด้วยไม่ต่างกัน
ดังนั้นสำหรับปริญญาแล้ว หาก ส.ว. ไม่ยินยอมที่จะทำตามหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากในวันเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เหลือเพียง ส.ส. เท่านั้นที่จะต้องปกป้องกันและกัน รวมไปถึงปกป้องหลักการสำคัญที่จะดึงประเทศไทยให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วย หน้าที่หลักของพรรคก้าวไกลตอนนี้จึงควรจะสื่อสารไปให้ถึง ส.ส. พรรคอื่นๆ และ ส.ว. ด้วยว่า นี่ไม่ใช่แค่การลงคะแนนเสียงให้แก่พิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่คือการลงคะแนนเสียงให้แก่หลักการประชาธิปไตยและเสียงของประชาชน
หลักการเสียงข้างมากถูกกล่าวย้ำในเวทีวันนี้ว่า เป็นหลักการดั้งเดิมพื้นฐานตั้งแต่ก่อนที่ ส.ว. จะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การเห็นต่างกันของประชาชนจะจบลงภายใต้กติกาในระบอบประชาธิปไตย พรรคอันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่เสียงข้างน้อยก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก เป็นเช่นนี้ปริญญาจึงจะมองว่าประเทศและสังคมถึงจะเดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตามมณเฑียรกล่าวเตือนว่า อย่าคาดหวังมากนักกับการได้รับคะแนนสนับสนุนจาก ส.ว. เนื่องจากไม่มีหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกันได้ ทำได้เพียงค่อยๆ คลายความหวาดระแวงต่อกันเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่น การไม่บรรจุเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งแปด เป็นต้น การปรับท่าทีบางอย่างลงอาจจะเหมาะสมเพื่อไม่ให้เป้าหมายใหญ่เสีย สุดท้ายมณเฑียรย้ำว่า ตราบใดที่ยังมีเสียงข้างมากที่มาจากมติของประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร มณเฑียรก็จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้อย่างแน่นอน
อลงกรณ์กล่าวเพิ่มเมื่อถูกถามถึงวิธีการเปลี่ยนใจเพื่อนร่วมพรรคประชาธิปัตย์ไปจนถึงภูมิใจไทยว่า มีข้อครหาว่าหากว่าที่พรรคฝ่ายค้านลงคะแนนเสียงรับรองว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมาก ในอนาคตจะดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ ซึ่งอลงกรณ์เน้นย้ำว่าแนวคิดนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรขณะที่การลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐสภา ถือว่าเป็นคนละสภากัน ดังนั้นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องช่วยกันช่วยให้เสียงจากประชาชนบรรลุเป้าหมายจนสำเร็จ
ทั้งสามผู้ร่วมวงเสวนาพูดตรงกันว่า จำนวนเสียง 312 เสียงนั้นมากเพียงพอแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นหน้าที่ของทั้งรัฐสภาที่จะรักษาหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากเอาไว้ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ขณะเดียวกันทั้งสามก็มองว่าหน้าที่ของพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ก็ต้องพยายามสื่อสารถึง ส.ส. และ ส.ว. ให้มากขึ้นเช่นกัน
สุดท้ายปริญญาระบุว่า มีความกังวลใจเหมือนกันว่าจะมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแข่งหรือไม่ในการลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง การลงคะแนนเสียงรอบแรกไม่ผ่านอาจจะทำให้เกิด “ฟรีโหวต” ขึ้นได้ การเสนอชื่อแข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพื่อลุ้นว่า ส.ว. จะลงคะแนนเสียงให้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการ “หาเสียงครั้งที่สอง” ของพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้งจึงต้องเข้มข้นขึ้น
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป