11 มีนาคม 2568 เครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) ยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านพ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนพิษณุโลก สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า เนื่องจากวันนี้จะมีการบรรจุวาระในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางกลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านผ่านตัวแทนรัฐบาลว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นทางการไว้ก่อน พ.ร.บ. SEC เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ตั้งเป็นนโยบายเรือธงไว้แล้วก็จะเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการขับเคลื่อนให้กับโปรเจกต์ในภาคใต้ ซึ่งจะมีโครงการแลนด์บริดจ์ที่จังหวัดระนองและชุมพรในอนาคตอันใกล้นี้

เขาระบุว่า การคัดค้านมาจากการถอดบทเรียนกฎหมายเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ. EEC ที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งยังมีลักษณะที่ต้องการจะเอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้นำเนื้อหาพ.ร.บ. AEC มาเป็นแบบร่างในการออกแบบพ.ร.บ. SEC ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยเครือข่ายฯมีข้อเรียกร้องสามข้อดังนี้
๐ ขอให้รัฐบาลทบทวนแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจในรูปแบบการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกภูมิภาค และขอให้มีการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบปกติที่มีอยู่แล้ว ที่จะไม่ได้เป็นการสร้างอำนาจพิเศษให้กับคนพิเศษเพียงบางคนบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ และต้องไม่เป็นการสร้างมาตรฐานทางกฎหมายที่แตกต่างกัน อันเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำในสังคม
๐ รัฐบาลต้องยุติการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ทุกฉบับ และขอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์และทำการทบทวนพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) หากพบว่ามีความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวในทันที พร้อมกับถอนร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา
๐ ขอให้รัฐบาลจัดทำแผนการพัฒนาประเทศแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยตั้งอยู่บนฐานศักยภาพของแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน โดยการพัฒนาเหล่านั้นจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงยั่งยืนด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องไม่ละเลยทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมและเป็นธรรม
ยกคำสั่งห้ามชุมนุมรอบทำเนียบฯที่พิจารณาพฤติการณ์กลุ่มชุมนุมอื่น ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม SEC
บรรยากาศการชุมนุม ตำรวจนำรถตู้มาขวางบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ระหว่างการชุมนุมตำรวจอ่านคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 122/2568 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตร รอบทำเนียบรัฐบาลตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยสรุปคือ เป็นคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งเดิมที่ห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2568 ระบุพฤติการณ์ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมบริเวณใกล้กับทำเนียบรัฐบาล มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลได้ตลอดเวลา มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนและกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงขยายเวลาคำสั่งห้ามชุมนุมเป็นตั้งแต่วันที่ 8-15 มีนาคม 2568

ทั้งนี้วันที่ 2 มีนาคม 2568 กลุ่มคปท.ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ จึงตีความได้ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยพฤติการณ์การชุมนุมของกลุ่มดังกล่าว
มาตรา 7 วรรคท้ายของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี ไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ ในการชุมนุมด้วย”ตีความได้ว่า พื้นที่โดยรอบของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาลเป็นพื้นที่ที่สถานการณ์ทั่วไปสามารถชุมนุมได้ แต่ให้อำนาจเจ้าพนักงานออกคำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรโดยจะต้องพิจารณาสถานการณ์ประกอบ กล่าวคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสามารถห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรได้บนฐานของความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยแล้วสามารถประกาศห้ามการชุมนุมเป็นวาระไปได้ โดยจะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และจำนวนของผู้ชุมนุมประกอบด้วย
ซึ่งหากพิจารณาจากพฤติการณ์การและจำนวนผู้ชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) แล้ว เห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มากและยืนแสดงออกอยู่ที่ทางเท้าด้านหน้าประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาลที่ไม่ใช่เป็นประตูสำหรับทางเข้าออกและอยู่ในวิสัยที่ตำรวจจะสามารถควบคุมและอำนวยความสะดวกทั้งเสรีภาพการชุมนุมของผู้ชุมนุมและการจราจรของผู้ที่ใช้ทางเท้าและถนน ดังกล่าวนี้การยกคำสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา 7 วรรคท้ายของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ออกโดยอาศัยพฤติการณ์จากการชุมนุมอื่นๆ มาเหมารวมห้ามชุมนุมกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นการกระทำที่ไม่แยกแยะพฤติการณ์และจำกัดหรืออาจละเมิดเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน