โรงเรียน หนึ่งในหน่วยสำคัญของสังคม เป็นสถานที่ที่ขับเคลื่อนกลไกตามระบบการศึกษาของรัฐ สร้างความรู้ หล่อหลอมตัวตน เป็นพื้นที่หนึ่งให้เด็กได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ค้นหาตัวตนของตัวเองเพื่อนำไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ดี ภาพจำของโรงเรียนและระบบการศึกษาในสายตาประชาชน ไม่ได้มีเพียงแต่ด้านที่สวยงามเท่านั้น หลายครั้งมักมีข่าวที่ครูใช้อำนาจเหนือนักเรียนปรากฏอยู่ในหน้าสื่อ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบการอ้างกฎระเบียบเพื่อล่วงล้ำร่างกาย การลงโทษที่ทำต่อร่างกายอย่างรุนแรง ฯลฯ
ผลจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน ทำให้กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ เริ่มเคลื่อนไหวที่รณรงค์และเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นอกจากการจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับเด็กและผู้เรียน ผ่านไปหนึ่งปีกว่าๆ นับจากการชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 นักเรียนเลวได้ขยับก้าวสำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เป็นตัวกลางรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษชนของผู้เรียน พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ) โดยมีวัตถุประสงค์ให้กฎหมายนี้เป็นเหมือนหลักยืนยันสิทธิเสรีภาพ ที่นักเรียนทุกคนพึงมีและเพื่อปกป้องตนเองและเพื่อนๆ ในโรงเรียนว่าใครก็จะละเมิดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้
ร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามหมวด หมวดแรก สิทธิมนุษยชนผู้เรียน หมวดสอง สภาพแวดล้อมและสวัสดิภาพ หมวดสาม การมีส่วนร่วมของผู้เรียน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
รับรองสิทธิเสรีภาพผู้เรียน หากลงโทษผู้เรียนโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน มีโทษจำคุกหรือปรับ
ร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ หมวดแรก สิทธิมนุษยชนผู้เรียน กำหนดให้ผู้เรียนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โดยบุคลากรในสถานศึกษาจะมาละเมิดไม่ได้ มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองด้านจิตใจ โดยการจัดการศึกษาจะต้องไม่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์อย่างเพียงพอเพื่อให้คำปรึกษาตามที่ผู้เรียนต้องการ เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นจะต้องได้รับการคุ้มครอง รวมถึงผู้เรียนจะต้องได้รับสิทธิในความปลอดภัย การลงโทษหรือการปรับพฤติกรรมผู้เรียนนั้นก็จะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนและเป็นไปตามความเหมาะสมเท่านั้น หากมีการลงโทษเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน บุคคลนั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ผู้เรียนมีอิสระในการร่วมกิจกรรม สถานศึกษาต้องควบคุมเวลาเรียนไม่ให้กระทบเวลาส่วนตัว
ร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ หมวดสอง สภาพแวดล้อมและสวัสดิภาพ กำหนดให้สถานศึกษาจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะดวก เหมาะสมแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน ให้สิทธิผู้เรียนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษาได้ตามความสมัครใจ การบังคับหรือสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมของสถานศึกษาจะกระทำมิได้ นอกจากนี้กำหนดให้ผู้เรียนมีสิทธิได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาหากมีการทำผิดกฎระเบียบของสถานศึกษา โดยอีกหนึ่งสิทธิที่สำคัญและเป็นเรื่องใหม่คือ การกำหนดให้ผู้เรียนมีเวลาส่วนตัวสำหรับพักผ่อน เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจ ทำงานอดิเรก หรือละเล่นทางสันทนาการ โดยสถานศึกษามีหน้าที่ต้องควบคุมเวลาเรียนให้ไม่กระทบต่อเวลาส่วนตัวของผู้เรียน
กฎระเบียบสถานศึกษา ต้องสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน
ในหมวดสาม การมีส่วนร่วมของผู้เรียน กำหนดให้สถานศึกษาดำเนินการจัดกิจกรรมและกระบวนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่ทั้งผู้เรียนและบุคลากร เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในสิทธิมนุษยชน จัดระบบดูแล ช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในสถานศึกษา สิ่งสำคัญคือกำหนดให้ผู้เรียนมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธภายในสถานศึกษา โดยสถานศึกษามีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการใช้เสรีภาพของผู้เรียน
นอกจากนี้การออกกฎ ระเบียบของสถานศึกษา จะต้องสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน โดยจะต้องเป็นไปเพื่อความปลอดภัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกันภายในสถานศึกษา และการออกกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เรียนภายในสถานศึกษานั้นๆ ด้วย
ร่างกฎหมายที่มาจากเสียงของนักเรียน
ธัญชนก คชพัชรินทร์ หรือแบม ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว เล่าถึงที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “เราสังเกตว่าที่เราเคลื่อนไหวมาตลอดปีกว่าๆ ว่ามันเป็นยังไงบ้าง จะเห็นว่าไม่ว่าจะลงข่าวหรือไปม็อบ ความเปลี่ยนแปลงมันยังไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้น ก็เลยต้องทำอะไรที่มันมีรูปธรรมมากขึ้น เช่นการเสนอร่างกฎหมาย ยกร่างใหม่ไปเลย”
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาเป็นร่างกฎหมายฉบับนี้ แบมเล่าว่า เคยมีความคิดจะแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.การศึกษาฯ) เนื่องจากคิดว่าจะตอบโจทย์มากที่สุดหากใส่เรื่องสิทธินักเรียนเข้าไป แต่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาและจัดทำ พบว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่างก็ถูกปัดตกเรื่อยๆ อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าข่ายเป็นกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ทางผู้จัดทำจึงมีความเห็นกันว่ารัฐบาลคงจะไม่ยอมให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายได้ง่ายๆ คงต้องรอให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (เสนอโดยครม.) ในชั้นกรรมาธิการ จากประเด็นนี้แบมกล่าวว่า “ความเป็นไปได้มีต่ำมาก และสังคมก็จะไม่เห็นว่าเราทำอะไรอยู่”
หลังจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายเดิมอย่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ เป็นไปได้ยาก ผู้จัดทำก็ได้ลองศึกษากฎหมายที่มีอยู่แล้วอีกฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก) เนื่องจากในกฎหมายนี้ มีการกำหนดบทบัญญัติที่มีความเกี่ยวข้องกับนักเรียน ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 7 แต่หลังจากศึกษากลับพบว่า เนื้อหาในหมวดดังกล่าวอยู่ที่ผิดที่ผิดทาง ควรจะต้องไปอยู่ในพ.ร.บ.การศึกษาฯ นอกจากนี้ เมื่อได้ศึกษาแล้วพบว่าเนื้อหาเต็มไปด้วยคำสั่ง ไม่ใช่การประกันหรือการกำหนดว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนมีสิทธิอะไรบ้าง มีแต่การบอกว่านักเรียนจะต้องทำตัวอย่างไรในโรงเรียน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิทธิด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้นักเรียนเลวตัดสินใจยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ แบมกล่าวว่า “ปัญหามันก็เกิดขึ้นทุกวัน เรารู้สึกว่าเรารอไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำร่างนี้ขึ้นมา”
ในส่วนเนื้อหาในร่างกฎหมาย แบมเล่าว่า “มันเริ่มจากการคุยกันก่อน ว่าเราอยากเห็นอะไรบ้างถ้าทำพ.ร.บ.นี้ มานั่งคุยกันว่ามีปัญหาอะไรบ้างแล้วก็จัดกลุ่ม เรื่องนี้ก็เป็นสิทธินะแล้วจะเอาไปอยู่หมวดไหน ทำไปทำมา ก็เลยแบ่งเป็นสามหมวดตามที่เห็นในร่างฯ หมวดแรกคือสิทธิที่เรามี การประกันสิทธิ หมวดสอง สวัสดิภาพ เป็นสิทธิเหมือนกันแต่เราอาจจะยังไม่คุ้นเคย หมวดสาม การมีส่วนร่วม ก็ต้องมานั่งคุย ตกผลึกร่วมกัน จะร่างยังไงให้ครอบคลุมที่สุด”
แม้ปัญหาหลักที่ต้องการแก้คือเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแต่ก็มีประเด็นอื่นด้วย โดยแบมระบุว่า “ ไหนๆก็ทำเรื่องสิทธิแล้ว ก็ใส่เรื่องอื่นเข้าไปด้วย เช่น สิทธิในการพักผ่อน มีเวลาว่าง ที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย จริงๆลองปรึกษานักกฎหมายหลายคนว่าจะใส่มาดีมั้ย แต่เราก็ยืนยันว่ามันเป็นสิทธิ แค่เรายังไม่คุ้น”
เมื่อถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน แบมตอบว่า ร่างกฎหมายนี้จะเป็นเหมือนหลักประกันสิทธิของเด็ก ในขณะที่ตอนนี้มีแต่กฎและคำสั่งที่ให้อำนาจกับโรงเรียน คุณครู เป็นกฎที่บอกให้ทำ แต่ไม่มีกฎที่รองรับสิทธิให้กับผู้เรียน ผู้เรียนควรจะต้องมีสิทธิเรื่องความปลอดภัย สิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมเวลาที่โดนลงโทษในโรงเรียน ซึ่งในขณะนี้ดูเหมือนจะยังไม่มี แบมบอกว่า “เราอยากสร้างกฎหมายที่ให้เด็กเป็นประธานในประโยค เพื่อบอกว่าเด็กมีสิทธิตรงนี้ สังคมต้องจัดหาให้เขา เราคาดหวังให้คนรับรู้ถึงสิทธิที่ตัวเองมีมากขึ้นและสามารถใช้กฎหมายนี้เพื่อยืนยันสิทธิของตัวเองได้”
หากลองไปดูในเว็บไซต์ของนักเรียนเลวเพื่อเข้าชื่อร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ จะพบว่ามีการแบ่งประเภทของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แบมเล่าถึงสาเหตุของการแบ่งประเภทไว้ว่า “มันเป็นร่างกฎหมายที่มีไว้เพื่อให้เด็ก เป็นประโยชน์กับนักเรียนโดยเฉพาะ แต่คนที่จะเสนอกฎหมายมันคือผู้ใหญ่หรืออายุ 18 ปีขึ้นไป เราอยากให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับการส่งเสียงของตัวเอง ว่าเขาอยากสนับสนุนพ.ร.บ.ตัวนี้… เลยทำช่องทางแยกออกมา สำหรับเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี ก็สามารถส่งเสียงเพื่อสนับสนุนได้เหมือนกัน ส่วนผู้ใหญ่ก็มีบทบาทในการเสนอชื่อจริงๆ”
สุดท้าย แบมเล่าว่า คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนและร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนผู้เรียนฯ เป็นผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรม เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดตั้งแต่กลุ่มนักเรียนเลวเคลื่อนไหวมา ได้ลงมือทำเอง มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ขณะที่การเคลื่อนไหวอย่างอื่นมักออกมาในรูปแบบการเรียกร้อง ตรวจสอบการทำงานของรัฐ
จากผลงานชิ้นใหญ่ของนักเรียนเลว “คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน” แบมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่เด็กไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร เพราะเขาไม่รู้สิทธิของตัวเองหรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร โรงเรียนไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้ ทางนักเรียนเลวจึงต้องทำคู่มือเพื่อให้เด็กเอาตัวรอด นำไปปกป้องสิทธิของตัวเองและเพื่อนได้ ผลปรากฎว่าได้รับผลตอบรับดี มีคนมาแชร์ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสิทธิอย่างนี้ๆ ถ้ามีสิ่งนี้ตอนเขายังเด็ก เขาคงกล้าทำอะไรมากขึ้น จึงรู้สึกว่านี่เป็นผลงานที่จะเป็นรูปธรรม และร่างกฎหมายนี้ก็เหมือนกัน เพียงแต่เป็นการแก้เชิงโครงสร้างมากขึ้น เรียกร้องกับภาครัฐโดยตรง
ร่วมลงชื่อร่างพ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนของผู้เรียนได้ทาง www.badstudent.co