กันยายน 2559: ศาลฎีกาสั่งจำคุกคนขายหนังสือต้องห้ามผิดม. 112 สองปี/ เปิดคำพิพากษา “อานดี้ ฮอลล์” และสถานการณ์นักปกป้องสิทธิที่น่าเป็นห่วง

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 
30 กันยายน
2559
ยอดรวมเฉพาะเดือนกันยายน
2559
คนถูกเรียกรายงานตัว 988
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
588 10
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 293
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 68 8
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
69 1
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนกันยายน 2559
49

 
 
เดือนกันยายนมีความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพที่น่าสนใจเกิดขึ้นสองคดี ได้แก่ คดี 112 ของ “พิภพ” คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญา และคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยไปเวลา 3 ปีแต่ให้รอลงอาญาไว้สองปี นอกจากนี้ก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ยุติการจัดกิจกรรมเปิดตัวรายงานการซ้อมทรมานในประเทสไทยของแอนเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ไม่มีใบอนุญาตทำงานในไทย นอกจากนี้ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 55/2559 ยุติการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือนในคดีที่เกิดใหม่แต่คดีเก่าให้ศาลทหารพิจารณาต่อไป
 

ความเคลื่อนไหวคดี 112 ศาลฎีกาสั่งจำคุกคนขายหนังสือกงจักรปีศาจสองปี/ ปล่อยสามนักโทษคดี 112   

ฎีกามาใหม่ คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ
 
“พิภพ” จำเลยในคดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจถูกจับกุมในปี 2549 ขณะขายหนังสือกงจักรปีศาจในงานชุมนุมเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินีและถูกนำตัวไปสอบสวนที่สน.ก่อนได้รับการประกันตัวในวันเดียวกัน สำนวนคดีของ “พิภพ” อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112 ของตำรวจตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2556 ตำรวจจึงส่งสำนวนให้อัยการพร้อมความเห็นสั่งฟ้อง 
 
คดีของ “พิภพ” มีการสืบพยานในช่วงต้นปี 2557 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในเดือนเมษายน 2557 โดยระบุเหตุผลว่า แม้หนังสือกงจักรปีศาจจะมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่โจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยรู้เนื้อหาของหนังสือ จึงต้องยกฟ้องจำเลย อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 2558 ศาลอุทธรณ์ก็กลับคำพิพากษาจากยกฟ้องเป็นลงโทษจำคุก “พิภพ” เป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญาโดยศาลอุทธรณ์ระบุว่า “พิภพ” มีประสบการณ์ขายหนังสือมานานทั้งยังขายหนังสือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่ตามตลาดนัดทั่วไป จึงเชื่อว่า “พิภพ” น่าจะล่วงรู้เนื้อหาของหนังสือ “พิภพ” จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกพิพากษาจำคุกสองปีโดยไม่รอลงอาญา “พิภพ”จึงอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาโดยระหว่างรอคำพิพากษา “พิภพ” ได้รับการประกันตัว
 
 
“พิภพ” เดินเข้าห้องควบคุมหลังฟังคำพิพากษา
 
วันที่ 15 กันยายน 2559 ศาลฎีกานัด “พิภพ” ฟังคำพิพากษาโดยศาลมีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก “พิภพ” เป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “พิภพ”เป็นผู้มีประสบการณ์ ประกอบกับมีข้อความว่ากรณีสวรรคตปรากฎบนหน้าปกหนังสือ “พิภพ”จึงน่าจะเฉลียวใจบ้างว่าเป็นหนังสืออะไร “พิภพ” จึงมีความผิด สำหรับเหตุที่ไม่รอลงอาญาโทษจำคุกให้ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “พิภพ”มุ่งแสวงหากำไรจากการขายหนังสือโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา
 
ดูรายละเอียดคดีของ “พิภพ” ที่นี่
 
3 นักโทษได้รับอิสรภาพ
 
ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112 ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนคือการปล่อยตัวนักโทษคดี 112 สามคนได้แก่ กิตติธน คฑาวุธ และ “ธเนศ” โดยทั้งสามได้รับการลดจำนวนวันรับโทษ จนอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัว การลดจำนวนวันรับโทษของทั้งสามเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 
 
กิตติธนถูกจับในเดือนสิงหาคม 2556 และถูกกล่าวหาทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด internet to freedom รวมทั้งถูกกล่าวหาว่าพยายามทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการครอบครองภาพตัดต่อที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์กับข้อความที่มีถ้อยคำหยาบคายอยู่ในคอมพิวเตอร์แต่ยังไม่ได้เผยแพร่เพราะถูกจับเสียก่อน 
 
ตลอดการพิจารณาคดีกิตติธนถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในชั้นศาลกิตติธนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 กิตติธนถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา  5 ปี 20 เดือน กิตติธนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 7 กันยายน 2559 รวมเวลาที่ถูกคุมขัง 1105 วัน 
 
คฑาวุธมีชื่อในคำสั่งคสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลรายงานตัว คฑาวุธเข้ารายงานตัวกับคสช.ในวันที่ 3 มิถุนายน 2559 เขาถุกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วันหลังจากนั้นจึงถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าจัดทำคลิปเสียงที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
 
คฑาวุธถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 และถูกควบคุมตัวตลอดการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 คฑาวุธให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลทหารมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลาห้าไปในวันเดียวกัน คฑาวุธได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 7 กันยายน 2559 รวมเวลาถุกจองจำ 822 วัน  
 
อ่านบรรยากาศการปล่อยตัวกิตติธนและคฑาวุธ 
 
“ธเนศ” ถูกจับตัวที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 เขาถูกกล่าวหาว่าส่งลิงค์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯหนึ่งลิงค์ไปที่อีเมลของชาวต่างชาติคนหนึ่ง หลังถูกจับกุมตัว “ธเนศ”ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกในค่ายทหารเป็นเวลาเจ็ดวันก่อนถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯในวันที่ 9 มิถุนายน 2559
 
แม้ทนายของ”ธเนศ”จะยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวพร้อมระบุเหตุผลว่า “ธเนศ”มีอาการป่วยทางจิตต้องเข้ารับการรักษาแต่ก็ไม่เคยได้ประกันตัวตลอดการพิจารณาคดี ในชั้นศาล”ธเนศ”ให้การสารภาพโดยยอมรับว่าเป็นผู้ส่งอีเมลจริงแต่ทำไปเพราะมีอาการป่วยทางจิต ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ศาลพิพากษาจำคุก “ธเนศ” เป็นเวลาสามปีสี่เดือน “ธเนศ”ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 26 กันยายน 2559 รวมเวลาถูกจองจำ 811 วัน https://freedom.ilaw.or.th/case/614  
 

ความเคลื่อนไหวการดำเนินคดีนักสิทธิ นักสิทธิชาวอังกฤษอ่วมหลังศาลสั่งจำคุกสามปีกรณีเผยแพร่รายงานหมิ่นประมาทโรงงานส่วนทนายสิทธิถูกแจ้งข้อหาหนัก

 
ศาลสั่งจำคุกนักสิทธิชาวอังกฤษสามปีกรณีเผยแพร่รายงานหมิ่นประมาทโรงงานแปรรูปสับปะรด 
 
อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยชาวอังกฤษถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุตซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่เขาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมของไทย ในรายงานซึ่งเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ลูกจ้างของบริษัทเนเชอรัลฟรุ้ต 12 คน ซึ่งมีทั้งอดีตพนักงานและคนที่ยังทำงานอยู่ พบว่า ในโรงงานเนเชอรัลฟรุตมีการยึดพาสปอร์ตของแรงงานพม่า มีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ หรือแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น 
 
ในชั้นพิจารณาคดี บริษัทเนเชอรัลฟรุตต่อสู้ว่าเรื่องที่ปรากฎในรายงานของอานดี้ฮอลล์เป็นความเท็จ โดยมีพยานทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการและคนงานชาวพม่ามายืนยัน นอกจากนี้อานดี้ฮอลล์ก็เผยแพร่รายงานโดยไม่ได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงกับทางบริษัทเสียก่อน ขณะที่อานดี้ฮอลล์ต่อสู้ว่าข้อมูลที่อยู่ในรายงานได้มาจากการสัมภาษณ์คนงาน สำหรับการประสานงานกับโรงงานได้เคยติดต่อไปแล้วหลายครั้งแต่โรงงานไม่ตอบรับ อานดี้นำพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารโรงงานแปรรูป
อาหารทะเลซึ่งเป็นกรณีศึกษาในรายงานฉบับที่มีปัญหามายืนยันกับศาลด้่วยว่า ในการทำรายงานมีการขอข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ใช้แรงงาน และฝ่ายบริหารโรงงาน ในประเด็นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อานดี้ ฮอลล์ต่อสู้ว่าตัวเขาเป็นเพียงผู้เก็บข้อมูลวิจัยภาคสนาม ไม่ได้เป็นคนเขียนรายงานฉบับที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้นำรายงานเข้าสู่เว็บไซต์
 
วันที่ 20 กันยายน 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่า อานดี้ ฮอลล์มีความผิดทั้งฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.คอมเตอร์ฯ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีตัวแทนหน่วยงานราชการมาเบิกความยืนยันว่าไม่มีการละเมิดสิทธิดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำผู้ให้ข้อมูลทั้ง 12 คนมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล และไม่นำส่งบันทึกการสัมภาษณ์ นอกจากนี้จำเลยก็ละเลยไม่พยายามติดต่อข้อมูลจากฝ่ายโจทก์มานำเสนอให้รอบด้าน ทำให้ไม่ถือเป็นการติชมโดยสุจริต การกระทำจึงเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา สำหรับความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้จำเลยจะไม่ได้เป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบด้วยแต่เอง แต่การที่มีชื่อของจำเลยปรากฎอยู่ในรายงานและการที่จำเลยยินยอมให้มีการนำข้อมูลซึ่งทำให้โจทก์เสียหายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก็ถือว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดด้วย การนำรายงานเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกสองปีปรับ 100,000 บาท 
 
 
อานดี้ ฮอลล์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนเข้าฟังคำพิพากษาคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์แล้ว จำเลยยังเป็นผู้จัดงานแถลงข่าวทีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย และมีการแจกเอกสารที่มีการพาดพิงถึงโจทก์ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วย แม้จำเลยจะอ้างว่าตนเองเป็นเพียงผู้ประสานงานติดต่อสถานที่และเป็นอ่านรายงานที่องค์กรอื่นเป็นผู้จัดทำ แต่จำเลยก็ทราบว่ามีการแจกเอกสารที่มีปัญหาและยินยอมให้มีการแจก จึงถือว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองปีปรับ 100,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์กับการพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาทและให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี หลังศาลมีคำพิพากษา อานดี้ก็ดำเนินการจ่ายค่าปรับแต่ก็ยืนยันว่าจะอุทธรณ์คดีอย่างแน่นอน
 
ดูรายละเอียดคดี ที่นี่
 
ทนายสิทธิจ่อเจอข้อหาหนัก – ญาติพลทหารที่ตายอย่างมีเงื่อนงำถูกฟ้องหมิ่นประมาท
 
นอกจากอานดี้ ฮอลล์ ที่ถูกพิพากษาจำคุก(แต่ได้รับการรอลงอาญา)แล้ว ในเดือนกันยายนก็มีนักปกป้องสิทธิอีกอย่างน้อยสองคนที่ถูกดำเนินคดีจากการทำงานหรือการเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังไปสังเกตการณ์กิจกรรมชุมนุมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในวันที่ 25 มิถุนายน 2559 นอกจากนี้ก็มีกรณีที่ นริศราวัลถ์ หลานของพลทหารวิเชียรที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในค่ายทหาร ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ,ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหลังแชร์ข้อมูลว่านายทหารยศพ.ต.คนหนึ่ง น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร
 
กรณีของนริศราวัลภ์เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเธอแชร์ข้อความและภาพซึ่งมีเนื้อหาทำนองว่าพ.ต.ภูริ  น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของของพลทหารวิเชียรซึ่งเป็นญาติของเธอ พ.ท.ภูริ ผู้ถูกพาดพิงเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีนริศราวัลภ์ในช่วงต้นเพือนพฤศจิกายน 2558 ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2558 และปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่นริศราวัลภ์ไม่ได้รับหมายจึงไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่สภ.นราธิวาสตามนัด เจ้าหน้าที่จึงขอให้ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับและมีการจับกุมนริศราวัลภ์ที่ที่ทำงานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ในวันที่ 23 กันยายน 2559 นริศราวัลภ์โพสต์ข้อความว่า อัยการเจ้าของสำนวนแจ้งนริศราวัลภ์ด้วยวาจาว่า มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของเธอแล้วและจะส่งสำนวนให้อัยการจังหวัดนราธิวาสดำเนินการต่อไป 
 
กรณีของศิริกาญจน์เกิดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ในวันดังกล่าวนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คนไปรวมตัวทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศิริกาญจน์ซึ่งเป็นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในพื้นที่ด้วย ในวันที่ 26 กันยายน 2559 มีหมายเรียกจากสน.สำราญราษฎร์ส่งมาที่บ้านของศิริกาญจน์ นัดให้ไปที่สน.สำราญราษฎร์ในวันที่ 27 กันยายน 2559 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือละเมิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยในหมายเรียกมีชื่อของรังสิมันต์ โรมและพวกซึ่งถูกดำเนินคดีจากการไปชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากในวันศิริกาญจน์เดินทางไปต่างประเทศ ทนายของศิริกาญจน์จึงเดินทางไปที่สน.เพื่อขอเลื่อนวันนัดรับทราบข้อกล่าวหาซึ่งพนักงานสอบสวนก็แจ้งว่าจะออกหมายเรียกใหม่     
 

สถานการณ์เสรีภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ปิดกิจกรรมเปิดเผยรายงานของแอมเนสตี้/ ใช้มาตรา 44 ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

 
ในเดือนกันยายน 2559 ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพที่สำคัญเกิดขึ้นอีกสองกรณี ได้แก่กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสั่งห้ามผู้เชี่ยวชาญของแอมเนสตี้อินเทอร์เนชันแนลร่วมแถลงข่าวในการเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานในประเทศไทยเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงานจนกิจกรรมต้องยุติ และกรณีที่พล.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55 สั่งให้พลเรือนซึ่งทำความผิดประเภทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารหลังการออกคำสั่งฉบับนี้ กลับไปขึ้นศาลยุติธรรมแทนศาลทหาร 
 

มาแปลก! อ้างเหตุวิทยากรไม่มีใบอนุญาตทำงานยุติงานแถลงข่าวเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานในประเทศไทย 

ในวันที่ 28 กันยายน 2559 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำหนดจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน สถานการณ์การซ้อมทรมานในประเทศไทย ระหว่างปี 2557-2558 ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ ซอยสุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ   โดยมีผู้เสนอรายงานเป็นชาวต่างชาติจำนวนสามคน คือ ราเฟนดี จามิน ผอ. สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ฯ ยูวาล กินบาร์ ผู้เขียนรายงานและ แชมพา พาเทล ที่ปรึกษาอาวุโสด้านงานวิจัย แอมเนสตี้ฯ
 
ในวันงานตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเริ่มงาน มีเจ้าหน้าที่ประมาณเจ็ดคนอ้างว่า มาจากกระทรวงแรงงานเข้ามาในพื้นที่จัดงานและสอบถามผู้จัดว่า วิทยากรเป็นใครบ้าง และมีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ พร้อมแจ้งกับผู้จัดงานว่า หากชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานขึ้นพูดบนเวทีก็จะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงาน ทั้ง เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่า การมาครั้งนี้ไม่ได้ห้ามจัดงานแต่หากชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตขึ้นเสนองานก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยระหว่างการเจรจาเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการห้ามวิทยาการแถลงข่าว เพียงแต่ระบุว่าเป็นการเดินทางมาตรวจแรงงานตามปกติ
 
 
งานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลที่ถูกยกเลิกในวันที่ 28 กันยายน 2559
 
ใช้ม.44 ออกคำสั่งยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่คดีเก่ายังดำเนินต่อไป
 
วันที่ 12 กันยายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 เรื่องการดำเนินการกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญคือ คดีของพลเรือนซึ่งทำความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ตั้งแต่วันที่คำสั่งฉบับที่ 55/2559 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา (12 กันยายน 2559) ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) อย่างไรก็ตามความผิดที่เกิดในวันที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 มีผลบังคับใช้จนถึงวันก่อนวันที่มีการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับ 55/2559 จะยังคงอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ทั้งคดีที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวมาศาลหรือมีการรับฟ้องแล้ว และคดีที่ยังไม่มีการจับตัวผู้ต้องหา  อย่างไรก็ตามคำสั่งฉบับนี้ก็เปิดช่องไว้ว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต นายกรัฐมนตรีก็อาจหารือกับคสช.เพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ได้ (พิจารณาประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารอีกครั้ง)
 
มีข้อน่าสนใจว่า เหตุผลหนึ่งที่ให้ไว้ในการยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร คือการที่ร่างรัฐธรรมนูญ “ผ่านประชามติอย่างท่วมท้น” การประกาศยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร นอกจากนี้ก็มีความน่าสนใจว่า การประกาศยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร มีขึ้นไม่นานก่อนที่ตัวแทนรัฐบาลไทยจะเดินทางไปร่วมประชุม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญสมัยที่ 33 โดยในวันที่ 23 กันยายน 2559 รัฐบาลไทยจะต้องรายงานต่อที่ประชุมว่า ตามที่มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่สอง (Universal Periodic Review – UPR) ในเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยจะรับข้อเสนอจากมิตรประเทศเพื่อนำไปปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกี่ข้อและจะรับทราบ(ไม่ยอมรับ)กี่ข้อ ซึ่งข้อเสนออย่างน้อย 13 ข้อที่แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารและให้ย้ายคดีไปที่ศาลพลเรือนตามปกติไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทยแม้แต่ข้อเดียว