วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมแนสตี้ ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ส่งหนังสือถึงสำนักประธานฎีกาขอให้ศาลมีมาตรการคุ้มครองผู้ต้องขังและนักโทษเพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ทั้งในและนอกเรือนจำ รวมถึงขอให้ดำเนินการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน
ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ทางสำนักประธานฎีกาได้ออกหนังสือตอบกลับถึงผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ว่า ศาลยุติธรรมมีมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังมาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรค โดยทำงานประสานกับทางกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมอย่างใกล้ชิดตลอดมา ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ต้องขัง บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่งมาตรการของศาลดังกล่าว เป็นไปตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2562 และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
รายละเอียดของมาตรการที่สำนักประธานศาลฎีกาตอบกลับมานั้นสอดคล้องกับหนังสือเวียนเรื่อง มาตรการคุมขังและเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์โควิด 19 ที่ออกโดยพงษ์เดช วานิชกิตติกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนี้
๐ การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา (ทุกชั้นศาล)
สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน ให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด19 ในสถานที่คุมขัง และเพื่อป้องกันการหลบหนีของจำเลย ให้ศาลกำหนดเงื่อนไขโดยนำมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อลดความการคุมขังที่ไม่จำเป็นในระหว่างนี้ รวมถึงสามารถผ่อนคลายการเรียกหลักประกันได้ นอกจากนี้ หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องรายงานตัวเป็นระยะๆ ก็อาจใช้วิธีการรายงานตัวผ่านทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ในส่วนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่และประสงค์ที่จะขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา สามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องเสนอหลักประกัน โดยให้ยื่นผ่านทางสถานที่คุมขังที่ตนอยู่ กรณีจำเลยที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีแล้วเคยได้รับการปล่อยคราวในระหว่างพิจารณา ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้เลย
สำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แม้ยังไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลยหรือเงื่อนไขอื่นใดได้ เช่น ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นต้น
๐ การพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
หากสถานที่คุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหามาศาลหรือดำเนินการประชุมทางจอภาพ (Video Conference) การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ อาจดำเนินการโดยส่งสำเนาคำร้องขอฝากขังไปยังสถานที่คุมขังแทน หากต้องมีการไต่สวนก็ให้ดำเนินการผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ
๐ มาตรการเกี่ยวกับการฟังคำพิพากษา
กรณีที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความต้องการจะฟังคำพิพากษาตามกำหนดเดิมก็ให้อ่านคำพิพากษาไปโดยมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สำหรับกรณีจำเลยที่อยู่ในเรือนจำ ให้อ่านคำพิพากษาตามกำหนดเดิมโดยผ่านการประชุมทางจอภาพ
๐ การเลื่อนกระบวนการพิจารณาสำหรับผู้ต้องหาที่อยู่ในสถานคุมขัง
ในสถานการณ์ที่สถานที่คุมขังมีเหตุจำเป็นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง และเพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ ให้เลื่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาออกไปก่อน