เหตุผลที่ต้องโหวตประยุทธ์นายก? ย้อนดูคำอภิปราย 4 ส.ว. ก่อนโหวตนายกเมื่อปี 62


ย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 การให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการลงมติภายใต้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่มีสาระสำคัญว่า ในช่วงห้าปีแรกที่มีรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 การให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นการให้ความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ที่ประชาชนเป็นคนเลือก

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ว. 243 คน ที่พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช.เป็นคนแต่งตั้งรวมทั้งผู้นำเหล่าทัพ ผู้นำตำรวจ และปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นส.ว.โดยตำแหน่งหกคน ได้ลงคะแนนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างพร้อมเพรียง มีเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาซึ่งเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งและทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสลับกับประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ที่ลงคะแนนงดออกเสียงตามธรรมเนียม

ก่อนการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนั้นมีส.ว.อย่างน้อยสี่คนที่แสดงความจำนงขอเป็นผู้อภิปรายคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ สองคนที่ถูกเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา ได้แก่พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐและธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งส.ว.ทั้งสี่คนก็ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ โดยให้เหตุผลด้านความซื่อสัตย์สุจริต ประสบการณ์และผลงานตลอดระยะเวลาห้าปีที่บริหารประเทศในฐานะหัวหน้าคสช. รวมทั้งยอมรับความจำเป็นและความเสียสละของพล.อ.ประยุทธ์ที่ยอมเสี่ยงทำรัฐประหารเพื่อหาทางออกให้ประเทศที่สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในทางตัน ขณะเดียวกันก็มี ส.ว.ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย


ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์: เลือกธนาธรไม่ได้ ติดใจข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีข้อความ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หลังคำว่า “ประชาธิปไตย”


“ถ้าพูดถึงท่านหัวหน้าพรรค ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา ท่านเข้ามาในพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ต้องไปดูว่าอนาคตใหม่เหมาะสมไหมที่จะมีผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรี แต่น่าตกใจครับท่านประธาน ผมได้ไปดูข้อบังคับพรรค ทุกพรรคการเมือง ในข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีข้อความในเรื่อง เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ซักคำเดียว แต่พรรคอื่นมีหมดครับ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ทุกพรรค มีข้อความเหล่านี้ครับท่านประธาน ถามว่าทำไมผมให้ความสำคัญตรงนี้ ในเมื่อถ้าไม่มี ผมไม่ไว้ใจครับว่าคนจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในข้อบังคับพรรคของท่านซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ไม่มีเรื่องเหล่านี้ ผมก็เลยเลือกไม่ได้ มันถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมเลือกท่านไม่ได้ ท่านอาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ ท่านอาจจะมีความคิดใหม่ๆ ดูแล้วเหมาะสมกับการได้คนรุ่นใหม่บริหารประเทศ แต่มาติดด้วยข้อบังคับพรรค อยากให้ท่านไปปรับปรุง ไปแก้ไข และข้อบังคับนี้ขัดกับพรบพรรคการเมืองมาตรา 14 ด้วย”  

คือบางช่วงบางตอนของคำอภิปรายโดยส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์ ที่ชี้แจงว่าเหตุใดเขาจึงไม่สนับสนุนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เจ็ดพรรคร่วมฝ่ายค้าน เคยสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าเสรีมีความเคลือบแคลงต่อจุดยืนและท่าทีที่อดีตพรรคอนาคตใหม่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

นอกจากประเด็นข้างต้น ประสบการณ์ในการบริหารประเทศและการแก้ปัญหาต่างๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เสรียกขึ้นมาประกอบการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ โดยเขาระบุว่า ธนาธรเพิ่งเข้ามาทำงานการเมืองซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการแก้ปัญหาประมง การบิน การบุกรุกป่า รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เขาก็เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์มีความเหมาะสมมากกว่าที่จะดำรงตำแหน่งนายก รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ถูกกังขาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ธนาธรถูกกล่าวหาว่าทำผิดต่อรัฐธรรมนูญจนถูกกกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและศาลก็ได้สั่งให้ธนาธรระงับการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ธนาธรจึงมีข้อด่างพร้อยมากกว่า


ส.ว.วันชัย สอนศิริ: ประยุทธ์มาจากรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่กำหนดและได้รับเลือกจากประชาชน


“…เรื่องของคุณสมบัติคนเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นเป็นสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องเลือก มีอยู่สองคนที่จะต้องเลือก ฟังมาตั้งแต่เช้า ผมพยายามอยากจะฟัง นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคนสนับสนุนด้วยเหตุผลหลักการ ทั้งมีคนกล่าวหาหลักการเหตุผลเยอะแยะ แต่อีกคนหนึ่ง ผมพยายามนั่งฟังว่าคุณงามความดีที่จะมีคนสนับสนุนเพื่อประกอบการตัดสินใจ ท่านประธานก็ฟังเหมือนผม ยังไม่ได้ยินเลย”

“ท่านประธานที่เคารพ ลองเอาสองมาเปรียบเทียบกันเพื่อจะให้ดูคุณสมบัติในการประกอบการตัดสินใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีกคนหนึ่ง ผมไม่เอ่ยชื่อครับเดี๋ยวจะะถูกประท้วง ไม่ว่าจะวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์  คุณธรรมจริยธรรม ต่างกัน แทบจะไม่ต้องอภิปรายในการตัดสินใจเลือก”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากประชาชนมากที่สุดครับ เมื่อรวมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุน ผมลองนั่งดีดตัวเลขดูแล้ว เกือบ 15 ล้านเสียงครับท่านประธาน มากกว่าอีกคนหนึ่งที่เสนอด้วย เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ครับที่เราจะไม่เลือกคนที่มาจากประชาชน”

“ประการที่สองในการเลือกวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เอาปืน ไม่ได้เอาทหารมาจี้หัวให้เราเลือก เหมือนการรัฐประหารครับท่านประธาน พล.อ.ประยุทธ์มาจากประชาชน และตัวแทนของประชาชนกำลังจะเลือก” 

“ประการที่สาม ท่านประธานก็เป็นข้าราชการ และหลายท่านในที่นี้ก็เป็นข้าราชการ คนที่มีคดีติดตัวจะเลื่อนตำแหน่ง ขยับยศ ขยับอะไรก็ยังยากลำบาก บางทีต้องให้ออกไว้ก่อน  ปรากฎว่าท่านพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีคดีค้างอยู่ในโรงในศาล แต่อีกคนหนึ่งมีคดีค้างอยู่ในโรงในศาล ครับท่านประธาน”

“ประการที่สี่ พล.อ.ประยุทธ์มาจากรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่กำหนด ไม่ได้เป็นคนกำหนดเองว่าตัวเองจะต้องมาอย่างนี้”

“เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบบุคคลทั้งสองกล่าวได้เลยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์เหนือกว่า สร้างบ้าน แปลงเมือง มามากกว่า ไม่มีประวัติที่ทำให้ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยมีคดีเกี่ยวกับการซุกหุ้นครับท่านประธาน”

ส.ว.คํานูณ สิทธิสมาน: พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร เพราะขณะนั้นไม่มีทางออกอื่น แม้เสี่ยงเป็น “กบฎ”


“…ในส่วนของคุณสมบัติที่อภิปรายกันมา ประการหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกอภิปรายมากที่สุด อาจจะไปอยู่ในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม อาจจะไปอยู่ในเรื่องการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้าเราจะพูดถึงแต่การทำรัฐประหาร ไม่มีใครเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่เราก็ต้องพูดถึงเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารด้วย ที่ทำให้มีความจำเป็น อย่างน้อยก็กับคณะทหารที่ทำการรัฐประหารนั้น”

“ผมเคยจดไว้เป็นสถิติว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีการชุมนุมชนิดปักหลักพักค้างในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมระยะเวลาแปดปีเศษ เรามีการชุมนุมชนิดปักหลักพักค้างของฝ่ายต่างๆ ของสีต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เป็นการชุมนุมปักหลักพักค้างที่ปิดถนน และมีความรุนแรงเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 701 วัน ทอนออกมาเป็นปีก็เท่ากับสองปีเศษๆ สรุปว่าภายในระยะเวลาแปดปีเศษ เรามีการชุมนุมปักหลักพักค้างของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งสิ้นสองปี คิดเป็นหนึ่งในสี่ของระยะเวลาทั้งหมด”

“นอกจากนั้นในการชุมนุมปักหลักพักค้าง ของกลุ่มที่มีความคิดต่างๆ รวมกันทุกฝ่ายก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น  ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 131 คน มีผู้บาดเจ็บทั้งเล็กน้อยและสาหัส 3,388 คน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวมทุกอย่างประมาณ สองล้านล้านบาท”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผมถามว่า ณ วันที่ท่านตัดสินใจทำรัฐประหารท่านเสี่ยงไหมครับ ถ้าไม่สำเร็จเป็นกบฎครับ…”

“ท่านประธานอยู่ในเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ก่อนการรรัฐประหาร สมาชิกหลายท่าน ณ ที่นี้อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ก่อนการรัฐประหาร ถามจริงๆ เถอะครับว่าในขณะนั้นบ้านเมืองมีทางออกหรือไม่อย่างไร ท่านประธานครับ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีเพราะถูกยุบ นอกจากนั้นรัฐบาล มีเพียงรัฐบาลรักษาการ บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ มิหนำซ้า นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลชี้ นอกจากนั้น เกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้นมา วุฒิสภาที่ยังคงเหลืออยู่นั้น ประธานวุฒิสภาพ้นจากตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภาไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาได้ และ สมมติว่ารองประธานวุฒิสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาได้ ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถให้วุฒิสภาเป็นองค์แทนรัฐสภาได้หรือไม่ ในขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ถึงทางตัน ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้น”

“…ถ้าทุกท่านจำได้ ในสองวันแรกวุฒิสภายังถูกคงไว้เพราะเข้าใจว่าถ้าวุฒิสภายังมีอยู่ น่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องล้มล้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ในที่สุดวุฒิสภาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยผลทางกฎหมายหลายประการด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงจะต้องพูดทั้งสองด้าน ด้านของการรัฐประหารแน่นอนเกิดขึ้น แต่สาเหตุก่อนการรัฐประหารทั้งระยะยาว ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าการชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปลายปี 2556 จนถึงการยุบสภา และการชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้ง ทุกฝ่ายได้ประจักษ์ในเหตุการณ์นั้น…”

นอกจากประเด็นข้างต้น คำนูณยังอภิปรายถึงที่มาที่มีการกำหนดคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายก เพื่อให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้ตั้งแต่ต้นน้ำ และการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คำนูณระบุว่าเขาในฐานะส.ว.ก็จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติว่าบุคคลใดจะเหมาะสมต่อการปฏิบัติตามเจตนารมณ์เฉพาะของรัฐธรรมนูญด้วย

ส.ว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์: พล.อ.ประยุทธ์คือคำตอบสุดท้ายเพื่อการปฏิรูปประเทศที่ต่อเนื่อง 


“…วันที่ผมไปรายงานตัวที่วุฒิสภา ผมให้สัมภาษณ์ด้วยความชัดเจนว่าจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเลือกโดยอาศัยพื้นฐานที่สำคัญสองประการด้วยกัน เหตุผลประการที่หนึ่ง ที่อาศัยเป็นพื้นฐานคือการดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2560) ทั้งฉบับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการคนประเภทใดที่จะไปนำพาและผลักดันให้หลายเรื่องที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าต่อไปได้ ประการที่สองผมดูจากผลงานที่ผ่านมาของบุคคลที่คาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมดูสองประการนี้เป็นหลัก”

“มีสามเหตุผลสั้นๆที่ผมจะขออธิบายว่าเหตุใดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”

“เหตุผลประการที่หนึ่ง ถ้าเราดูสาระในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอยู่ในมาตราที่ 257 เป็นต้นไป ในสาระของการปฏิรูปประเทศ ต้องการบุคคลที่เข้าใจและดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่ฝันที่ตั้งใจไว้ได้ นี่เป็นสาระประการที่หนึ่งที่ท่านพล.อ.ประยุทธ์ได้ริเริ่มขึ้นมาและน่าที่จะสามารถนำนาวาลำนี้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทำให้การปฏิรูปประเทศตรงไปตามเจตนารมณ์ได้”    

“เหตุผลประการที่สอง ในการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 257 ต้องการให้บรรลุเป้าหมายในสามอนุด้วยกัน ในอนุที่หนึ่งพูดชัดเจนว่าประเทศชาติจะต้องมีความสงบเรียบร้อย มีความปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันที่สองต้องการสังคมที่มีความสงบสุขเป็นธรรมและมีโอกาสอันทัดเทียมเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และอนุสุดท้ายคือประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“สามอนุในหลักของการปฏิรูปประเทศในมาตรา 257 ต้องการคนอย่างท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน การปฏิรูปเหล่านี้ซึ่งสอดคล้องกับข้อที่หนึ่งที่ผมได้เอ่ยไป”

“เหตุผลในข้อที่สาม ซึ่งเป็นประการสุดท้าย ด้วยผลงานในตลอดเวลาห้าปี โดยเฉพาะผลงานที่นานาประเทศให้การยอมรับไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการบิน แก้ปัญหาประมง หรือแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมทำมาทั้งชีวิต เป็นผลงานที่ผมคิดว่าชัดแจ้งและต้องการการขับเคลื่อนต่อไป”

“ผมในฐานะสมาชิกวุฒิสภา และทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดว่า บุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อจากนี้ไป เราจำเป็นต้องได้คนที่มีความชัดเจน ในแนวทางปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศและมีความชัดเจนในการขับเคลื่อนในหลายมุมหลายด้านที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด ที่สำคัญก็คือจะต้องทำให้สังคม ประเทศมีความสงบสุข เพราะถ้าสังคมไม่มีความสงบสุข เราพัฒนาประเทศไปไม่ได้”