จับตาคำพิพากษาอุทธรณ์ คดี ม.112 ของทิวากร กรณีเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112

IMG_5013

พรุ่งนี้ (วันที่ 14 สิงหาคม 2567) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดทิวากร วิถีตน ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในหมายเลขคดีดำที่ อ.399/2564 ทิวากรถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพที่เขาสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์” และโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อยสี่แกนนำราษฎร ทิวากรให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยยืนยันว่า การกระทำของเขาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้ดูหมิ่นด่าหยาบคาย และไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใด ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง 

รู้จักทิวากรเจ้าของเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

ทิวากร วิถีตน เป็นอดีตวิศวกรชาวจังหวัดขอนแก่น วัน  9 กรกฎาคม 2563 ภายหลังการโพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มีจิตแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามาพูดคุยที่บ้านพักของทิวากร หลังจากนั้นเขาก็หายตัวไปจากเฟซบุ๊ก ภายหลังทราบว่า เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 โดยญาติของทิวากรเล่าว่า ตอนถูกพาตัวไป เจ้าหน้าที่ได้ทำการมัดมือ จากนั้นทิวากรถูกควบคุมไว้ในห้องที่มีลูกกรงและยังต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ ซึ่งเขาต้องตอบคำถามเพื่อประเมินสภาพจิตใจ

ระหว่างนี้นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งไปรวมตัวที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทิวากรโดยมีการนำป้ายเขียนข้อความ “ศรัทธาบังคับกันไม่ได้” ไปแขวนที่หน้าป้ายโรงพยาบาลด้วย ต่อมาทิวากรได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 รวมการคุมขังประมาณ 14 วัน  ทั้งนี้ผลตรวจระบุว่า เขาไม่ได้เป็นโรคทางจิตแต่อย่างใด

ในปี 2564 ภายหลังสี่แกนนำราษฎรในคดีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไม่ได้รับการประกันตัว ทิวาการตัดสินใจโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเตือน “ผู้มีอำนาจ” เรื่องผลเสียของการนำมาตรา 112 มาใช้ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา เช่น “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” 

สู่จำเลยคดี 112 ที่ท้ายสุดศาลชั้นต้นยกฟ้อง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 4 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 7.00 น. ทิวากรถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย เข้าจับกุมตัวจากบ้านพักในอำเภอเมืองขอนแก่น ไปยัง สภ.ท่าพระ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กการกระทำที่ถูกกล่าวหาแบ่งเป็นสามข้อคือ หนึ่งจากการใช้เสื้อสกรีนว่า  “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และอีกสองข้อจากการโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์หยุดใช้มาตรา 112 และปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมทิวากรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่า กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ต้องการให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้คนในชาติปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 

วันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาว่า การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้  พิพากษายกฟ้อง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage