ประชาไทเปิดใจ โดนพ.ร.ก.ฉุึกเฉินสั่งปิด เสียหายกว่า 5 ล้าน

วันนี้ (22 ธันวาคม 2553) เวลาประมาณ 11.00 น. หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวประชาไท โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ณ ที่ทำการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

 

 

น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท แถลงถึงความเสียหายของเว็บไซต์ข่าวประชาไทนับตั้งแต่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล

น.ส.จีรนุช กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประชาไท จนถึงวันที่ยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความเสียหายทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงความเสียหายทางจิตใจ ชื่อเสียงและความสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ อาทิ การบริการข่าวทาง เอสเอ็มเอส หรือ การขายพื้นที่โฆษณาทางเว็บไซต์

“ประสบการณ์ของประชาไท เราเผชิญการปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง หลายช่องทาง เว็บประชาไทต้องเปลี่ยนชื่อเว็บรวมทั้งสิ้น 8ครั้ง” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าว[1] 

นอกจากเว็บไซต์ข่าว prachatai.com จะถูกปิดกั้นการเข้าถึงแล้ว ยังมีการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ของประชาไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ทั้ง 3 บัญชี รวมทั้ง ช่องยูทูป ของประชาไท ส่วนเว็บบอร์ดประชาไทก็เปลี่ยนชื่อและถูกตามปิด 3 ครั้ง ก่อนที่ประชาไทจะตัดสินใจปิดการให้บริการเว็บบอร์ด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2553

น.ส.จีรนุช ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการพยายามปิดกั้นเว็บไซต์ประชาไท ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเว็บไซต์ ไอพี ตลอดไปถึงเซิร์ฟเวอร์ เป็นเหตุให้ประชาไทต้องย้ายไปใช้บริการต่างๆในต่างประเทศ เพื่อประกันการเข้าเว็บ และความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้งานที่จะไม่ถูกคุกคามโดยรัฐ ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นการสูญเสียรายได้ที่ควรจะหมุนเวียนในประเทศ

น.ส.จีรนุช ได้ให้ข้อสังเกตว่า เหตุกาณ์การปิดเว็บไซต์ช่วงที่ผ่านมา เป็นการใช้อำนาจที่อย่างไม่เป็นธรรม และใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน และสิ่งที่ต้องระวังก็คือ แม้ว่ารัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว แต่อำนาจที่มีลักษณะพิเศษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงมีอยู่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ซึ่งเปลี่ยนองค์กรใช้อำนาจจาก ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาเป็น ศูนย์ติดตามสถานการณ์ (ศตส.) แทน

อย่างไรก็ตามขอบเขตอำนาจของพ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้มีอำนาจในการปิดกั้นสื่อ และเมื่อยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมดแล้ว ย่อมถือว่าการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายหมื่นยูอาร์แอล (URLs) เป็นการปิดกั้นที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ

ด้านนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท กล่าวว่า สภาพการทำงานในกองบรรณาธิการส่วนมากเป็นปัญหาด้านจิตใจ หวั่นเกรงเนื่องจากความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามของนักข่าว เพราะการทำงานของนักข่าวต้องไม่อยู่ในความกลัว

นายชูวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ของ ศอฉ. ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะประชาไทเท่านั้น แต่ได้ทำลายถึงพัฒนาการของสื่อสารมวลชนไทยด้วย

ผลกระทบของประชาไท เป็นแค่หนูลองยาเท่านั้น แต่ความขัดแย้งของสังคมไทยเกิดขึ้นจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะข่าวสารซุกอยู่ใต้ดินไม่ได้ถูกนำมาพูดอย่างเป็นทางการ นักวิชาการไม่ได้ออกมาพูดหรือถกเถียงทางวิชาการให้เป็นหลักฐาน ข่าวที่เซ็นทรัลเวิร์ล วัดปทุมฯ หรือคลิปต่างๆ ถูกปิดกั้นในการเข้าสู่ความจริง ผู้ที่ถูกผลกระทบไม่ได้ให้มาพูดคุย ความขัดแย้งจึงถูกสะสม อึดอัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

นายชูวัส ยังได้กล่าวว่า หลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ซึ่งมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยตรง จึงทำให้เห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นปัญหาความมั่นคงของรัฐ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ สำนักข่าวประชาไท ได้เปิดให้บริการเว็บไซต์ http://www.prachatai.com ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2547 เพื่อเป็นพื้นที่สื่อทางเลือกสำหรับข่าวสารที่ไม่มีพื้นที่บนสื่อกระแสหลัก และถูกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553ภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เพียง 1 วัน

 

 

[1] ลำดับชื่อเว็บไซต์ที่ประชาไทต้องเปลี่ยนทั้งสิ้น 8 ครั้ง ตามลำดับ