9 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) ที่วุฒิสภาแก้ไข “กลับ” ให้คงไว้ซึ่งเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 0 เสียง ไม่เห็นชอบ 348 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง กระบวนการหลังจากนี้คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ และส่งกลับให้ทั้งสองสภาลงมติอีกครั้งว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 

ที่มาของการลงมติในการประชุมนัดนี้ สืบเนื่องมาจากร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีสาระสำคัญคือปลดล็อกเงื่อนไขประชามติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ซึ่งกำหนดใช้เกณฑ์ “เสียงข้างมากสองชั้น”มาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาแทน เพื่อให้ประชามติหาข้อยุติง่ายขึ้น แต่ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ชั้นวุฒิสภา วาระสอง เสียงข้างมากของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลับโหวต “แก้ไข” ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้กลับไปใช้เงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้นกับกรณีการทำประชามติหลังแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ และการทำประชามติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำประชามติในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ย้อนเหตุแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ สส. อยากปลดล็อกเงื่อนไข สว. แทงสวนยืนยันใช้ “เสียงข้างมากสองชั้น” กับประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ใช้บังคับอยู่ มาตรา 13 กำหนดเงื่อนไข “เสียงข้างมากสองชั้น” ประชามติจะมีข้อยุติได้ ต่อเมื่อ 

(1) มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ 

(2) มีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น

เงื่อนไขดังกล่าว นำมาสู่ข้อกังวลว่าประชามติจะหาข้อยุติได้ยากและต้องได้รับเสียงลงมติทางใดทางหนึ่งจำนวนมากถึงจะหาข้อยุติในเรื่องนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันต่อเนื่องอย่างการแก้ไขเพิ่มเติมรวมถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำประชามติประกอบ ครม. รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จึงเสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ รวมสี่ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ หลายประเด็น ประเด็นสำคัญคือการปลดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น

ต่อมา 18 มิถุนายน 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งสี่ฉบับในวาระหนึ่ง เพื่อพิจารณาต่อวาระสองและวาระสาม โดยในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ในวาระสาม ได้ข้อสรุปสำคัญ คือ ปลดล็อกเกณฑ์ “เสียงข้างมากสองชั้น” เป็นเสียงข้างมากธรรมดา โดยกำหนดเงื่อนไขไว้เพียงว่าเสียงข้างมากนั้นจะต้องมากกว่าเสียงไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขประเด็นอื่นๆ เช่น ปรับให้การทำประชามติสามารถทำพร้อมกับการเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ และเปิดทางให้มีการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติออนไลน์ได้

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งสามวาระแล้วเสร็จ ก็ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภา ทว่า ในวันที่ 30 กันยายน 2567 วุฒิสภากลับมีมติ “แก้ไข” ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ กลับในประเด็นเกณฑ์การหาข้อยุติของประชามติ โดยหลักเกณฑ์การทำประชามติที่วุฒิสภาแก้ไข แบ่งเป็นสองกรณี

กรณีที่หนึ่ง : ใช้เงื่อนไข “เสียงข้างมากสองชั้น” กับกรณีการทำประชามติสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ และการทำประชามติตามมติของ ครม. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า ตามแนวทางของวุฒิสภา การทำประชามติในกรณีนี้ จะกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่กำหนดให้นอกจากจะต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมดแล้วแล้ว จะต้องมีผู้ออกเสียงไปในทางเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงด้วย เพื่อให้การทำประชามตินั้นมีข้อยุติ

กรณีที่สอง : ใช้เงื่อนไข “เสียงข้างมากธรรมดา” สำหรับการทำประชามติกรณี (1) ประชามติตามมติ ครม. ในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (2) ประชามติตามที่กฎหมายเฉพาะเรื่องกำหนดให้ต้องทำประชามติ (3) การทำประชามติกรณีรัฐสภามีมติให้ทำประชามติ และ (4) การทำประชามติกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอให้ ครม. เคาะทำประชามติ โดยการประชามติตาม (3) และ (4) วุฒิสภาไม่ได้แก้ไขกำหนดเฉพาะว่าเป็นประชามติในประเด็นใด

พรรคประชาชน-เพื่อไทยเห็นพ้องใช้เสียงข้างมากธรรมดา ภูมิใจไทยเห็นต่างประชามติแก้รัฐธรรมนูญควรใช้เสียงข้างมากสองชั้น

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี สส. ร่วมกันผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย โดยสส. จากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน รวมถึงพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย เห็นพ้องต้องกันว่าต้องยืนยันตามร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ. วิสามัญของวุฒิสภาที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ในวาระสอง มีการทำงานที่ “กลับไปกลับมา” ในวันที่ 18 กันยายน 2567 กมธ. มีมติ ด้วยคะแนน 20 เสียง ต่อ 3 เสียง ให้คงไว้ซึ่งเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาตามที่ สส. ได้มีการเห็นชอบ แต่ต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2567 กลับลงมติให้ฟื้นคืนชีพเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ด้วยคะแนน 17 เสียง ต่อ 1 เสียง หาก สว. ยืนยันในการใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ตนในฐานะ สส. ก็ขอยืนยันตามเกณฑ์เสียงข้างมากเช่นกัน 

พริษฐ์ตั้งข้อกังวลว่า หากใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ที่กำหนดบังคับให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ จะทำให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่านได้เปรียบฝ่ายที่อยากเห็นประชามติผ่าน โดยฝ่ายที่ไม่อยากให้ประชามติผ่านอาจไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อคว่ำการทำประชามติในครั้งนั้น 

พริษฐ์ ยกตัวอย่างการลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50.1 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 29.7 ล้านคน ไม่มาใช้สิทธิ 20.4 ล้านคน ในจำนวนผู้มาใช้สิทธิ มีเสียงเห็นชอบ 16.8 ล้านคน และเสียงไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านคน หากยึดตามเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นจะถือว่าการทำประชามติในครั้งนั้นผ่าน เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่หากว่าเสียงที่ไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านคน มีการรณรงค์ให้ไม่ออกไปใช้สิทธิ ก็จะทำให้การทำประชามติในครั้งนั้นไม่ผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าหาก สส. ไม่เห็นชอบในการพิจารณาในครั้งนี้ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม เลวร้ายที่สุดหากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่างที่กรรมาธิการร่วมพิจารณา ก็อาจทำให้ร่างกฎหมายนี้ล่าช้าไป 7-8 เดือน ซึ่งตนกังวลว่าอาจทำกระทบต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน จึงเห็นว่าควรใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาสำหรับการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น 

จาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาตามที่ สส. เคยเห็นชอบว่า ที่ สส. ได้แก้ พ.ร.บ. ประชามติฯ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ในประเด็นของการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) การที่เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นกำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิจะต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิจะทำให้ผู้ที่ไม่มาออกเสียงและผู้ที่ออกเสียงไม่เห็นด้วยกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน วิธี “นอนอยู่กับบ้าน” จะถูกใช้ในการคว่ำประชามติได้

จาตุรนต์ อภิปรายเพิ่มเติมว่า การแก้ไขให้เป็นเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาไม่ใช่เรื่องความยากง่ายของการทำประชามติ แต่เป็นเรื่องของหลักการที่สำคัญ หากกำหนดว่าเป็นหนึ่งในสี่ก็อาจจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่กำหนดให้มากกว่านั้น ประเด็นเรื่องสัดส่วนตัวเลขอาจจะเป็นที่ถกเถียงกันได้มาก แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่าในประเทศไทยเคยมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันมาแค่สองครั้ง ทั้งสองครั้งมีเกณฑ์เดียวกันคือ “เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดา” 

“สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องยืนยันมติเอกฉันท์ที่เห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดา การลงมติตามการแก้ไขของ สว. อาจจะเร็ว แต่ก็เป็นการปิดประตูตอกฝาโลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เกณฑ์การทำประชามติอย่างเดียวกันกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560” จาตุรนต์กล่าวทิ้งท้าย 

ขณะที่ สส. พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย อภิปรายไปในทิศทางเห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า การปรับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองขั้น “คล้าย” กับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นเพื่อให้ผลการทำประชามติมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เห็นควรให้ที่ประชุมเห็นชอบกับการแก้ไขของ สว. เพื่อให้ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมล่าช้าเพิ่ม

แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานในการทำประชามติเพื่อให้การทำประชามตินั้นมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเว้นหมวดหนึ่ง (บททั่วไป) และหมวดสอง (พระมหากษัตริย์) แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้อง “สง่างาม” ให้ได้มากที่สุด จึงต้องมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการทำประชามติด้วยการใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น หรือจะแก้ไขเกณฑ์ให้มีผู้มาใช้สิทธิขั้นต่ำเป็นหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ก็ได้

หลังสส. อภิปรายแล้วเสร็จ เวลา 16.12 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ตามการแก้ไขเพิ่มเติมของ สว. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 0 เสียง ไม่เห็นชอบ 348 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ส่งผลให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายประชามติล่าช้าขึ้น โดยกระบวนการต่อจากนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะต้องตั้งกมธ. ร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยตั้งจากจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จำนวนเท่าๆ กัน หลังกมธ.ร่วมพิจารณาแล้วเสร็จ ก็ต้องส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากกมธ.ร่วมกันหรือไม่ หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่างใหม่ที่กมธ.ร่วมเสนอ ร่างพ.ร.บ. ประชามติฯ จะถูกยับยั้งไว้ เมื่อพ้น 180 วันแล้ว สส. อาจลงมติยืนยันร่างเดิมที่เคยให้ความเห็นชอบ หรือร่างใหม่ที่กมธ.ร่วมเสนอก็ได้

หลังลงมติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกำหนดสัดส่วนกมธ. ร่วมไว้จำนวนทั้งหมด 28 คน โดยแบ่งเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากวุฒิสภา 14 คน และผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎร 14 คน แต่ละพรรคมีโควตาในการเสนอชื่อมากน้อยตามสัดส่วนของจำนวน สส. ประกอบด้วย พรรคประชาชนสี่คน พรรคเพื่อไทยสี่คน พรรคภูมิใจไทยสองคน พรรคพลังประชารัฐหนึ่งคน พรรคร่วมไทยสร้างชาติหนึ่งคน พรรคประชาธิปัตย์หนึ่งคน และพรรคชาติไทยพัฒนาหนึ่งคน

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage