เลือกตั้ง66 : สามทางออกการเมืองไทย เพื่อให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมากจากประชาชน!

หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเจอกับสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองเนื่องจากกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังระบุให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. มีอำนาจลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส ได้ จึงทำให้ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องพยายามรวบรวมเสียงในรัฐสภาให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จากปกติที่ควรต้องรวมเสียงเพียง 251 เสียงเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ แม้พรรคการเมืองใดก็ตามจะสามารถชนะการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่การจับขั้วทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และการฝ่าด่าน ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคณะรัฐประหาร คสช. จึงเป็นไปได้ยากกว่าสภาวะการเมืองปกติ และมีความเสี่ยงที่เจตจำนงของประชาชนจะถูกเมินเฉย
ดังนั้นเพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย ประเทศไทย ณ ขณะนี้จึงเหลือทางออกเพียงสามทางเท่านั้นที่จะทำให้เสียงของประชาชนหลังการเลือกตั้งมีความหมาย โดยตั้งแต่วันนี้จนถึงวันลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรียังมีวิธีรักษาหลักการได้ดังต่อไปนี้
ส.ว. ลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ได้เสียงข้างมาก
แม้ว่า ส.ว. จะมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารและมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีจากการทำประชามติบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่น่าครหา แต่ในระยะเวลาที่ ส.ว. ยังมีสิทธิตามบทเฉพาะกาลเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 11 พฤษภาคม 2567 พวกเขายังสามารถที่จะรักษาหลักการประชาธิปไตยเอาไว้ได้ผ่านการทำตามมติของประชาชนด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมาก
การยกมือลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเท่ากับการ “ปิดสวิชต์ตัวเอง” เพื่อเคารพเสียงของประชาชน อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว.ทั้งหมดก็ลงคะแนนเสียงให้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 249 เสียง (ยกเว้นประธานวุฒิสภาคนเดียวที่งดออกเสียง) ซึ่งการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ถูกอ้างว่าเป็นการลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองที่รวบเสียงได้มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นในปี 2566 ส.ว. ก็ควรที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่ชนะและรวบรวมเสียงได้เป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน เพื่อเคารพเสียงของประชาชนและรักษาหลักการประชาธิปไตยในประเทศไทยเอาไว้ให้ได้ก่อนตัวเองจะหมดวาระไป
อย่างไรก็ตาม การงดออกเสียงของ ส.ว. ไม่เท่ากับเป็นการปิดสวิชต์ตัวเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หรือ 500 เสียง ไม่ใช่การนับเฉพาะจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาเข้าร่วมการประชุม ดังนั้นการงดออกเสียงของ ส.ว. จึงเป็นเพียงข้ออ้างทางการเมือง ที่ยิ่งส่งผลเสียให้แก่พรรคที่ได้เสียงข้างมากไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ง่าย
ส.ว. ต้องลาออกก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) (ค) ยังกำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายชื่อบุคคลสำรองอีกสองบัญชี บัญชีละ 50 คน หรือเรียกว่า “บัญชีสำรอง ส.ว.” บัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” ตามมาตรา 269 (1) (ก) และอีกบัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” ตามมาตรา 269 (1) (ข) ซึ่งบัญชีสำรองทั้งสองบัญชีนั้น คสช. เป็นผู้คัดเลือก
“บัญชีสำรอง ส.ว.” มีความสำคัญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) กำหนดไว้ว่า ถ้ามีตำแหน่ง ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งและทำหน้าที่อยู่ หรือ “ส.ว. ตัวจริง” ว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรอง “ส.ว. ตัวสำรอง” ขึ้นทำหน้าที่แทนโดยให้ “ส.ว. ตัวสำรอง” ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าเท่าวาระของ ส.ว. ที่เหลืออยู่ โดยให้เลื่อนรายชื่อจากบัญชีสำรองที่จัดทำไว้สำหรับ ส.ว. แต่ละประเภท ซึ่งจากทั้งสองบัญชีทำให้เห็นว่ามี “ส.ว. ตัวสำรอง” รอเป็น ส.ว. อยู่กว่า 100 คน
อย่างไรก็ตาม หากในช่วงระยะเวลาตั้งแต่พ้นการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมาจนกว่าจะถึงวันเปิดสมัยประชุมสภาและการประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี หากมี ส.ว. ลาออกก็จะทำให้การเลื่อนรายชื่อ ส.ว. สำรองเหล่านั้นไม่สามารถเลื่อนได้ทันวันเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (5) กำหนดไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา แทนตำแหน่งที่ว่างตาม (4) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่” จึงทำให้จำนวนที่นั่งในรัฐสภาสำหรับการคำนวณหาเสียงให้เกินกึ่งหนึ่งสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีลดลง
เช่น หาก ส.ว พร้อมใจกันลาออกก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี 100 คน ก็จะทำให้เก้าอี้ของ ส.ว. เหลือเพียง 150 เก้าอี้ และทำให้จำนวนที่นั่งในรัฐสภาก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรีจาก 750 ที่นั่ง เหลือเพียง 650 ที่นั่ง ส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 326 เสียง แทนที่จะเป็น 376 เสียงเท่านั้น หรือในกรณีที่ ส.ว. พร้อมใจกันลาออกทั้งหมด จะทำให้ต้องใช้เสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพียง 251 เสียงเท่านั้น
ดังนั้น การลาออกของ ส.ว. จึงเสมือนการปิดสวิชต์ตัวเองเพื่อให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามขั้นตอนกติกาที่มีความชอบธรรม และเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ ส.ว. ยังสามารถกระทำได้อยู่หากต้องการรักษาหลักการประชาธิปไตยในประเทศไทยต่อไป
ส.ส. ต้องรวมพลังเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากได้
แม้ว่าการเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง ส.ส. จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคของตัวเองหรือพรรคที่จับขั้วด้วยกันเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่านั่นคือสถานการณ์การเมืองแบบปกติที่ไม่ได้มีกลไกของคณะรัฐประหาร อย่าง ส.ว. เข้ามามีส่วนร่วมในสมการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย 
ในสภาวะไม่ปกติตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นนี้ จึงทำให้ ส.ส. แม้จะยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกันในทางการเมือง หรือไม่ได้มีโอกาสในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่ชนะได้เป็นอันดับหนึ่ง ก็ควรที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งและไม่ยึดโยงกับเสียงของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของประเทศร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากประชาชนโดยตรง
วิธีนี้ยืนอยู่บนแนวคิดที่ให้ “ผู้แทนของประชาชน” ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ร่วมมือกันปิดสวิชต์ ส.ว. ที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารที่เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา อดีตพรรครัฐบาลที่อาจจะต้องเปลี่ยนฝั่งมาเป็นฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยก็เคยสนับสนุนการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” มาแล้วอย่างน้อยสามครั้งผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นแกนนำในการเสนอตัดมาตรา 272 ทั้งมาตรา ซึ่ง ส.ส. จากทุกขั้วก็ให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้นในเดือนมิถุนายน 2564 โดยได้เสียง ส.ส. รวมกันเกือบทั้งสภา 440 เสียง และเมื่อภาคประชาชนร่วมกันเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนกันยายน 2565 ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยก็ให้ความเห็นชอบด้วยจนเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. แต่ไม่ได้รับเสียง ส.ว. เพียงพอจนต้องตกไป
ขณะเดียวกัน หาก ส.ส. ลงคะแนนให้เสียงข้างมากก็ไม่ได้หมายถึงการต้องผูกมัดว่าจะสนับสนุนร่างกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นคือการเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารที่จะเข้าไปบริหารกลไกของรัฐบาล แต่การจะผ่านกฎหมายใดก็ตาม เช่น ร่างแก้ไขมาตรา 112 นั้นเป็นอำนาจในทางนิติบัญญัติ หรือก็คืออำนาจในการลงมติของสมาชิกสภา แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคการเมืองที่ตัวเองไม่เห็นด้วย แต่หากร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองนั้นเสนอไม่ได้รับความเห็นชอบถึงกึ่งหนึ่งจากสภา ก็จะไม่สามารถผ่านออกมาได้ 
ดังนั้น หาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลือกที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญเพื่อไม่ให้การเมืองไทยเข้าสู่สภาวะไร้ทางออก หรือ “เดดล็อก” ทางการเมือง เป็นการรักษาหลักการประชาธิปไตยในการเมืองไทยและให้ประเทศไทยเดินหน้าไปตามครรลองที่ชอบธรรม