24 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดลงมติรับรองรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ. นิรโทษกรรม) อีกครั้ง หลังพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่งในฐานะประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมระหว่างที่กำลังอภิปรายในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567
การตั้ง กมธ. นิรโทษกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง กมธ. นิรโทษกรรมถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งกรรมาธิการ และมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณา 60 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 1 เมษายน 2567
แต่ในกรอบระยะเวลาการทำงานของ กมธ.นิรโทษกรรม ถูกขยายเวลามาแล้วสองครั้ง ครั้งละ 60 วัน ในครั้งแรกขยายเวลาตั้งแต่ 2 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2567 และขยายเวลาครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2567
เมื่อ กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จจึงได้ส่งรายงานให้แก่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยในรายงานดังกล่าวประกอบไปด้วยรายงาน กมธ. นิรโทษกรรม หนึ่งฉบับ และภาคผนวกสองฉบับ ได้แก่ ภาคผนวก ก รายงานการศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง และภาคผนวก ข รายงานการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณารับรองรายงานฉบับนี้ ภายหลังจากที่มีผู้อภิปรายไปได้จำนวนหนึ่ง กมธ. นิรโทษกรรม ประสงค์ที่จะชี้แจงเพิ่มเติม จึงได้เกิดการหารือกันว่าสมควรจะให้มีการอภิปรายต่อไปหรือไม่ ขณะนั้นพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่งในฐานะประธานที่ในประชุมก็สั่งปิดการประชุม จึงทำให้ต้องมีการนัดพิจารณาเพื่อลงมติรับรองรายงาน กมธ. นิรโทษกรรมอีกครั้งในวันที่ 24 ตุลาคม 2567
นับตั้งแต่วันที่ตั้งกมธ. นิรโทษกรรม เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่รายงานของกมธ. นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก สภาใช้เวลาถึง 260 วันในการผลักดันรายงานดันกล่าวออกมา โดยยังไม่มีแม้แต่ผลการลงมติว่าจะรับรองรายงานดังกล่าวหรือไม่ โดยวันที่ 24 ตุลาคม 2567 จะเป็นวันที่ 267 นับแต่ตั้งกมธ. ดังกล่าว
ชวนจับตาดูการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า จะพิจารณารายงานเพื่อ “ศึกษา” แนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วเสร็จในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 หรือไม่ หรือกระบวนการรับรองรายงานจะถูก “ยืด” ออกไปอีกครั้ง