สว.67 ผู้สมัครน้อย เพราะคุณสมบัติซับซ้อน และกกต.ไม่อำนวยความสะดวก

ในเดือนมีนาคม 2567 อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 โดยประมาณการณ์ว่าจะมีผู้สมัครไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคน แต่หลังเปิดรับสมัครห้าวันตั้งแต่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ผลปรากฏว่ามีผู้สมัคร 48,117 คน  ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นเท่าตัว และหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติแล้วมีผู้ที่คุณสมบัติไม่ผ่านอีก 2,020 คน

จำนวนผู้สมัครที่น้อยกว่าที่คาดการณ์สะท้อนถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกสว. ครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้สว. ชุดต่อไปมาจากการเลือกของคนจำนวนน้อยมาก และไม่ได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง ซึ่งจำนวนผู้สมัครที่น้อยสาเหตุหลักมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎกติกาการสมัครสว. ให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อพรรคการเมืองถูกห้ามไม่ให้มีส่วนร่วมหรือแทรกแซงการเลือกสว. ก็ทำให้นักการเมืองและรัฐบาลไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้ ซึ่งทำให้ประเด็นการเลือกสว. เงียบงันลงไปอีก

นอกจากนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้สมัครน้อยยังเป็นผลมาจากกติกาการเลือกสว. ครั้งนี้เองที่สร้างเงื่อนไขคุณสมบัติผู้สมัครต้องห้ามที่หลากหลายและซับซ้อน กีดกันคนจำนวนมากไม่ให้สามารถสมัครได้ และกกต. ซึ่งควรจะใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่อำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครได้มีโอกาสสมัครอย่างเต็มที่แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในทางตรงกันข้าม เป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ยากขึ้น

สมัครน้อยเพราะคุณสมบัติต้องห้ามมีเยอะมาก

คุณสมบัติของผู้สมัครสว. เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 13 และมาตรา 14 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามถึง 26 ข้อ

ในระหว่างที่สำนักงานกกต. ออกประกาศเตือนผู้ที่สนใจสมัครสว. ว่า หากสมัครโดยไม่มีคุณสมบัติมีความผิดและมีโทษจำคุก เมื่อมีประชาชนติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการตีความคุณสมบัติต้องห้าม กกต. ก็ไม่ให้ความชัดเจนว่า กรณีมีคุณสมบัติอย่างไรจะสมัครได้หรือไม่ เช่น กรณีมีข้อปรึกษาว่าตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ กกต. ไม่ตอบคำถามและแจ้งให้ปรึกษากับหน่วยงานต้นสังกัด กรณีมีข้อปรึกษาว่า ตำแหน่งผู้ช่วยสส. เป็นลักษณะต้องห้ามหรือไม่ กกต. ไม่ตอบคำถามและแจ้งให้หารือไปยังพรรคการเมืองต้นสังกัด หรือกรณีการวินิจฉัยว่าใครถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ ก็มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปมา ทำให้คนที่มีหุ้นในกิจการต่างๆ ที่ในเอกสารจดทะเบียนมีข้อความเกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชนไม่กล้าลงสมัครสว. ในรอบนี้ด้วย

นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในพ.ร.ป.สว.ฯ แล้ว ยังมีคุณสมบัติอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายอื่น คือ ผู้สมัครสว. ทุกคนต้องไปเลือกตั้งครบทุกครั้งในระยะสองปีนับถึงวันสมัคร ซึ่งหากไม่ได้ไปเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่ไปใช้สิทธิ ก็จะโดนตัดสิทธิตามกฎหมายเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องแต่ละฉบับ เนื่องจากคุณสมบัติข้อนี้ไม่ได้เขียนระบุไว้ในที่เดียวกันกับเรื่องอื่นๆ จึงทำให้ผู้สมัครหลายคนไม่ทราบและไม่ได้ตรวจสอบ โดยเฉพาะหลายพื้นที่ที่มีการ “เลือกตั้งซ่อม” สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เป็นการเลือกตั้งขนาดเล็ก มีการประชาสัมพันธ์และหาเสียงน้อย มีคนไปใช้สิทธิน้อยมากๆ หลายคนไม่รู้ว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจึงไม่ได้ไปใช้สิทธิและทำให้สมัครสว. ไม่ได้

สมัครน้อยเพราะกกต. ไม่อำนวยความสะดวก

ท่ามกลางคุณสมบัติต้องห้าม และเงื่อนไขมากมายที่เขียนไว้ในพ.ร.ป.สว.ฯ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่อำนาจของกกต. ที่จะแก้ไขได้ แต่หากกกต. ใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ตามกรอบของกฎหมายทั้งหมด ก็จะทำให้มีผู้มีโอกาสสมัครสว. มากกว่านี้ได้ แต่กกต. กลับไม่ได้พยายามทำซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้สมัครอย่างชัดเจน

ตามพ.ร.ป.สว.ฯ กกต. มีอำนาจประกาศวันรับสมัครได้ภายใน 15 วันนับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสว. แต่การเตรียมงานและเตรียมการจัดการต้องเริ่มก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น กกต. ทราบวันที่จะเป็นวันรับสมัครอยู่แล้วแต่ไม่บอกให้ประชาชนและผู้สมัครทราบหรือเตรียมตัวล่วงหน้าได้ เมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ในวันที่ 13 พฤษภาคม กกต. จึงประกาศวันรับสมัครเป็นวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 หรือเป็นการบอกล่วงหน้าเพียงเจ็ดวันเท่านั้น และสำหรับการกำหนดวันเลือกแต่ละระดับ กฎหมายวางช่วงเวลาที่กกต. สามารถกำหนดวันเลือกได้ค่อนข้างกว้าง ในความเป็นจริง กกต. ก็ต้องเตรียมการ เตรียมสถานที่ และเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ไว้นานหลายเดือน แต่กลับไม่ประกาศให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า เป็นคณะรัฐมนตรีที่ประกาศวันเลือกอย่างเป็นทางการก่อนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เมื่อประกาศแล้วผู้ที่เตรียมสมัครหลายคนกลับติดภารกิจอื่นในวันเลือกแล้วจึงไม่สามารถสมัครเข้าร่วมกระบวนการได้

ตามพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 77 การชักชวนให้ผู้อื่นมาสมัครสว. จะเป็นความผิดต่อเมื่อมีการจูงใจโดยให้ทรัพย์สิน หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือจัดเลี้ยงอาหาร หรือจัดมหรสพ หรือมีการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ให้คนอื่นมาสมัครสว. แต่การเชิญชวน ชักชวน โฆษณา หรือรณรงค์ไม่เป็นความผิด และเป็นสิ่งที่ประชาชนควรช่วยกันทำเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกสว. ให้เป็นที่รับรู้กันได้มากที่สุด แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เฟซบุ๊กของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสภาพที่มีข้อความว่า “ไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนให้บุคคลสมัครเป็นสว. ได้” ทั้งที่กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามเช่นนั้น โดยมีประชาชนแชร์ต่อกันจำนวนมากแต่กกต. ไม่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อท้ายโพสนี้ได้ การกระทำของกกต. เช่นนี้จึงมีเจตนาและส่งผลให้เกิดความกลัว ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะทำงานรณรงค์ส่งต่อข้อมูลเพื่อเชิญชวนให้คนอื่นมาสมัครเป็นสว. และทำให้บรรยากาศในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเปิดรับสมัครสว. เต็มไปด้วยความเงียบงัน

ตามพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 12(2) กกต. สามารถกำหนดวันรับสมัครได้ตั้งแต่ห้าถึงเจ็ดวัน ซึ่งหากกำหนดวันรับสมัครหลายวันก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาสมัครได้มาก แต่กกต. กลับเลือกเปิดรับสมัคร “น้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้ คือ ห้าวัน ตั้งแต่ 20-24 พฤษภาคม 2567 โดยวันรับสมัครเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่รวมเสาร์อาทิตย์ แม้ว่าจะมีวันรับสมัครหนึ่งวันที่เป็นวันหยุดราชการ คือ วันที่ 22 พฤษภาคม แต่ไม่ใช่เอกชนทุกแห่งจะหยุดทำงานในวันดังกล่าว ซึ่งหากกกต. กำหนดวันรับสมัครเจ็ดวันให้ครอบคลุมวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย ก็จะสะดวกสำหรับประชาชนที่ทำงานราชการ หรือทำงานเต็มวันในวันทำงานให้สามารถเดินทางไปยังอำเภอที่ต้องการสมัครในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ได้ แต่กกต. ก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกโดยเปิดโอกาสเช่นนั้น

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post