เข้าสู่ยุคใหม่ ของการเสนอกฎหมายโดยประชาชน

กว่าหกปีของการรอคอย และกว่าสามปีเต็มของการดิ้นรนในรัฐสภา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ฉบับใหม่ ก็ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เหลือเพียงขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น สังคมไทยก็จะเข้าสู่ยุคใหม่ของการเสนอกฎหมายโดยประชาชน
 
รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดว่า ประชาชนจะเสนอกฎหมายได้โดยเข้าชื่อกัน 50,000 คน และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 ก็กำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามมา เช่น ต้องใช้หลักฐานเป็นสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคนทั้ง 50,000 ประธานรัฐสภามีอำนาจสั่งไม่รับร่างกฎหมายของประชาชนได้หากเป็นกฎหมายที่ไม่เข้าหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกว่า 15 ปีภายใต้ระบบนี้ สิทธิการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนแทบไม่เกิดขึ้นได้จริง จึงนำมาสู่การผลักดันเพื่อแก้ไขเสียใหม่
 
รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดใหม่ว่า ประชาชนจะเสนอกฎหมายได้โดยเข้าชื่อกัน 10,000 คน ด้านภาคประชาชนอย่างมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสถาบันพระปกเกล้า ต่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้วรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอ เพื่อวางระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแบบใหม่ ส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนให้มีความหวังมากขึ้น
 
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน ถูกนำมาพิจารณารวมกับร่างฉบับของรัฐบาล และแก้ไขกันในชั้นพิจารณา จนเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2556 รัฐสภาลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ร่างฉบับที่ผ่านการพิจารณานี้แม้จะแก้ไขปัญหาเดิมๆ ไปแล้วหลายอย่าง แต่ก็เพิ่มขั้นตอนใหม่ๆ ขึ้นมาที่อาจมีนัยยะสำคัญต่อการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนในอนาคตได้
 
 
คลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดเต็ม
 
ยกเลิกสำเนาทะเบียนบ้านเหลือแค่บัตรประชาชน ลดจำนวนรายชื่อเหลือ 10,000 คน
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 กำหนดให้ลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจาก 50,000 คนเหลือ 10,000 คน ซึ่งระหว่างที่พระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับปี 2542 ยังใช้บังคับอยู่ แต่ทางปฏิบัติก็ยอมรับกันที่จำนวน 10,000 คนตามรัฐธรรมนูญแล้ว ตามกฎหมายใหม่ได้แก้ไขให้ชัดเจนแล้วว่า ต้องการรายชื่อเพียง 10,000 คนจริงๆ
 
"หลักฐานประกอบ" สำหรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นอุปสรรคที่สร้างภาระให้กับภาคประชาชนอย่างมาก เพราะกฎหมายเดิมกำหนดให้ใช้ทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งที่ปกติคนจะไม่พกทะเบียนบ้านติดตัวหรืออาจจะทิ้งไว้ที่บ้านในต่างจังหวัด ทำให้หลายครั้งคนที่ต้องการสนับสนุนกฎหมายก็ไม่สะดวกที่จะใช้สิทธิของตัวเองได้ ตามกฎหมายใหม่จึงกำหนดให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชนอย่างเดียว ถือเป็นอันปิดฉากข้อวิจารณ์ที่มีมายาวนานได้อย่างลงตัว
 
ประกาศรายชื่อผ่านอินเทอร์เน็ต และส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้เข้าชื่อทุกคน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
กระบวนการตามกฎหมายเดิม คือ หลังจากตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายชื่อแล้ว รัฐสภาจะส่งรายชื่อไปปิดประกาศไว้ตามองค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมาตรวจสอบว่ามีชื่อของตัวเองอยู่หรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีชื่อของตนอยู่ทั้งที่ไม่เคยไปเข้าชื่อฉบับนั้นๆ ก็ให้มาทำเรื่องคัดค้าน ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการนี้มีปัญหาว่าตามปกติไม่มีใครเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบรายชื่อของตัวเอง แถมยังเคยปรากฏว่าผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเองเป็นคนตรวจสอบรายชื่อและมีการใช้อำนาจข่มขู่คนที่เคยเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ไปถอนชื่อออกด้วย
 
กระบวนการตามกฎหมายใหม่ กำหนดให้รัฐสภามีหน้าที่ประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทาง “สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ” ซึ่งตีความได้ว่า จะต้องใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ และต้องจัดเอกสารไว้ให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อได้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ได้กำหนดให้ปิดประกาศตามที่ต่างๆ ในท้องถิ่น
 
กระบวนการที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐสภาต้องส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทุกคนด้วย ว่าเป็นผู้มีรายชื่อปรากฏอยู่ เพื่อให้ผู้มีรายชื่อทราบและหากมีการปลอมแปลงรายชื่อมาก็จะได้ใช้สิทธิของตนคัดค้านได้
 
ต้องมีผู้ริเริ่ม 20 คน แจ้งต่อประธานสภาให้พิจารณาเรื่อง “หมวด 3 หมวด 5” ก่อน
ตามกฎหมายเดิมไม่มีระบบการ “แจ้งก่อน” ถ้าใคร หรือคนกลุ่มใด ต้องการจะรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายใด ก็สามารถเริ่มดำเนินการเองได้เลย ไม่ต้องแจ้งต่อหน่วยงานใดก่อน ซึ่งมีข้อดีคือ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพริเริ่มได้โดยอิสระ แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย คือ ร่างกฎหมายหลายฉบับหลังจากที่ประชาชนลงทุนไปมากมายกับกิจกรรมล่ารายชื่อ เมื่อนำไปยื่นเสนอต่อรัฐสภา กลับถูกประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือ หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ จึงไม่รับร่างกฎหมายไว้พิจารณา ทำให้ความพยายามทุ่มเทในการรวบรวมรายชื่อนั้นเป็นอันสูญเปล่าไป
 
กระบวนการตามกฎหมายใหม่จึงกำหนดให้ ก่อนเริ่มทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายใด ต้องมี “ผู้ริเริ่ม” ไม่น้อยกว่า 20 คน เสนอเรื่องและร่างกฎหมายให้ประธานรัฐสภาพิจารณาก่อน หากประธานรัฐสภาเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญก็ให้ส่งเรื่องคืน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปล่ารายชื่อให้เสียเปล่าแล้วมาถูกปัดตกภายหลัง
 
กระบวนการนี้อาจลดปัญหาความขัดแย้งว่าร่างกฎหมายฉบับไหนเกี่ยวข้องกับหมวด 3 หรือ หมวด 5 ลงได้บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระและขั้นตอนให้กับการใช้สิทธิของประชาชน จึงต้องรอดูทางปฏิบัติกันต่อไปว่าระบบใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาหรือเพิ่มอุปสรรคกันแน่
 
กกต. หายไป สภาพัฒนาการเมือง, สำนักงานเลขาฯ, คปก. เพิ่มเข้ามา
ตามกฎหมายเดิม ประชาชนอาจขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ช่วยดำเนินการในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อได้ แต่ตามกฎหมายใหม่ตัดบทบาทส่วนนี้ของกกต.ออกไปทั้งหมด ทำให้ประชาชนไม่อาจขอให้หน่วยงานใดช่วยเหลือในการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 ชื่อได้แล้ว ต้องทำเองทั้งหมด
 
ขณะที่ตามกฎหมายใหม่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการล่ารายชื่อจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองของสภาพัฒนาการเมืองได้ และสามารถขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในการจัดทำร่างกฎหมายได้
 
รัฐสภาต้องตรวจสอบรายชื่อภายใน 45 วัน
ตามกฎหมายเดิมไม่มีกำหนดกรอบเวลาให้รัฐสภาสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของหลักฐานและรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ทำให้กฎหมายหลายฉบับถูกดองไว้ในกระบวนการตรวจสอบรายชื่อนานเกินจำเป็น ตามกฎหมายใหม่จึงกำหนดหน้าที่ของรัฐสภาให้ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารให้เสร็จภายใน 45 วัน
 
กำหนดโทษการหลอกให้คนลงชื่อ และการปลอมลายมือชื่อ โทษสูงสุดสิบปี
ตามกฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดโทษและความผิดฐานนี้ แต่การปลอมลายมือชื่อย่อมเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 อยู่แล้ว ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ที่ปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี
 
นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังกำหนดว่า ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ร่วมลงชื่อหรือไม่ลงชื่อ เป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากมีการโฆษณาให้ประชาชนมาเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยรับรองว่าถ้ากฎหมายฉบับนั้นๆ ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นนี้ จะเป็นความผิดด้วยหรือไม่