26 กันยายน 2567 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรมีวาระประชุมกรณีสืบเนื่องจากการแถลงข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวหาว่า หนังสือเรื่อง “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ของรศ. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนและเป็นเท็จ ขอความร่วมมือในการระงับการจำหน่าย โดยในการประชุมทั้งสองฝ่ายพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ
เริ่มต้นจากพล.ต. วินธัย สุวารี โฆษกกอ.รมน.ชี้แจงว่า การแถลงข่าววันดังกล่าวเป็นการบอกว่า กอ.รมน.ตรวจพบเอกสารงานวิชาการข้อมูลคลาดเคลื่อนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร แต่ไม่ได้มีการแบนหรือการระงับให้จำหน่ายหนังสือ สำหรับในรายละเอียดการชี้แจงที่เกี่ยวข้องกับ “ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน” พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ เป็นผู้ชี้แจง ซึ่งนับว่าเป็นข้อกล่าวหาต่องานวิจัยและผู้วิจัยที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญของผู้วิจัยและข้อสงสัยในข้อมูลที่ผู้วิจัยรวบรวมมาใช้ในงานวิจัยจนตีพิมพ์ได้รับรางวัลและดัดแปลงมาเป็นหนังสือ รวมถึงความเป็นกลาง ซึ่งหลังจากที่พล.อ.นพนันต์ชี้แจงเสร็จ รศ.พวงทองได้อธิบายในรายประเด็น ชวนอ่านสรุปประเด็นและถอดคำต่อคำชี้แจงที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวหาดังกล่าว
ตารางประเด็นโต้แย้งระหว่างพล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้แทนกอ.รมน.และรศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้วิจัย
ประเด็น | พล.อ.นพนันต์ | รศ.พวงทอง |
เอกสารที่ใช้ในงานวิจัยไม่ใช่เอกสารชั้นต้น | “เอกสารทั้งหมดคือเอกสารชั้นรองในประเด็นสำคัญในการสัมภาษณ์คนแค่สิบคนแล้วมากล่าวเป็นกระทรวงมันไม่ได้ มันผิดหลักการวิจัยแล้วก็ข้อมูลส่วนใหญ่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ทำโดยผู้สื่อข่าว” | “ถ้าท่านบอกว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นเอกสารชั้นรองก็ขอให้ทราบว่าดิฉันอ้างส่วนใหญ่ข่าวหนังสือพิมพ์นั้นเป็นคำให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานของกองทัพและกอ.รมน.แทบทั้งสิ้น” |
การตีความงานข้ามเวลา | “การวิจัย…สังคมศาสตร์ตีความข้ามเวลาไม่ได้ จะเอาวิจัยสมัยจอมพล ป. มาอ้างอิงปัจจุบันไม่ได้ เพราะวิจัยฉบับนี้บอกว่าปี 57 ล่าสุดก็ต้องเอากอ.รมน.ปัจจุบัน กอ.รมน.ก่อนหน้ามันคนละหน่วยกันไม่เกี่ยวกันเลย” | “เรื่องตีความข้ามเวลาดิฉันไม่ได้บอกว่าหนังสือเล่มนี้โฟกัสแค่ปี 2557 หนังสือบอกบทแรกๆเน้นเรื่องสงครามเย็น อธิบายความเป็นมาว่าทำไมทหารจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการหลายๆอย่างเพราะมันเริ่มขึ้นในยุคสงครามเย็น” |
ขาดข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ตรง | “ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเก็บข้อมูลการตรวจสอบข้อมูลการสรุปผล ตั้งแต่กอ.รมน. กห. สมช. กองทัพบกไม่ได้เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลจากหน่วยที่จะวิจัยเลย มันก็ไม่รู้ทำมาได้ยังไงมันผิดหลักการ” | “กฎนี้ดิฉันไม่ทราบว่า ตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่ การทำงานวิจัยเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับหน่วยงานที่เราศึกษา ถ้าเราเห็นด้วยแล้วเราแค่ผลิตซ้ำความเชื่อความคิดคำพูดจากเอกสารที่หน่วยงานนั้นผลิตขึ้นมามันเป็นได้แค่งานโฆษณาชวนเชื่อ” |
ความเป็นกลาง | “ความรู้ความเป็นกลางที่สำคัญที่สุด… คือความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย มันต้องปรากฏให้เห็นอย่างของจุฬาฯ ถ้าอาจารย์สอนความมั่นคงจะถามว่าจบอะไรเชี่ยวชาญอะไร สอนอะไรมันเป็นแบบนั้น มันจะไปทำแบบข้ามวิชามันต้องใช้เวลาสะสมทีละเล็กน้อยขึ้นไปจนกระทั่งใช้เวลาเป็นสิบปีทำวิจัยข้ามสาขาได้” | “ถ้าความเป็นกลางหมายถึงว่าการศึกษาอะไรก็แล้วแต่ในหัวเราต้อง Blank ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ ไม่มีวิธีคิด ไม่มีกรอบในการวิเคราะห์เลย ไม่ใช่ ดิฉันไม่เป็นกลาง แต่ว่าในการศึกษาวิชาการมันต้องมีกรอบทฤษฎี” |
กอ.รมน.อ้างผิดระเบียบวิธีวิจัย ผู้เขียนไม่มีความเชี่ยวชาญ
พล.อ.นพนันต์กล่าวว่า งานเล่มนี้ประกอบด้วยด้วยหลายบทแต่บทที่[เกี่ยวข้อง]กับกอ.รมน.คือบทที่สาม มีข้อเสนอว่ากองทัพไทยแทรกซึมควบคุมสังคมไทยมีกอ.รมน.เป็นเครื่องมือแล้วก็มีข้อสรุปย่อยลงมาและการสร้างความชอบธรรมให้กองทัพ ในการชี้แจงประกอบด้วยห้าเรื่องหลักที่พล.อ.นพนันต์ระบุว่า สรุปมาจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ “พูดถึงประเด็นระเบียบวิธีวิจัยก่อนคือทำไมผมถึงบอกว่ามันผิดเพราะว่า หนึ่งคือการวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยสำคัญที่สุดต้องรู้เรื่องที่วิจัย ไม่รู้ไม่ได้ไม่รู้ต้องเก็บข้อมูลที่อื่นแล้วก็มีความเป็นกลาง นี่คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดในการวิจัยเชิงคุณภาพ ในเล่มนี้เป็นโจทย์วิจัยขนาดใหญ่จะวิจัยคนเดียวไม่ได้ ขนาดผมอยู่ในฟิลด์โดยตรงหลายๆเรื่องยังทำไม่ได้อยู่ อันนี้ปัญหาที่เกิดคือเอกสารทั้งหมดคือเอกสารชั้นรองในประเด็นสำคัญในการสัมภาษณ์คนแค่สิบคนแล้วมากล่าวเป็นกระทรวงมันไม่ได้ มันผิดหลักการวิจัยแล้วก็ข้อมูลส่วนใหญ่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ทำโดยผู้สื่อข่าว ไม่ได้ใช้เอกสารชั้นต้น…ผมเรียนว่าปัญหาเกิดจากเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ความมั่นคงเข้าถึงข้อมูลยาก หลักการวิจัยมีอยู่ว่า ไม่ควรวิจัยเรื่องที่เข้าถึงข้อมูลยาก…”
“…การตีความข้ามเวลาคือการวิจัย…สังคมศาสตร์ตีความข้ามเวลาไม่ได้ จะเอาวิจัยสมัยจอมพล ป. มาอ้างอิงปัจจุบันไม่ได้ เพราะวิจัยฉบับนี้บอกว่าปี 57 ล่าสุดก็ต้องเอากอ.รมน.ปัจจุบันกอ.รมน.ก่อนหน้ามันคนละหน่วยกันไม่เกี่ยวกันเลยอธิบายให้เห็นแล้วก็จะไม่ข้ามหน่วยวิเคราะห์ไม่ได้ จะไปสัมภาษณ์จังหวัดมาวิเคราะห์กระทรวงอันนี้ผิด แล้วก็การเอาข้อมูลรวมมาตีความอันนี้ไม่ได้ต้องเอาชั้นต้นมาอันนี้มันผิดหลักการวิจัย…ตัวอย่างให้เห็น ความรู้ความเป็นกลางที่สำคัญที่สุด นี่เอาตำรามากางเลย อันนี้เรื่องที่ทำมันอยู่สาขาของความมั่นคง (Security) ก็จะมีด็อกเตอร์อีกคนท่านติดเกษียณเพื่อนผมอันนั้นจบโทโดยตรงและเอกธรรมศาสตร์ ผมก็จบโท-เอกจากจุฬาฯผมเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง คือความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย มันต้องปรากฏให้เห็นอย่างของจุฬาฯ ถ้าอาจารย์สอนความมั่นคงจะถามว่าจบอะไรเชี่ยวชาญอะไร สอนอะไรมันเป็นแบบนั้น มันจะไปทำแบบข้ามวิชามันต้องใช้เวลาสะสมทีละเล็กน้อยขึ้นไปจนกระทั่งใช้เวลาเป็นสิบปีทำวิจัยข้ามสาขาได้ และตำแหน่งอาจารย์ อาจารย์หนึ่งท่านจะสอนเชี่ยวชาญอะไร ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ เพราะส่วนตัวผมเองก็ขั้นต้นก็คืออย่างก็เป็น Peer review ของม.รามเรื่องความมั่นคง…”
“…เมื่อวานก็มีสัมมนาของวปอ. ในประเทศมีอยู่สี่คนเรื่องความมั่นคงก็พอจะรู้แล้วก็เชี่ยวชาญด้านการจัดโครงการทำตำราการจัดโครงการ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในฟิลด์อยู่แล้วมีบทบาทวิชาการก็เสนองานสังคมศาสตร์แห่งชาติเมื่อสามปีที่แล้ว คือพอจะรู้ อันนี้การสัมภาษณ์เรื่องที่สำคัญที่สุด การเก็บข้อมูลเขาบอกว่าใช้ถึงร้อยละ 90 แต่ปรากฏว่าในงานวิจัยฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเก็บข้อมูลการตรวจสอบข้อมูลการสรุปผล ตั้งแต่กอ.รมน. กห. สมช. กองทัพบกไม่ได้เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลจากหน่วยที่จะวิจัยเลย มันก็ไม่รู้ทำมาได้ยังไงมันผิดหลักการ…บอกชัดเจนเลยว่าสัมภาษณ์สิบคนระดับจังหวัดแต่เวลาไปวิเคราะห์ วิเคราะห์กระทรวงมันคนละระดับกัน…การเก็บข้อมูลจะต้องเก็บข้อมูลจริงจังจากเอกสารชั้นต้น อย่างที่บอกว่า กอ.รมน. สร้างขยายมวลชน อพป.เอามาฉายให้ดูเลย อพป.เราไม่อยากฝึกนะ ทำหนังสือส่งไปปีที่แล้วให้มหาดไทยทบทวน เขาตอบกลับว่าขอให้กอ.รมน.ฝึก มีความจำเป็นมันเป็นอย่างงี้ทุกงาน คือนักวิจัยต้องไปเก็บเอกสารชั้นต้น”
“จริงๆงานนี้ต้องเข้าไปร่วมประชุมถึงจะได้คำตอบ นั่นคือปัญหาของงานนี้ พลเรือนกำหนดตั้งแต่ปี 2502 กระทรวงกลาโหม กอ.รมน. พวกนี้เป็นหน่วยปฏิบัติ เราไปสภาความมั่นคงแห่งชาติพลตรี พลโทต้องไปฟังพลเรือนวางแผนให้เรา เราเป็นหน่วยปฏิบัติ ไม่เข้าใจว่า ทำไมสังคมเข้าใจไปผิดขนาดนี้…การสังเกตเป็นการเก็บข้อมูลที่ดีที่สุดในการวิจัยเชิงคุณภาพการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลไม่มีขั้นตอนพวกนี้เลย คือท่านต้องไปสังเกตว่านายกฯสั่งการอันนี้ทำอะไรและความมั่นคงไปสั่งการหน่วยงานทั้งประเทศ คือถ้าท่านขาดขั้นตอนนี้มันคือปัญหา…นักวิจัยต้องตรวจสอบข้อมูล ไม่มีขั้นตอนที่เอาผู้ตรวจสอบนำตัวเองเข้าไปอยู่ คือต้องให้บุคคลที่อยู่ในประสบการณ์มาตรวจสอบว่า มันถูกไหมที่เราคิดมาอย่างนี้มันเป็นขั้นตอน ขั้นตอนก็คือว่าเก็บ ได้สมมติฐาน เก็บข้อมูลตลอด มันไม่มีพวกนี้เลย คือทำแบบเขียนคนเดียวมันก็เลยออกมาแบบนี้”
“จุดอ่อน ตำราเขาบอกว่า อย่าสรุปข้อมูลกว้างกว่าข้อมูลที่มีอยู่…จะเก็บข้อมูลต้องไปเปิดรายงานการประชุม เวลาผมทำงานวิจัยผมก็ไปเอาสภาก็มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไปอ้างพ.ร.บ.มา เอกสารชั้นต้นจริงแต่ข้อความที่เหลือเขียนเอง…ไม่มีข้อมูลรองรับ…สปายแวร์ กอ.รมน.ไม่มีสปายแวร์ ไม่มี ต้องหากัน โอ้โหมันไม่มีจริงๆไม่มี เราพยายามหามันมาจากไหนไม่มี เราไม่มีที่เกี่ยวข้องพวกนั้นคือนักวิจัยจะต้องเข้ามาเก็บข้อมูล อย่างกรณีที่เลขาสกมช. ท่านเขียนว่า เลขาสกมช.เป็นนายพลกองทัพบกเพราะฉะนั้นสกมช.เป็นกลไกควบคุมไซเบอร์ คือถ้าอยากรู้ข้อมูลท่านต้องศึกษาสกมช. จะบอกว่าเป็นทหารแล้วควบคุมไม่ใช่…”
โต้รายประเด็นศึกษาความมั่นคงตั้งแต่ยุคก่อน ’40 สับงานวิจัยไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ
รศ.พวงทอง ภวัคพันธุ์ ผู้เขียนชี้แจงข้อกล่าวหาของพล.อ.นพนันต์เป็นประเด็นดังนี้ “เรื่องแรกก่อนเลยเรื่องความเป็นกลางถ้าความเป็นกลางหมายถึงว่าการศึกษาอะไรก็แล้วแต่ในหัวเราต้อง Blank ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ ไม่มีวิธีคิด ไม่มีกรอบในการวิเคราะห์เลย ไม่ใช่ ดิฉันไม่เป็นกลาง แต่ว่าในการศึกษาวิชาการมันต้องมีกรอบทฤษฎี กรอบทฤษฎีที่ใช้ก็คือ Civil control ในสังคมประชาธิปไตย ทหารจะต้องอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยถูกตรวจสอบควบคุมโดยหน่วยงานองค์กรที่มาจากประชาชนจากการเลือกตั้ง จากรัฐบาลพลเรือน แต่ถ้าพบว่าทหารในประเทศนั้นๆค่อนข้างมีอิสระในการดำเนินการหลายอย่าง รวมถึงบางครั้งก็มีการทำรัฐประหารและเป็นผู้ใช้อำนาจเสียเองในการบริหาร…ดิฉันใช้หลักการนี้ในการวิเคราะห์บทบาทของทหารแล้วก็บทบาทของรัฐบาลพลเรือน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยกันว่าความเป็นกลางนี้ไม่ทราบว่าความเป็นกลางของท่านพล.อ.นพนันต์คืออะไร วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยเท่ากับไม่เป็นกลางเลยหรือไม่”
“อันที่สองเรื่องสัมภาษณ์สิบคนดิฉันคิดว่า ท่านคงต้องกลับไปดูใหม่ ส่วนที่ดิฉันสัมภาษณ์สิบคนนั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกจับตามองหรือถูกเรียกไปปรับทัศนคติหรือชาวบ้าน ดิฉันไม่ได้เอาความเห็นของสิบคนนั้นมาวิเคราะห์ว่าโครงสร้างของกอ.รมนเป็นอย่างไร แต่เป็นคนที่หลังรัฐประหาร 2557 ได้รับผลกระทบ เป็นคนเสื้อแดงที่อยู่ในทางภาคอีสาน เป็นผู้นำนปช. เป็นคนที่ถูกเรียกปรับทัศนคติ รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่เข้าไปอบรมตามโครงการของกอ.รมน.ที่ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเข้าใจด้วยว่า สิบคนที่สัมภาษณ์นั้นคุณกลับไปดูไม่ได้ให้มาวิเคราะห์โครงสร้างการทำงานของกอ.รมน.”
“เอกสารชั้นรองดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเอกสารชั้นรอง แน่นอนในการวิจัยมันมีเอกสารชั้นรองแน่ แต่ขอให้ไปดูนับชิ้นได้เลย หนังสือเล่มนี้ใช้เอกสารอ้างอิงเฉพาะในเล่มนี้พิมพ์ออกมา 28 หน้า ดิฉันรู้ว่า ดิฉันกำลังทำเรื่องที่ sensitive มากและเป็นเรื่องความมั่นคงซึ่งต้องระวังตัวอย่างมาก มีคนวิจารณ์บอกว่าอาจารย์แทบจะไม่ได้เขียนอะไรเองเลย อาจารย์ยกเอกสารของทางราชการมาใช้เยอะมากๆส่วนใหญ่ดิฉันปล่อยให้เอกสารพูด ไปดูเอกสาร มีทั้งกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คำแถลง ถ้าท่านบอกว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นเอกสารชั้นรองก็ขอให้ทราบว่าดิฉันอ้างส่วนใหญ่ข่าวหนังสือพิมพ์นั้นเป็นคำให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานของกองทัพและกอ.รมน.แทบทั้งสิ้น มีของนักการเมืองบ้างน้อยมาก…ข่าวหนังสือพิมพ์ที่แถลงโดยตัวแทนของทหารเองเยอะมากๆที่ใช้รวมถึงเว็บไซต์คลิปต่างๆที่หน่วยงานกอ.รมน.เองโหลดขึ้นไปบนยูทูบก็เป็นเว็บไซต์ของกอ.รมนทั้งนั้น หรือว่ามวลชนที่ผ่านการอบรมกอ.รมน.ที่เอาขึ้นไป”
“เรื่องตีความข้ามเวลาดิฉันไม่ได้บอกว่าหนังสือเล่มนี้โฟกัสแค่ปี 2557 หนังสือบอกบทแรกๆเน้นเรื่องสงครามเย็น อธิบายความเป็นมาว่าทำไมทหารจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการหลายๆอย่างเพราะมันเริ่มขึ้นในยุคสงครามเย็น แนวทางการเมืองนำการทหาร ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความมั่นคง มันเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ในชนบทแต่เมื่อสงครามเย็นยุติลง ภัยคอมมิวนิสต์หมดลงแล้ว ภารกิจเหล่านี้ไม่ได้หยุดด้วยแต่มันถูกตีความให้กว้างขึ้นเป็นเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับความยากจน เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ใช้การแบ่งเป็นสีเสื้อความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองของประชาชน ภัยความมั่นคงมันถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น…ดิฉันไม่เข้าใจว่า ใช้เอกสารข้ามยุคข้ามเวลานี้คืออะไร ดิฉันใช้เอกสาร ใช้ทั้งงานวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทกอ.รมน.ในยุคสงครามเย็น เช่นงานของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช งานของอาจารย์สุจิต บุญบงการอธิบายความเป็นมาของกอ.รมน.ตั้งแต่ยุคก่อตั้งมาในปี 2508 ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ไม่ได้อธิบายตรงนี้จะไม่มีวันเข้าใจว่า พัฒนาการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกองทัพ มันพัฒนามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ดิฉันขอให้ท่านได้กลับไปอ่านอีกทีหนึ่งเวลาที่เราพูดถึงยุคสงครามเย็นนั้นมันคืออะไร ฉะนั้นสิ่งที่อธิบายคือคอนเซ็ปต์ด้วยความมั่นคงของกองทัพของกอ.รมน.มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในยุคคอมมิวนิสต์ ภัยคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามใหญ่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว ภัยคุกคามมันเปลี่ยนไปแล้วในทัศนะการตีความกองทัพและกอ.รมน.”
“ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยข้ามวิชา ข้ามศาสตร์ก็เป็นเรื่องตลก คือนักวิชาการไม่จำเป็นที่จะต้องทำเรื่องเดียวไปตลอดชีวิต คุณไปดูนักวิชาการฝรั่งบางทีเขาทำหลายเรื่องที่หลากหลาย เวลาที่เขาใส่Credential ของเขาเข้าไปในเว็บไซต์หรือว่าในโปรไฟล์ของตัวเอง เขาจะบอกเลยว่าเขาทำหลายเรื่อง วิจัยหลายเรื่องเพราะบางทีทำอยู่เรื่องเดียวตลอดชีวิตเนี่ยเราเป็นนักวิชาการคนละ 30-40 ปีมันน่าเบื่อมากๆ แล้วถามว่า ถ้าทำแล้วงานมันออกมาไม่ดีมันก็ไม่มีคนพิมพ์ให้ มันก็ไม่มีใครอ่าน…คือไม่อยากจะคุยนะคะไอ้งานหนังสือเรื่องปราสาทพระวิหารซึ่งก็แปลมาจากภาษาอังกฤษที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอเชียใต้เอเชียใต้ศึกษาที่สิงคโปร์ ดิฉันก็ได้รับรางวัลงานวิจัยในระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติ แล้วก็จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเป็นงานชิ้นแรกที่ดิฉันทำเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารซึ่งมันเป็นเรื่องการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายทั้งนั้น ท่านกลับไปค้น เว็บไซด์ดูก็ได้ การถกเถียงเรื่องนี้ฉันเถียงกับฝ่ายเสื้อเหลืองมาตลอดแล้วเถียงในเรื่องข้อกฎหมาย แล้วหลายจุดทีเดียวที่ฉันเถียงที่ดิฉันเขียนมันยืนยันว่าถูก ดิฉันสามารถตีความกฎหมายได้โดยที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาเพราะกฎหมายไม่ได้ถูกผูกขาด ไม่ควรจะผูกขาดโดยนักกฎหมายเท่านั้น บางทีนักกฎหมายก็มีความลำเอียง มีความอคติจนมองไม่เห็นปัญหาดิฉันเตือนกรณีปราสาทพระวิหารว่าทำไปแล้วเราจะเสียทีดินแดนเพิ่มขึ้นและมีโอกาสชนะยากมากแต่มันกลับไปที่ศาลโลกอีกครั้ง ซึ่งก็ถูกฝ่ายทหารที่ทำเรื่องเขตแดนก็รู้ดีว่าการตัดสินของศาลโลกครั้งสุดท้ายเราเสียพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ดิฉันไม่อยากจะย้ำเรื่องนี้เพราะเดี๋ยวมันจะกลายเป็นประเด็น”
“มันไม่ใช่ว่า เราเคยทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วเราจะข้ามไปทำอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้ เอาเข้าจริงๆ ดิฉันทำเรื่องสงครามเย็นมาตั้งแต่ปี 1998 ไปเป็นนักวิจัยสมทบที่มหาวิทยาลัยเยล ปี 1998-1999 ก็ทำเรื่องสงครามเย็นกลับมาก็ทำเรื่องสงครามเวียดนาม เขียนหนังสือเรื่องการต่างประเทศไทยสงครามเย็นซึ่งก็เกี่ยวข้องกับกองทัพ ไม่ใช่ว่าดิฉันแบบเป็นพวกแบบไม่มีความรู้เรื่องการเมืองไทย ไม่มีความรู้เรื่องกองทัพเลย…ผู้เชี่ยวชาญที่ท่านยกมานั้นมีงานมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับมากแค่ไหน”
“เรื่องที่ว่าถ้าทำวิจัยแล้วควรจะต้องสอบถามคนที่อยู่ในงานนั้นก่อนเพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลจริงกับไม่ กฎนี้ดิฉันไม่ทราบว่า ตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่ การทำงานวิจัยเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับหน่วยงานที่เราศึกษา ถ้าเราเห็นด้วยแล้วเราแค่ผลิตซ้ำความเชื่อความคิดคำพูดจากเอกสารที่หน่วยงานนั้นผลิตขึ้นมามันเป็นได้แค่งานโฆษณาชวนเชื่อ แล้วมันไม่ใช่งานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย ในระดับมหาวิทยาลัยถ้าคุณไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ถ้าทำเพื่อที่จะยกย่องหน่วยงานที่ที่ตัวเองอยู่ เช่น ถ้าดิฉันอยู่จุฬาฯแล้วบอกจุฬาฯดีมากก็อย่าทำดีกว่าเพราะว่าเขาทำกันอยู่แล้วเป็นปกติประจำวัน”
“ท่านบอกว่า สมช….เป็นหน่วยที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ กอ.รมน.เป็นหน่วยปฏิบัติเท่านั้น ใช่ ในทางในทางเอกสารอย่างเป็นทางการ ถ้าไปดูเอกสารก็จะบอกว่า สมช.มีหน้าที่ในการกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ระดับชาติแล้วก็กอ.รมน.ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายของสมช. ในทางบนกระดาษ ใช่ แต่ทางปฏิบัติมันก็ไม่ใช่เช่นนั้นซะทีเดียว ถ้าเราไปดูในอำนาจหน้าที่ของกอ.รมน.ในพ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 มาตรา 7 (2) ระบุว่า กอ.รมน.มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและการดำเนินการต่อครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ แต่กระนั้นแม้กระทั่งคำนี้ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าทุกอย่างที่กอ.รมน.ทำแผนงานทั้งหลายแหล่นั้นได้เสนอให้ครม.และสมช.พิจารณาตรวจสอบจริงหรือไม่ เช่น ในการยื่นฟ้องร้องนักวิชาการเช่นอาจารย์ชลิตา อาจารย์อิลยาส น่าจะอยู่ในแบล็คลิสต์หรือว่า นักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างอาจารย์ชลิตาถูกฟ้องมาตรา 116 ตอนที่ขึ้นเวทีอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่รู้ว่าการปฏิบัติอย่างนี้ กอ.รมน.ทำเองหรือว่าสมช.ได้อนุมัติแล้วและเห็นว่าอันนี้ถูกต้องตามแนวทางของกอ.รมน.เรื่องความมั่นคง สมช.รู้หรือไม่เช่นมีการอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านให้กับอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันนี้เป็นแนวนโยบายของสมช.หรือว่ากอ.รมน.ทำเองโดยอิสระ หลักสูตรการอบรมมวลชนเยอะแยะกระทรวงทบวงลงไปถึงระดับโรงเรียน วิทยาลัย ราชภัฏฯ มหาวิทยาลัย เป็นการผลักดันนโยบายอย่างเป็นอิสระหรือว่าสมช.เห็นด้วยสนับสนุนรับรู้สิ่งเหล่านี้”
“ดิฉันได้อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เป็นกรรมการสอบ เขาส่งมาให้อ่าน มหาวิทยาลัยที่นิวซีแลนด์ทำเรื่องการฝึกอบรม รด.นักศึกษาวิชาทหาร ตอนหลังก็พบว่า เอาเวลาในการฝึกการทหารนั้นมาให้เด็กมานั่งเรียนในห้องแล้วก็อบรมเนื้อหาหนึ่ง เนื้อหาคือให้เด็กยอมรับบทบาทของทหารในทางการเมือง เรื่องความมั่นคงภายใน รวมถึงนโยบายเห็นว่าสนับสนุนให้มีเนื้อหาที่ทำให้เด็กเห็นว่าการที่ทหารเข้ามามีบทบาทในนโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะมีอะไรประเภทนี้ ท่านทำเอง ท่านมีอิสระในการทำ หรือว่า สมช.และครม.รับรู้ คือประเด็นเหล่านี้ที่พูดถึงนำไปสู่ประเด็นใหญ่ที่จะบอกว่า ดิฉันบอกว่ากอ.รมน.นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองของกองทัพ อันนี้ก็เป็นประเด็นใหญ่ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ได้เพิ่งพูด จริงๆแล้วคอนเซ็ปต์เรื่องรัฐซ้อนรัฐพูดกันมาตั้งนานแล้วอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของพล.อ.นพนันต์เองก็พูด นักการเมืองก็พูด นักวิชาการหลายคนก็พูด อันนี้ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมีปัญหากับดิฉันมาก อย่างน้อยสิบปีที่ผ่านมามีการพูดเรื่องนี้กันเยอะมาก”
“คราวนี้ประเด็นนี้ที่ว่ากอ.รมน. เป็นเหมือนกลไกทางการเมืองของกองทัพ ในการควบคุมทางการเมืองจริงหรือไม่ ต้องไปดู คือมันมีประเด็นในแง่ของตัวพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ จริงๆแล้วมีมาตั้งแต่การก่อตั้งกอรมนในปี 2508 แล้วที่อนุญาตให้กอ.รมน.นั้นสามารถที่จะทำหน้าที่ในการที่จะอำนวยการประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหมายความว่าอะไรหมายความว่าคุณสามารถที่จะ ใช้คำว่าประสานงานแล้วกันหรืออาจจะสั่งการก็ได้บอกว่าต้องการให้มีการอบรมเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงภายในกับนักเรียนในระดับมัธยมทั่วประเทศคุณก็ไปตามจังหวัดต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการก็จะต้องให้ความร่วมมือในการที่จะทำหน้าที่ในการระดมนักเรียน นิสิต นักศึกษามาฟังการอบรมของของพวกท่าน ในเรื่องอื่นๆด้วยตอนหลังก็มีการขยายไปถึงการจัดอบรมอสม. ท่านเองท่านก็มีมวลชนของท่านเองเช่นไทยอาสาป้องกันชาติ หรือว่าสามารถที่การอบรมสมาชิกของอาสารักษาดินแดนซึ่งจริงๆแล้วสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็ทำโดยกอ.รมน.บ่อยครั้งอะไรประเภทนี้ ถ้าสมมติ มันมีแต่หน่วยงานทหารเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้ ท่านอาจจะบอกว่าอำนาจกอ.รมน.อนุญาตให้ทำได้ แต่ถามว่า หน่วยงานอื่นทำได้ไหมถ้าอยากจะให้ทหารมานั่งฟังการอบรมเรื่องประชาธิปไตยก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการ ถามว่าแล้วทำไมไม่โอนอำนาจหน้าที่นี้ให้กับมหาดไทยทำมาตั้งนานแล้วจริงๆตั้งแต่สงครามเย็น ทั้ง ๆที่ในระดับของการปกครองท่านอาจจะบอกว่าทหารมีกำลังพลของตัวเองกระจายอยู่ทั่วประเทศทำได้สะดวก แต่จริงๆแล้วมหาดไทยมีมากกว่าทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด ตำบลลงไปถึงหมู่บ้านทำไมไม่ใช้กลไกมหาดไทยในการที่จะทำหน้าที่ในการประสานงานสั่งการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในเพราะจริงๆแล้วมหาดไทยก็มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องความมั่นคงภายใน เพราะอะไร? เพราะว่าทหารเองต้องการที่จะมีบทบาทควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงภายในของประเทศ อันนี้เป็นการตีความของดิฉัน ท่านจะบอกถ้าไม่เห็นด้วยก็ได้แต่ดิฉันคิดว่าโดยข้อมูลหลักฐานที่ทำมาดิฉันมีสิทธิที่จะตีความแบบนี้”
ในเรื่องสปายแวร์ “ดิฉันไม่ได้บอกว่า กอ.รมน.เป็นคนทำแต่มีความเชื่อ…เพกาซัสสปายแวร์ดิฉันเองโดนเจาะ 5 ครั้ง ดิฉันอธิบายว่า ในฐานะที่ว่าในยุคนี้เวลาที่เราพูดเราทำให้ความมั่นคงภายในมันขยายมากขึ้นภัยคุกคามของประเทศของรัฐมันกลายเป็นประชาชน ปรากฏการณ์หนึ่งก็คือการใช้สปายแวร์เจาะนิสิต นักศึกษา นักกิจกรรม รวมถึงวิชาการ ทำไมถึงเห็นดิฉันเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ดิฉันไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำแต่ก็มีสิทธิที่สันนิษฐานว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงดิฉันไม่ได้พูดกอ.รมน.เป็นคนทำ…ประเด็นในหนังสือเรื่องนี้ไม่ได้มีกอ.รมน.อย่างเดียว ดิฉันพูดถึงว่า หน่วยงานกองทัพเองตอนหลังเองก็มาทำงานที่เกี่ยวกับพลเรือนมากยิ่งขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น คุณไปดูกิจการพลเรือนนั้นเลย นี้ไม่ได้มีแค่กอ.รมน.ทุกเหล่าทัพมีกิจกรรมพลเรือนแล้วขยายไปมากยิ่งขึ้น….”
ย้อนฟังการชี้แจงทั้งหมดได้ที่นี่