เลือกตั้ง66: จัดตั้งรัฐบาล ขจัดขั้วอำนาจ คสช.เบ็ดเสร็จต้องซุปเปอร์แลนด์สไลด์

แม้ว่าการเลือกตั้งปี 2566 จะเปลี่ยนกติกาใหม่เป็นระบบเลือกตั้งคล้ายกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต กับอีกใบหนึ่งเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่มโอกาสให้มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือมากกว่า 250 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง

แต่ด้วยกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังคงมีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีเสียง ส.ว.แต่งตั้งยกมือสนับสนุนก็มีแนวโน้มจะตั้งรัฐบาลยากขึ้น หรือถ้าตั้งรัฐบาลโดยใช้เสียง ส.ส. อย่างเดียวก็จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสูง

ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไม่พอ

หลังการเลือกตั้งปี 2566 การเลือกนายกรัฐมนตรีหรืออีกนัยยะหนึ่ง คือ “จัดตั้งรัฐบาล” รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 กำหนดให้ห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยผู้ได้รับแต่งตั้งต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ดังนั้นบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ตามกติกานี้ต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งจากรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน คือ ต้องได้เสียงเกิน 376 คนขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ แม้พรรคการเมืองจะสามารถจับขั้วกันจนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คือได้เกิน 251 เสียงขึ้นไป แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 125 เสียง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างสมมุติในกรณีนี้ ถ้าหากพรรคการเมืองในซีกฝ่ายพรรคค้านปัจจุบันนำโดยพรรคเพื่อไทย สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ คือมีเสียง 251 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จะต้องหาเสียงเพิ่มอีก 125 เสียง จากพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน และ ส.ว. เพื่อให้ได้ 376 เสียง จึงจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันได้คะแนนเสียง ส.ส.เกินกึ่งครึ่งของสภาผู้แทนฯ ไม่มากพอก็อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่เสร็จ

ส.ว.ยังเป็นพรรคใหญ่ ตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล

ภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จครึ่งใบทำให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากคสช.เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา แม้ระบบเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีที่นั่ง ส.ส.ได้มากกว่า 250 ที่นั่ง แต่ก็ยังเป็นเรื่องไม่ง่ายที่พรรคที่ได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งจะสามารถตั้งรัฐบาล เพราะเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เสียงทั้งสองสภามากกว่า 376 เสียง

ดังนั้น ส.ว.จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่สำเร็จหรือชี้ขาดได้ว่าจะให้พรรคใดเป็นรัฐบาล

พรรคการเมืองที่ยึดโยงกับ คสช.จึงได้เปรียบกว่าพรรคอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้สนามเลือกตั้งปี 2566 พี่น้อง 2ป. จะต้องแยกกันเดิน ซึ่งอาจทำให้หลังการเลือกตั้ง ส.ว.แตกออกเป็นสองขั้ว

อย่างไรก็ตามหากพรรคของพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรสามารถจับมือกันหลังเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ก็สามารถทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงเป็นปึกแผ่นได้ แต่หากเป็นพรรคการเมืองขั้วฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทยแกนนำ ก็คงเป็นเรื่องยากที่ ส.ว.จะหันมายกมือสนับสนุน ยกเว้นได้รับแรงกดดันจากประชาชนให้ทำตามผลการเลือกตั้ง หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้เปลี่ยนขั้ว โดยเฉพาะ ส.ว.ในมือของพลเอกประวิตร ที่อาจจะสนับสนุนพรรคแกนนำรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม

ตั้งรัฐบาลขั้วเดียวกันอาจไม่พอ อาจต้องจับข้ามขั้ว

 การเลือกตั้งปี 2566 ยังคงเป็นการแบ่งขั้วการเมืองสองขั้วเช่นเดิม คือ ขั้วพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. มีพรรคหลัก คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนขั้วพรรคพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีพรรคหลัก คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ

ภายใต้กติกาที่ไม่ปกติ การใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคขั้วรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.ได้เปรียบ เนื่องจากมี ส.ว.อยู่ในมือล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามหากหลังเลือกตั้ง พรรคขั้วฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ยังมีเสียงไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ จึงมีความจำเป็นต้องไปดึงเสียงจากพรรคขั้วรัฐบาลให้ถึง 376 เสียง เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ด้วยกติกาเช่นนี้ทำให้หลังการเลือกตั้ง หากพรรคขั้วฝ่ายค้านที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแต่มีเสียงไม่ถึง 376 ที่นั่ง ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการดึงพรรคการเมืองขั้วฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. เข้ามาร่วมรัฐบาลเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ตัวอย่างสมมุติว่า หลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน ได้เสียง ส.ส.ประมาณ 300 เสียง แม้จะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นถ้าอยากจัดตั้งรัฐบาลจะต้องหาเสียงเพิ่มอีก 76 เสียง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดึงเสียง ส.ส. จากพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั้งพรรคพลังประชารัฐ หรือถ้าหากไม่ใช้เสียง ส.ส. ก็อาจต้องใช้เสียง ส.ว. ในการตั้งรัฐบาล

ดังนั้นหากขั้วพรรคฝ่ายค้านต้องการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีขั้วพรรครัฐบาลเข้ามาร่วมด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกพรรคการเมืองในขั้วฝ่ายค้านต้องได้เสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงขึ้นไป หรือในอีกกรณีคือต้องกดดันให้ ส.ว.โหวตให้พรรคการเมืองขั้วฝ่ายค้านเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม หากขั้วพรรคฝ่ายค้านได้เสียง ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ หรือเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เล็กน้อย ก็มีโอกาสที่ขั้วรัฐบาลปัจจุบันจะจับมือกันต่อโดยเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.

ปิดสวิตช์ สว. ขจัดขั้วอำนาจ คสช.เบ็ดเสร็จ ต้องซุปเปอร์แลนด์สไลด์

จากเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบปกติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีเสียง ส.ว. 250 คน และจำนวนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้ถึง 376 เสียง เป็นอุปสรรค ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งปี 2566 ถ้าต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกตั้งนายกฯ และขจัดพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมทั้งผู้นำรัฐประหารอย่างพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงจำเป็นที่พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องชนะเลือกตั้งแบบซุปเปอร์แลนด์สไลด์ คือต้องชนะเลือกตั้งรวมกันแล้วต้องเกิน 376 ที่นั่ง โดยไม่มีพรรคการเมืองขั้วอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ดังนั้น หากขั้วพรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็อาจจำเป็นต้องเพิ่งเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม หรืออาจต้องเพิ่งเสียง ส.ว.บางส่วนเพื่อให้เสียงถึง 376 เสียง ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมจับมือกับ ส.ว.ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคการเมืองฝั่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจอาจต้องเป็นฝ่ายค้านอีกครั้งก่อนที่ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. จะหมดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น