นับว่าเป็นเสียงระฆังยกที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ สำหรับการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นยกที่สามของการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ตามแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฎิรูปประเทศ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อ 22 มิถุนายน 2560
ความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ คือการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ ด้วยเหตุนี้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จึงมีการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน – 20 พฤษภาคม 2560 ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,051 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 8 คน ส่วนร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฎิรูปประเทศ มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,514 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 3 คน เท่านั้น
คลิก อ่านรายงานกผลวิเคราะห์การรับฟังความคิดเห็น
ร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกสามชุด คือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” โดยคณะกรรมการทั้งสามชุดมีความสัมพันธ์ในการทำงานที่สอดคล้องกัน และมีบทบาททั้งเหมือนและต่างกัน
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ: “ซุปเปอร์บอร์ดทหารและนายทุน”
ตามหน้าข่าว “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” คือชื่อที่ได้ยินบ่อยที่สุดนั้น บางคนเรียกคณะกรรมการชุดนี้ว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” เพราะ คณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทสำคัญที่สุด ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาล หรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูป
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีจำนวน 35 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 18 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีรองประธานอีกจำนวน 3 คน คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรองนายกรัฐมนตรี สำหรับกรรมการโดยตำแหน่งอีก 13 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง เช่น ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
จากสัดส่วนของกรรมการของโดยตำแหน่ง จะเห็นว่า มีกรรรมการจากฝ่ายความมั่นคง 7 คน และภาคเอกชนชั้นนำ 6 คน ขณะที่อีก 4 คนแม้จะเป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมือง แต่ปัจจุบันฝ่ายการเมืองยังไม่มีก็จึงเป็นตัวแทนที่มาจาก คสช. อีกเช่นกัน ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 17 คน ก็จะมาจากการแต่งตั้งโดย ครม. ของ คสช. ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มากกว่าหนึ่งเทอมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคือ 4 ปี
เปิดกรรมการโดยตำแหน่ง 18 คน สร้างงานสร้างอาชีพต่อเนื่อง
หากดูรายชื่อคณะกรรมการโดยตำแหน่งทั้งหมด 18 คน (ตามอินโฟกราฟฟิก) จะพบว่ามาจากสามฝ่ายเป็นหลัก คือ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการด้านความมั่นคง และฝ่ายภาคเอกชนชั้นนำ กรรมการโดยตำแหน่งทุกคนต่างมีภารกิจและหน้าที่ประจำที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้นการเข้ามารับตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ไม่ใช่การทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นข้าราชการทหารอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามวิษณุ เครืองาม ให้เห็นเหตุผลว่า เหตุที่ต้องมีคนจากกองทัพเข้ามาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพราะว่าจะดูแลในเรื่องของความมั่นคง และแต่ละคนก็มีกำลังของตัวเอง ทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ มีนายทหารในระดับต่างๆ และเป็นนายทหารที่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยามวลชน
นอกจากนี้ กรรมการโดยตำแหน่ง หลายคนยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งจากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 18 คน มีกรรมการถึง 11 คน เป็นสมาชิก สนช. ด้วย และคณะกรรมการหลายคนยังดำรงตำแหน่งทับซ้อนกันไปมา เช่น ดำรงตำแหน่งทั้งสมาชิก คสช. ครม. และสนช. พ่วงด้วย
ด้วยเหตุนี้ในการพิจาณาร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจะจัดทำขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาจมีแนวโน้มที่ไม่โปร่งใส่ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกรรมการหลายคนสวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งคนร่างเองและพิจารณาเอง เช่น
– พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พอร่างเข้าสู่การพิจารณาของครม.พลเอกประยุทธ์ ก็เห็นชอบในฐานะหัวโต๊ะของ ครม. หรือ
– พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พอร่างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ส่งต่อมาถึง สนช. พลเอกชัยชาญ ก็พิจารณาอีกครั้งในฐานะสนช.
จากปรากฏการณ์นี้ก็พอจะเห็นได้ว่า อำนาจในการเขียนแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ใฝ่ฝันกันนี้ จะอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว คือ คสช. หรือ คนที่มาจากระบบของ คสช. และการตรวจสอบถ่วงดุลในขั้นตอนต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มี เพราะขั้นตอนต่างๆ คสช. เป็นคนกำหนดขึ้นและส่งคนของตัวเองเข้าไปประจำอยู่แล้ว
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ: มือหลักร่างยุทธศาสตร์ชาติ
ในร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง คือ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนด
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละคณะมีจำนวนไม่เกิน 15 คน แม้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว แต่คณะกรรมการทั้งสองชุดก็ยังสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมได้เพื่อช่วยในการทำงานได้อีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้านจะต้องจัดทำแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และต้องเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาก่อนส่งให้ ครม. เห็นชอบ ซึ่งแผนแม่บทนี้จะต้องสอดคล้องกันกับกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยังมีอำนาจสอดส่องหน่วยงานของรัฐที่ไม่ยอมดําเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยสามารถส่งเรื่องให้ ส.ส. หรือ ส.ว. มีมติส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. ดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ขณะที่หากการดำเนินการของ ครม. ขัดยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ส.ส. และ ส.ว.สามารถเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
กรรมการปฏิรูปประเทศ: เขียนแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอีกที
“คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” เป็นคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฎิรูปประเทศ หรือ ร่างพ.ร.บ.ปฎิรูปฯ ซึ่ง ครม. จะแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ อย่างน้อย 10 ด้าน โดยแต่ละคณะให้ประกอบด้วย กรรมการไม่เกิน 14 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย
การปฏิรูปด้านต่างๆ ที่กำหนดในมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฎิรูปประเทศ |
1. ด้านการเมือง |
2. ด้านบริหารราชแผ่นดิน |
3. ด้านกฎหมาย |
4. ด้านกระบวนการยุติธรรม |
5. ด้านการศึกษา |
6. ด้านเศรษฐกิจ |
7. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
8. ด้านสาธารณสุข |
9. ด้านสือสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ |
10. ด้านสังคม |
11. ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด |
หลังจาก ครม. แต่งตั้งแล้ว คณะกรรมการปฎิรูปประเทศในแต่ละด้านก็จะจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ โดยที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องมาประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อจัดทำร่างแผนการปฎิรูปประเทศเสร็จให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะ พิจารณาแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านให้เกิดการบูรณาการและสอดคล้องกับแผนแม่บท ให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมายเป็นประธานของที่ประชุม และเมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งร่างให้คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาต่อ
เมื่อแผนการปฎิรูปประเทศประกาศใช้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยหากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการฯ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา
ความแตกต่างของ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ”
จากที่กล่าวถึงโครงสร้างของคณะกรรมการทั้งสามชุด จะเห็นว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” คือ คณะกรรมการชุดที่มีอำนาจเหนือกว่าคณะกรรมการอีกสองชุด กล่าวคือมีอำนาจแต่งตั้งและควบคุมการทำงานของ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ขณะที่เดียวกันก็มีอำนาจควบคุมการทำงานของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ในการร่างแผนการปฏิรูปประเทศ เช่นกัน ดังนั้นผลงานของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าวจึงต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากชื่อและที่มาของ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ที่แตกต่างกันแล้ว เรายังไม่เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีความแตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้านเพื่อเป็นแม่แบบให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จัดทำร่างแผนการปฎิรูประเทศให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ขณะเดียวกันเมื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทำการร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จ จะต้องจัดทำแผนแม่บทให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้วย
ทั้ง “แผนการปฏิรูปประเทศ” และ “แผนแม่บท” ของคณะกรรมการทั้งสองชุด ต่างทำหน้าที่คล้ายกันคือเป็นแผนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบ และให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยปฏิบัติตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ ความเหมือนกันอีกประการหนึ่งคือ ทั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ สามารถตั้งคณะกรรมการกี่คณะก็ได้ ซึ่งถ้านำการปฏิรูปประเทศ 10 ด้าน มาตั้งเป็นคณะกรรมการ ก็จะมีคณะกรรมการอย่างน้อย 20 คณะ แบ่งเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 10 คณะชุดละ 15 คน และ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 10 คณะ ชุดละ 14 คน รวมแล้วมีคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ อย่างน้อย 290 คน สอดรับจังหวะที่กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะสิ้นสุดการทำหน้าที่ลง และจะมีนักปฏิรูป “อาชีพ” กว่า 250 คน ที่กำลังจะว่างงาน
00000
*11 พฤศจิกายน 2560 บทความมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขกรรมการยุทธศาสตร์จากเดิม 34 เป็น 35 คน และแก้ไขจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน จากเดิม 28 เป็น 29 คน