จับตาศาลรัฐธรรมนูญ รับ/ไม่รับคำร้อง ปมทักษิณ-พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ : แกนนำ กปปส.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ตุลาคม 2567 ให้วินิจฉัยว่าทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับที่ธีรยุทธส่งเรื่องร้องพรรคก้าวไกลปมหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ธีรยุทธตั้งหกประเด็นเพื่อยกมาประกอบว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง เช่น ทักษิณสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม เอื้อประโยชน์ตัวเองไม่ต้องติดคุก ทักษิณครอบงำเพื่อไทย เจรจาพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหลังเศรษฐา ทวีสิน ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ทักษิณเลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการพรรคเพื่อไทย รวมถึงให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณกระทำการดังกล่าว

หกประเด็นร้องทักษิณ-เพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 กำหนดกลไก “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยห้ามไม่ให้บุคคลใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างกสนปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดที่พบการกระทำดังกล่าว มีสิทธิ 1) ร้องไปที่อัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งเลิกการกระทำดังกล่าว 2) หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่ที่รับคำขอ สามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

มาตรา 49  บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ธีรยุทธได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ดี อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการภายใน 15 วัน เมื่อ 10 ตุลาคม 2567 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งไปทางอัยการสูงสุดเพื่อสอบถามว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้เพียงใด ทางอัยการสูงสุดตอบกลับเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2567 มีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงไม่ได้ดำเนินการรับคำร้อง และส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

โดยคำร้องที่ธีรยุทธกล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย กระทำการซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีหกประเด็น ได้แก่

ทักษิณสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม เอื้อประโยชน์ตัวเองไม่ต้องติดคุก

ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ ในคดีที่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากโทษจำคุกแปดปี ซึ่งทักษิณรับโทษไปแล้ว 10 วัน จึงเหลือโทษจำคุกเจ็ดปี 11 เดือน 20 วัน แต่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีกหนึ่งปี แต่ทักษิณกลับใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เอื้อประโยชน์แก่ทักษิณระหว่างต้องโทษจำคุก ให้ได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นการกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะอาจเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทักษิณคบหาฮุนเซน สั่งพรรคเพื่อไทยให้รัฐบาลเอื้อประโยชน์กัมพูชา

ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติกรรมฝักใฝ่ คบหากับฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์และทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

ทักษิณสั่งพรรคเพื่อไทยร่วมมือพรรคประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ เข้าข่ายร่วมกันล้มล้างการปกครอง 

ทักษิณ ชินวัตร สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชน (พรรคก้าวไกลเดิม) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นพรรคการเมืองที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงกล่าวได้ว่าการที่ทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นการกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะอาจเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทักษิณครอบงำเพื่อไทย เจรจาพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า 

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติฟันเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 14 สิงหาคม 2567 ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าซึ่งเป็นบ้านพักส่วนตัวของทักษิณ เป็นการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

ทักษิณอยู่เบื้องหลังขับพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของครอบครอง ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมกระทำการตามที่ทักษิณสั่งการ ถือเป็นการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

ทักษิณสั่งเพื่อไทยดำเนินนโยบายตามวิสัยทัศน์

ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล นำนโยบายของทักษิณ ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 เป็นการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

ในท้ายคำร้อง ธีรยุทธขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งประการ ดังนี้

  1. ให้ทักษิณเลิกกระทำการใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ให้ผู้ทักษิณเลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการพรรคเพื่อไทย
  3. ให้ทักษิณเลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการ
  4. ให้ทักษิณเลิกกระทำการใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
  5. ให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
  6. ให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณ เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรค
  7. ให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณใช้พรรคเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการ
  8. ให้ผู้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีนัดพิจารณาคำร้องของธีรยุทธ และมีคำสั่งว่าสมควรรับคำร้องไว้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง ก็จะดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาต่อไป

คำร้อง “คนนอกครอบงำพรรค” จ่อคิวต่อ กกต. ชงเรื่องไปศาลรธน. ยุบพรรคได้

นอกจากคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษรแล้ว อีกฟากหนึ่งยังมีคำร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปม “คนนอกครอบงำพรรค” ทักษิณ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำและหกพรรคการเมืองยินยอมให้ทักษิณกระทำการครอบงำ ชี้นำ ซึ่งเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 28 มาตรา 29

โดยในมาตรา 28 ระบุห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม หาก กกต. พิจารณาแล้ว มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการขัดมาตรา 28 สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 92)

ขณะที่มาตรา 29 ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง กระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

โดยคำร้องที่ยื่นต่อ กกต. เพื่อให้พิจารณาว่าพรรคเพื่อไทยฝ่าฝืนมาตรา 28 และทักษิณ ชินวัตร ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ เช่น

บุคคลนิรนามร้องเพื่อไทยเปิดวิดิโอทักษิณให้โอวาทในงานประชุมพรรค เข้าข่ายชี้นำ สมาชิกขาดอิสระ 

บุคคลนิรนามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าพรรคเพื่อไทยมีพฤติการณ์ยินยอมให้ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่เป็นสมาชิก ชี้นำกิจกรรมของพรรค โดยอ้างถึงการประชุมสามัญใหญ่ประจำปี 2567 ของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 5 เมษายน 2567 ว่ามีการนำวิดีโอที่มีเนื้อหาสำคัญเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคำกล่าวของทักษิณ ชินวัตร มาฉายให้สมาชิกในที่ประชุมรับชม ซึ่งมองได้ว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่ทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ อันเป็นการยินยอมให้ทักษิณ ชินวัตรครอบงำพรรค 

นอกจากนี้บุคคลนิรนามยังระบุในคำร้องว่าพรรคเพื่อไทยมีพฤติกรรมยินยอมให้ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่มิใช่สมาชิกพรรค กระทำการชี้นำทำให้กรรมการบริหารพรรคขาดความเป็นอิสระ ผ่านเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

วรงค์ร้อง ทักษิณเชิญพรรคร่วมประชุมเลือกนายกฯ ที่บ้านพักส่วนตัว เข้าข่ายครอบงำพรรค 

วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. โดยมีประเด็นร้องเรียนถึงการเชิญแกนนำพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล มาเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านของทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 อาจถือว่าทักษิณซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมีพฤติการณ์เข้ามาครอบงำ ชี้นำพรรคเพื่อไทย 

นอกจากนี้ วรงค์ยังอ้างถึง การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของทักษิณ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ถึงบทบาทในการช่วยเหลือแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องเศรษฐกิจ เมื่อสื่อถามทักษิณต่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการครอบงำหรือไม่ ทักษิณกล่าวว่า ไม่ใช่ “ครอบงำ” แต่เป็นการ “ครอบครอง เพราะเป็นลูกสาว” บ่งบอกชัดเจนว่าทักษิณกระทำตัวเป็นเจ้าของ และมีพฤติการณ์ชี้นำ ครอบงำ ควบคุม พรรคเพื่อไทยผ่านแพทองธาร ชินวัตร 

อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาวร้อง หกพรรคร่วมยอมให้ทักษิณครอบงำ

นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานในวันที่ 9 กันยายน 2567 ต่อ กกต. ระบุว่าการที่หพรรคร่วมรัฐบาลหกพรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ยินยอมให้ทักษิณ ชินวัตร เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง-เลขาธิการของพรรคการเมืองดังกล่าว เข้ามาพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ชัยเกษม นิติสิริ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นการยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำ สั่งการ ทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ

โดยเมื่อ 18 ตุลาคม 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองรับพิจารณาคำร้องกรณีทักษิณมีพฤติกรรมครอบงำพรรค และตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ