3 ความเป็นไปได้ถ้าเลือกนายกไม่ได้ ระวังได้ชื่อใหม่หรือคนนอกบัญชี

ความเป็นไปได้หนึ่งของการเลือกนายกรัฐมนตรีคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้ง 250 คน ขวางการจัดตั้งรัฐบาล โดยการ “งดออกเสียง” เพื่อไม่ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดได้เสียงถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา การ “บล็อก” นายกรัฐมนตรีนี้ถือเป็นไพ่ใบสำคัญของ ส.ว. ที่จะนำไปสู่สภาวะไร้รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากสภาผู้แทนราษฎร และทำให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทอดเวลาออกไปอีก ซึ่งในช่วงเวลานี้ รัฐบาลรักษาการของประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป

สำรวจความเป็นไปได้ในกรณีที่ ส.ว. เลือกงดออกเสียงจนไม่มีนายกรัฐมนตรี

1. ส.ส. เสียงข้างมากยืนยันเสนอแคนดิเดตนายกคนเดิม

หากลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกผลปรากฏว่าไม่มีแคนดิเดตคนไหนได้รับเสียงข้างมาก ประธานสภาก็จะเป็นผู้นัดวันประชุมใหม่เพื่อลงคะแนนอีกครั้ง โดย ส.ส. เสียงข้างมากอาจจะยืนยันเลือกเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมตามหลักการว่าเสียงข้างมากของ ส.ส. ที่มาจากประชาชนก็เพียงพอแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการกดดัน ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งให้ต้องสนับสนุนผู้แทนที่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อ ๆ ไปก็ยังคงเหมือนเดิม คือ แคนดิเดตที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมาจากสามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่สภาจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งเอาไว้ ดังนั้น หาก ส.ส. เสียงข้างมากจากหลายพรรคการเมืองยังคงแนบแน่น ก็สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมไปได้เรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อ ส.ว. ในขณะที่ประธานสภาก็มีอำนาจในการกำหนดวันลงคะแนนใหม่ โดยสามารถทำได้ตั้งแต่การให้ลงคะแนนในระยะเวลาใกล้กันหรือเว้นระยะเวลาก็ได้

2. เสนอชื่อแคนดิเดตนายกคนใหม่

อีกทางหนึ่งก็อาจจะปรากฏชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นรายชื่อจากพรรคการเมืองจากกลุ่มเสียงข้างมากเดิม แต่มีการเปลี่ยนคนเพื่อการันตีว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือในกรณีที่กลุ่มเสียงข้างมากมีแนวทางที่ต่างกัน ก็อาจจะเกิดการจับขั้วใหม่ของพรรคการเมือง และมีการเสนอชื่อแคนดิเดตคนใหม่ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มพรรคเสียงข้างมากเดิม

หากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรียืดเยื้อจนไม่มีรัฐบาลใหม่ สถานการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามัคคีของกลุ่มพรรคการเมืองเสียงข้างมากว่าจะร่วมหัวจมท้ายเพื่อกดดัน ส.ว. ไปจนสุดทาง หรือหาทางออกด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายรัฐมนตรีคนใหม่

3. ใช้กลไกนายกคนนอก เลือกคนนอกบัญชี

กลไกสุดท้ายที่รออยู่ในกรณีที่เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้คือ “นายกคนนอกบัญชี” มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากจะให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ในวรรคสองยังกำหนดกลไกให้สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในสามรายชื่อตามบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองด้วย โดยมีเงื่อนไขคือสมาชิกกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมตัวกันไม่น้อยกว่า 376 คนเข้าชื่อร่วมกันเสนอต่อประธานสภาให้ยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตตามบัญชี จากนั้นประธานสภาจะเรียกประชุมรัฐสภา และต้องใช้เสียงอย่างน้อยสองในสาม หรือ 501 เสียงเพื่อยืนยันตามมตินั้น

หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ก็สามารถดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา คือ 376 เสียง แต่สมาชิกจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป