เสียงจากคนทำงานใต้

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน ในปี 2547 ที่ค่ายกองพันพัฒนาที่สี่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้นมา ชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อคุมสถานการณ์ รวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร ในบางอำเภอของจังหวัดสงขลา แต่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ชาวบ้านยังต้องอยู่อย่างไม่ปลอดภัย เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือชาวบ้านด้วยกันเอง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ความสันติสุขจะกลับคืนมาได้อย่างไร

นางสาวซารีพะ ยูโซะ หนึ่งในอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเป็นทนายความผู้ช่วย ประจำศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดนราธิวาส พื้นเพเป็นคนพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่ด้านคดีความทางภาคใต้ และให้ความรู้กฎหมายกับชาวบ้าน เล่าถึงภาพเรื่องราวในพื้นที่ให้ไอลอว์ฟัง

     

ซารีพะ เล่าถึงคนในพื้นว่า ปัจจุบันคนในพื้นที่ก็รักกันดี อัธยาศัยใจคอดี ในพื้นที่มีทั้งคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตกับปัจจุบัน ต่างกันมาก เพราะมีทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่

ความกังวลที่ซารีพะมีอันเนื่องมาจากทหารเข้ามาในพื้นที่นั้น เธอมองว่า บ้านของเธอไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม การที่ทหารเข้ามาอยู่ทำให้รู้สึกกดดัน

“เหตุการณ์ที่อำเภอบาเจาะนั้น เป็นพื้นที่สีแดงเลย ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด เพราะทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่เยอะ”

การที่รัฐบาลได้ประกาศให้อำเภอบาเจาะเป็นพื้นที่สีแดง ในความรู้สึกคือกลัวเพราะเจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาจู่โจมได้ทุกเมื่อ เพราะพรก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกไม่ใช่กฎหมายทั่วไป แต่กฎหมายเหล่านี้ให้ทหารมีอำนาจเต็มที่ที่จะเข้ามาในพื้นที่เมื่อไรก็ได้

เมื่อถามว่าความกลัว คือกลัวทหารหรือว่ากลัวอะไร เธอตอบว่า
“กลัวอำนาจที่เขาใช้ อาจจะเป็นอำนาจที่หากสงสัยใคร ก็สามารถค้นตัวได้เลย”
 
แต่สำหรับการกล่าวขานเรื่องโจรใต้ จริงๆแล้วซารีพะคิดว่าไม่กลัว เพราะไม่รู้ว่าเป็นโจรจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การตั้งข้อหา ซึ่งเธอก็มีเพื่อนที่เคยเรียนกันมาตอนสมัยประถม เขาได้ร่วมชุมนุมอยู่ในเหตุการณ์ที่ตากใบ คนที่ถูกจับจากการสลายที่ตากใบ ก็โดนจับขึ้นบัญชีดำทั้งหมด
 
“การขึ้นบัญชีดำทำให้เขาไปประกอบอาชีพอะไรไม่ได้เลย จะไปเป็นข้าราชการก็ไม่ได้ ต้องทำสวนยางประกอบอาชีพส่วนตัว บางคนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้เลย เพราะเขาขึ้นบัญชีดำไว้แล้วอาจถูกเก็บเมื่อไหร่ก็ได้”
 
เมื่อถามซารีพะว่าคนในพื้นที่กลัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ซารีพะกล่าวด้วยแววตาเศร้าว่า คนในพื้นที่กลัวและระแวง เพราะคน 3 จังหวัด ส่วนมากประกอบอาชีพสวนยาง ต้องกรีดยาง ตี 3 ถึง ตี 4 แต่ก็ต้องไป ไปด้วยความหวาดระแวง และกลัวด้วย
 
บางทีคนในพื้นที่ก็กลัว อาจมีวางระเบิด ซึ่งก็กลัวทั้งทหาร และโจรใต้”
 
ซารีพะเล่าว่า ชาวบ้านหวาดระแวงทั้งโจรใต้และทหาร แต่บางทีจะหวาดระแวงทหารมากกว่า อย่างตามท้องถนน บางทีไม่จำเป็นต้องมากั้นอะไร ก็ทำให้เดินทางไม่สะดวก เหมือนประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เห็นรถถังทุกเช้าเย็น ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นโจรมาวิ่งตามท้องถนน ควรจะไปจับตามชายแดนมากกว่า เพราะไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามที่รุนแรง
 
สำหรับมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ซารีพะไม่สามารถตอบได้ว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์เกิดจากอะไร แต่เรื่องก็เกิดตั้งแต่ปี 47 เช่น ครั้งที่ปล้นปืนปีเล็ง หรือที่ตากใบ ก็รุนแรงตลอด มีการยิงกันตายทุกวัน บางทีก็เป็นเหตุส่วนตัว ขัดธุรกิจ ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่โดยมากเขาก็เหมาว่าเป็นเหตุการณ์ 3 จังหวัดหมด เราก็แยกไม่ออกว่าอันไหนส่วนตัว หรือ 3 จังหวัด
 
การที่รัฐบาลนำกฎหมายพิเศษมาใช้ คือ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และพรบ.ความมั่นคง กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ซารีพะ มองว่า ถ้าประกาศในช่วงความรุนแรงก็พอสมเหตุสมผล แต่ถ้าสงบแล้วก็น่าจะยกเลิก ไม่จำเป็นต้องใช้ ใช้ไปเขาก็ได้ประโยชน์ตรงนั้น อย่างในกรุงเทพฯเขาก็จะมีอำนาจเอาทหารเข้ามา โดยมีอำนาจเต็มที่ ไม่สามารถใช้กฎหมายทั่วไป
 
“ส่วนตัว คิดว่าอาจมีคนที่อยู่สูงกว่าเราและผลประโยชน์ของเขามีส่วนด้วย หรือเรื่องเงินทอง บางทีชาวบ้านเขาพูดว่า พอทหารเข้าไปในพื้นที่ก็จะได้ค่าตอบแทนสูง จากเข้าไปประจำการตัวเปล่าแต่พอกลับมาได้ขับรถหรู ถ้ายกเลิกบางทีเขาก็จะไม่ได้ตรงนั้น”
 
“มีบางคดีชาวบ้านไปร้องเรียนว่าการที่ทหารเข้าไปค้นในบ้านแล้วทำให้ทองของเขาหายไปก็มี พอร้องเรียนไปที่ทหาร เขาก็บอกว่าไม่ได้เอาไป บางทีอาจเป็นคนอื่นเอาไป แล้วเมื่อเขาไปร้องเรียนที่ ฉ.ก. (หน่วยเฉพาะกิจ) ก็ไม่รู้หน่วยไหน หรือคนไหนอีก จึงไม่สามารถจับได้ เขาก็รับเรื่องร้องเรียนไว้แต่ส่วนใหญ่เรื่องก็เงียบ” ซารีพะเล่้า
 
กฎหมายพิเศษที่ประกาศในพื้นที่นั้น อาจจะช่วย แต่ช่วยได้น้อย ประกาศไปหลายปีแล้วก็ไม่สงบ
 
ความรู้สึกของคนในพื้นที่กับกฎหมายพิเศษนั้น ซารีพะ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดคิดว่า ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่า พรก. คืออะไร แต่อยากให้ทหารออกจากพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ เพราะมีค่ายทหารประจำการอยู่แล้ว แต่ว่าไม่น่าจะจำเป็นต้องลงไปเยอะถึงขนาดใช้ พรก. หรือ กฎอัยการศึกเข้าไปอีกที
 
ซารีพะยังได้เล่าถึงตัวอย่าง คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า ความจริงคดีทุกคดีสะเทือนใจหมด แต่คดีดังๆ ก็มี เช่น มีคดีหนึ่งจำเลยชื่อ บารูวัน คดีเกิดเมื่อปี 47 – 48 คดีเกิดขึ้นเมื่อทหารเข้าไปจับกุม และทรมานเขาในชั้นพรก.ฉุกเฉิน หรือ กฎอัยการศึก (ปกติในการจับกุม ตามป.วิ.อาญา มาตรา 87 เจ้าพนักงานมีสิทธิควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง ก่อนที่นำตัวขอฝากขังต่อศาล) ทีนี้ เขาโดนทรมานสารพัดอย่างให้ยอมรับสารภาพในข้อหาที่เจ้าหน้าที่ตั้ง พอคดีถึงชั้นศาล เขาเล่าข้อเท็จจริงให้ผู้พิพากษาท่านหนึ่งฟัง ซึ่งท่านกำลังท้องแก่ด้วย ท่านเขาร้องไห้เลยและบอกให้ทนายช่วยสืบคดีนี้ให้เสร็จเร็วๆ จะได้ตัดสินคดีนี้ให้ ไม่อยากให้ผู้พิพากษาท่านอื่นตัดสิน เพราะว่าท่านเห็นและเข้าใจปัญหาดีกว่า 
 
“การทรมานในชั้นพรก.นั้นมันง่ายตรงที่จับได้ 7 วัน ช่วงนี้เขาสามารถรีดความจริงได้ ก็ทำสารพัดอย่าง ให้ผู้ต้องหาสารภาพ บางคนกลัวก็สารภาพ”
 

  

ความหวังของซารีพะและชาวบ้านคือหากว่ามีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ ชาวบ้านเขาจะได้รู้สึกนอนหลับเต็มตามากยิ่งขึ้น

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น มักจะมองว่า ควรประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อรักษาความสงบ ซึ่งซารีพะมองอีกทางหนึ่ง

“อยากจะบอกว่าตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบัน ไม่ยกเลิกเรื่องยังเกิดขึ้น ถ้ายกเลิกดูแล้วจะเป็นอย่างไร”
 
ซารีพะ เน้นย้ำว่า ชาวบ้านควรให้การสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพราะ กฎหมายทั่วไปก็มีใช้อยู่แล้ว
 
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซารีพะคิดว่ารัฐบาลเดินผิดทาง คือ ไปคิดว่าเป็นโจรหางแถว เพราะว่าเรื่องก็เกิดมาตั้งแต่ปี 47 แล้ว ถ้าเดินมาถูกทางจริงๆก็น่าจะจับคนบงการได้จริงๆ รู้สึกว่ารัฐบาลชุดไหนก็พูดได้แต่ทำไม่ได้ แล้วก็แก้ผิดจุด คนที่ถูกจับมาศาลก็ยกฟ้องเสีย 70 เปอร์เซ็นต์ การที่ศาลยกฟ้องแสดงว่าคนๆนั้นไม่ใช่โจรจริง แต่เป็นแพะ แล้วโจรจริงๆเป็นใครก็ไม่รู้ ก็พูดยาก
 
“แต่เดี๋ยวนี้มีศูนย์ทนายความมุสลิม ก็ช่วยชาวบ้านได้เยอะ เพราะทางศูนย์เขาจะมีทนายความว่าความคดีความมั่นคงโดยตรง โดยจะเข้าไปชี้แจงกับชาวบ้านว่ากฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉินเป็นอย่างไร มีสิทธิตรงไหนได้บ้าง ถ้าเกิดเรื่องในพื้นที่ เขาจะไม่วิ่งเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่จะเข้าหาศูนย์ทนายความมุสลิมมากกว่า เขารู้สึกไว้ใจมากกว่า” ซารีพะเล่าถึงหน่วยงานของเธออย่างภาคภูมิใจ
 
“ปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาถาม คือเขาไม่เข้าใจ และไม่รู้กฎหมาย เราก็ต้องอธิบายไปก่อนว่าเมื่อมี พรก.ฉุกเฉิน หรือ กฎอัยการศึก นั้น กฎหมายทั่วไปก็จะใช้ไม่ได้ อำนาจอยู่กับทหารเต็มที่ การที่ทหารเข้าไปในบ้าน ทหารจะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เช่น การเข้าไปค้นในบ้านทหารจะต้องถอดรองเท้าเข้าบ้าน”
 
สำหรับความเป็นไปได้ที่เราสามารถเคลื่อนไหวยกเลิกกฎหมายพวกนี้จากในพื้นที่นั้น นักกฎหมายหญิงมุสลิมผู้นี้ ยังหวังว่าสักวันหนึ่งคงจะเกิดขึ้นได้ แต่อุปสรรค คือ คนในพื้นที่บางคนอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ถ้าหนังสือที่จะเอาไปให้เขาเซ็นมีแต่ภาษาไทยคนทางนั้นเขาอ่านเขียนไทยไม่ออก บางทีเขาก็กลัว 
 
การนำเสนอข่าวตามสื่อกระแสหลักเกี่ยวกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดนั้น ซารีพะ มองว่า ยังไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก
 
“เท่าที่เห็นและสัมผัสในพื้นที่ เขารายงานมาส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะกลางเท่าไหร่ มองว่าภาคใต้รุนแรงกว่าที่คิด” 
 
ซารีพะได้เล่าช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้เดินทางเข้ามาศึกษาที่กรุงเทพฯ และได้ข่าวสารจากที่กรุงเทพฯ ก็ทำให้คิดว่าสถานการณ์ทางภาคใต้เป็นเมืองเถื่อน ไม่อยากกลับบ้าน แต่พอกลับมาบ้านก็ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนกับตอนที่กรุงเทพฯ มีระเบิด แต่ข่าวก็ออกมาดูรุนแรงกว่าที่เป็นจริง
 
“อย่างระเบิดที่ใต้ตอนนี้ก็ไม่ได้เกิดทุกจุดในพื้นที่ เป็นแค่จุดๆ หมู่บ้านแค่นั้นเอง”
 
เมื่อถามถึงบทบาทของประชาชนทั่วไปที่ควรจะมีต่อปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น ซารีพะ กล่าวว่า เธออยากให้คนทั่วไปที่อ่านหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวไมมองว่า 3 จังหวัดมีแต่โจรใต้อย่างเดียว เพราะว่าการที่ทหารคิดว่าเป็นโจรใต้จริงๆแล้วเป็นโจรใต้จริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ เรื่องก็เกิดขึ้นมันประติดประต่อมาจากตากใบ แต่จริงๆก็มีบ้างแต่เราก็ไม่รู้อีก
 
และอยากจะฝากอะไรกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไหม
“อยากให้หน่วยงานรัฐเขาลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเอง แล้วไปสัมผัสความเป็นอยู่ชีวิตของชาวบ้านว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เขาจะได้รู้ว่าควรที่จะแก้ปัญหาอย่างไรในสถานการณ์จริง ไม่ใช่แค่สั่งอย่างเดียวแล้วให้อีกหน่วยงานไปดูแล ก็จะไม่สามารถเข้าถึงปัญหาจริงๆ”
 
“ลองไปเที่ยวดู แล้วจะรู้ว่า 3 จังหวัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” เป็นเสียงสุดท้ายที่หญิงสาวชาวมุสลิมตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ผู้ทีีกำลังฝันและลงมือเป็นหนึ่งแรงที่ถามหาความสงบสุขให้กับบ้านเกิดของตัวเอง อยากจะฝากไปยังเพื่อนคนไทยอีก 73 จังหวัด