กฎหมายเปิดช่อง ถ้ากระบวนการเลือก สว. 67 มีปัญหา กกต. เคาะเลือกใหม่-นับคะแนนใหม่ได้ 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบระยะเวลาในการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่  ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 วรรคห้า กำหนดให้ภายในห้าวันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับ ให้ กกต. จะต้องกำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วัน

กรอบเวลาการเลือก สว. ชุดใหม่ มีดังนี้

  • 11 พฤษภาคม 2567 สว. แต่งตั้ง หมดวาระ และประกาศพ.ร.ฎ. ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่
  • 13 พฤษภาคม 2567 ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. (รู้วันรับสมัคร)
  • รับสมัครผู้ประสงค์อยากเป็น สว. ระยะเวลาห้าถึงเจ็ดวัน
  • 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับอำเภอ
  • 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด
  • 26 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ
  • 2 กรกฎาคม 2567 กกต. ประกาศผลการเลือก สว.

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ ) และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) กำหนดวิธีการต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร การเลือก และการนับคะแนนใหม่ สำหรับการเลือก สว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 ไว้แล้ว แต่หากกระบวนการรับสมัคร การเลือก รวมถึงการนับคะแนนมีปัญหา กฎหมายก็เปิดช่องให้ กกต. สามารถเคาะให้เปิดรับสมัครใหม่ เลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้

มีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ กกต. กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมได้

พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 12 กำหนดให้ภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่ใช้บังคับแล้ว กกต.จะต้องกำหนดวันรับสมัคร โดยไม่เกิน 15 วันนับจากที่มีพระราชกฤษฎีกาแล้ว และต้องมีระยะเวลารับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ไม่เกินเจ็ดวัน 

แต่กรณีที่เกิดเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครภายในระยะเวลาหรือวันที่กำหนดไว้ได้เพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด กกต. มีอำนาจกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่น หรือจะกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมก็ได้ (มาตรา 17)

กกต. เคาะเลือกใหม่เฉพาะพื้นที่หรือทั้งประเทศได้ 

พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 12 วรรคสาม กำหนดให้การเลือกในระดับอำเภอต้องไม่เกิน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดการรับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัด ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และการเลือกในระดับประเทศจะต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่มีการเลือกในระดับจังหวัด โดยการเลือกในแต่ละระดับจะต้องดำเนินการในวันเดียวกันทั่วประเทศ

แต่หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตามวันที่ กกต. ประกาศกำหนดได้ กกต. จะกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกภายใน 30 วันนับแต่วันที่หตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นั้นสิ้นสุดลง (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 วรรคห้า ประกอบมาตรา 104) 

เลือกใหม่เฉพาะพื้นที่

ในบางกรณีที่เกิดเหตุอันทำให้การเลือก สว. ไม่สามารถดำเนินการเลือกภายในวันเวลาที่ ครม. และ กกต. วางกรอบเวลาไว้แล้ว พ.ร.ป.สว. ฯ  ให้อำนาจแก่ กกต. ในการกำหนดวันเลือกใหม่ในการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ ได้ตามความจำเป็น โดยเหตุที่ไม่สามารถจัดการเลือกในวันที่กำหนดไว้แล้วได้นั้นจะต้องเป็นเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ๆ (มาตรา 34)

เลือกใหม่ทั้งประเทศ

หากเกิดเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยง ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกในทุกระดับพร้อมกันทั่วประเทศได้ กกต. จะต้องมีมติด้วยคะแนนสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ถ้ามีกรรมการอยู่เต็มจำนวน 7 คน จะต้องใช้ 5 เสียงขึ้นไป) ว่าจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่หรือไม่ หากดำเนินการเลือกต่อไปในวันที่กำหนดไว้แล้วจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย กกต.  (พ.ร.ป. สว. ฯ)

หากเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงนั้น เกิดขึ้นในระหว่างที่ลงคะแนนเลือก กกต.จะสามารถสั่งยกเลิกการเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้เช่นกัน (พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 35 วรรคสอง)

ผู้สมัครอาจทักท้วงให้เลือกใหม่ได้

ในกรณีที่ผู้สมัคร ไม่ว่าจะระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ เห็นว่าการเลือก สว. ในรอบของตนไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้าน ต่อ กกต. ภายในสามวันนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกในระดับนั้นๆ หาก กกต. เห็นว่าการเลือกนั้นเป็นไปโดยสุจริตแล้วให้ยกคำร้องไป 

แต่หากเห็นว่าการเลือกนั้นเป็นไปตามที่ผู้สมัครได้ยื่นคำร้อง ก่อนประกาศผลการเลือก กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ (พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 59)

ชวนอ่านวิธีการทักท้วงผลการเลือกและการคัดค้านได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/21822

กกต. ฟันให้มีเลือกใหม่เฉพาะกลุ่ม/สาย/สถานที่ใดได้ หากการเลือกไม่สุจริต

นอกจากนี้ ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ  ข้อ 159 กำหนดวิธีการในการเลือกใหม่ไว้เพิ่มเติมว่า ในการเลือกระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ  หากผู้ตรวจการเลือกหรือผู้อำนวยการการเลือกผู้ใดในระดับใด เห็นว่าการเลือกของกลุ่มใดหรือของสายใดหรือของสถานที่เลือกใด ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ให้รายงานไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการ กกต. แล้วแต่กรณี เพื่อรายงานให้ กกต. ทราบ และให้กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้เลือกใหม่ ทั้งนี้ กกต. ต้องพิจารณาสั่งให้มีการเลือกใหม่ภายในสองวันนับแต่ที่ได้รับรายงาน 

หาก กกต. สั่งให้มีการเลือกใหม่ในกลุ่ม หรือในสาย หรือในสถานที่เลือกให้ ให้ผู้อำนวยการการเลือก และคณะกรรมการในระดับที่มีการเลือกใหม่ ที่เคยได้รับการแต่งตั้งไว้ในคราวที่มีการเลือกในครั้งนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในการเลือกใหม่ เว้นแต่กรณีที่ กกต. เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นกลางทางการเมือง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเหมาะสม หรือความจำเป็น ให้ กกต. สามารถแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการการเลือก หรือคณะกรรมการในระดับนั้นใหม่ได้ ทั้งนี้อาจจะใช้สถานที่เดิมที่เคยเลือกในครั้งก่อนหน้าเป็นสถานที่เลือกใหม่หรือจะประกาศสถานที่เลือกใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสม (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 160) 

การดำเนินการเลือกใหม่ให้ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกในระดับจังหวัดไม่น้อยกว่าสามวัน หรือก่อนวันเลือกในระดับประเทศไม่น้อยกว่าห้าวัน (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 161)

หาก สว. เหลือไม่ถึงครึ่งวุฒิสภา ต้องเลือกซ่อมภายใน 60 วัน

ตามพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 42 กำหนดกระบวนการเลือก สว. ในระดับประเทศ ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบแบ่งสายเลือกไขว้สิบอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 จะอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น หากจำนวน สว. ในแต่ละกลุ่มลดลง เช่น มี สว. เสียชีวิต หรือลาออก ประธานวุฒิสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นขึ้นดำรงตำแหน่ง สว. แทนตามลำดับ (มาตรา 45)

ถ้าไม่มีบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นเหลืออยู่ ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าจะเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองในกลุ่มอื่นใดที่ยังมีผู้อยู่ในบัญชีสำรองเหลืออยู่ แล้วดำเนินการเลื่อนบุคคลนั้นขึ้นดำรงตำแหน่ง สว. 

หากเป็นกรณีที่ทุกกลุ่มไม่มีรายชื่อบุคคลในบัญชีสำรองเหลืออยู่สำหรับการเลื่อนบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง สว.  ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

กรณีที่ อายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี  แต่มีสว. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 วรรคสี่ กำหนดให้ดำเนินการเลือก สว. ขึ้นแทนภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่มี สว. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ผู้ที่ได้รับเลือกดังกล่าว อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ 

เท่ากับว่าหากใน สว. ชุดใหม่ มีจำนวนอยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวน สว. 200 คน (ไม่ถึง 100 คน) และยังมีวาระดำรงตำแหน่งอยู่เกินหนึ่งปี ให้จัดให้มีการเลือก สว.  แต่ผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่อยู่ในวาระเท่าที่ยังหลงเหลืออยู่

ผู้สมัครยื่นคำร้องให้ กกต. เคาะนับคะแนนใหม่ได้

เช่นเดียวกันกับการเลือกใหม่ หาก กกต. มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต. มีอำนาจในการสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ (พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 59) 

ผู้สมัครอาจร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ได้

หากผู้สมัครเห็นว่าการเลือก สว. ในรอบของตนไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้าน ต่อ กกต. ภายในสามวันนับตั้งแต่วันที่้มีการเลือกในระดับนั้นได้ (พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 64) โดยหาก กกต. เห็นว่าคำร้องมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม กกต. อาจสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ในการเลือกครั้งนั้นก็ได้  (พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 59) 

กกต.อาจฟันให้มีการเลือกใหม่ได้เอง

นอกจากนี้ ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ  ข้อ 155 กำหนดว่า ในการเลือกระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ  หากผู้ตรวจการเลือกหรือผู้อำนวยการการเลือกผู้ใดในระดับใด เห็นว่าการนับคะแนนของกลุ่มใดหรือของสายใดหรือของสถานที่เลือกใด มีได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ให้รายงานไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี เพื่อรายงานให้ กกต. ทราบ และให้ กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้นับคะแนนใหม่ ทั้งนี้ กกต. ต้องพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ภายในสองวันนับแต่ที่ได้รับรายงาน 

ในการนับคะแนนใหม่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกในระดับจังหวัดไม่น้อยกว่าสามวัน หรือก่อนวันเลือกระดับประเทศไม่น้อยกว่าห้าวัน หรือภายในห้าวัน นับแต่วันเลือกระดับประเทศ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 158)