รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง

ที่มาของการลงมติเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย เคยเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ชูศักดิ์เห็นว่า สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่าให้มีการทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าจะประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติ ดังนั้น จึงสามารถตีความได้ว่า หากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าว เพื่อตั้ง สสร. ถ้ารัฐสภามีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระสาม ก็ต้องจัดทำประชามติอยู่แล้วตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จึงสามารถทำประชามติได้สองครั้ง คือ

ครั้งแรก : เมื่อรัฐสภาอนุมัติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระสาม แล้วจึงจะค่อยสอบถามประชาชนในสองประเด็น หนึ่ง คือ “เห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” โดยถามไปพร้อมกับคำถามที่สองว่า “เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่”

ครั้งที่สอง : จะทำประชามติภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เสร็จสิ้นและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว

ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่าจะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระสู่ที่ประชุมของรัฐสภาได้ และกลายเป็นคำถามเกิดขึ้นว่า รัฐสภามีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ 

ชูศักดิ์ ศิรินิล และ สส. พรรคเพื่อไทย จึงเสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่” และถ้าหากว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสามแล้ว โดยสอบถามประชาชนไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ถ้าหากทำประชามติไปพร้อมกับกรณีมาตรา 256 (8) ไม่ได้ แล้วจะต้องสอบถามประชาชนในขั้นตอนใด

29 มีนาคม 2567 เวลา 12.40 น.ที่ประชุมรัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ โดยประธานรัฐสภาแจ้งว่าแต่ละฝ่ายมีเวลาอภิปรายสองชั่วโมง รวมทั้งสิ้นหกชั่วโมง ภาพรวมความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา แบ่งได้เป็นสามฝั่ง 1) ฝั่งที่เห็นด้วยให้ที่ประชุมมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ 2) ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยว่าไม่ควรส่งศาล และ 3) ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย

เพื่อไทย-รวมไทยสร้างชาติ เห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาโดยตลอดและการเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในครั้งนี้เป็นกระบวนการที่รัดกุมและรอบคอบ หากเราเดินตามวิธีการนี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความปลอดภัยและแก้ไขให้สำเร็จได้จริง

วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ กล่าวว่าตนนั้นเห็นด้วยกับการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะการทำประชามติหลายครั้งอาจจะนำไปสู่การสิ้นเปลืองงบประมาณ การทำประชามติเพียงสองครั้งก็มากเกินพอแล้ว ตนเห็นด้วยกับแนวทางของชูศักดิ์ ศิรินิล แต่เพื่อให้มีความชัดเจน จึงเห็นด้วยให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ไม่เสียของเมื่อทำมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่าตนนั้นเห็นด้วยกับการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อให้กระบวนการมีความชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร แต่หัวใจของประเด็นดังกล่าวคือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นก็ควรแก้ไขในเฉพาะสิ่งที่มีปัญหา โดยไม่ต้องทำประชามติให้เสียเวลาและงบประมาณ ทั้งนี้ยังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีที่มาจากผู้ทีมีความ “อิสระ” จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติในปี พ.ศ. 2559 

ก้าวไกลย้ำ ไม่เห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำประชามติแค่สองครั้งเพียงพอแล้ว

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส. พรรคก้าวไกลอภิปรายว่าตนสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอน แต่วันนี้รู้สึกหนักใจที่จะต้องมาพิจารณาเรื่องนี้ด้วยสาเหตุเพราะว่าประธานรัฐสภาไม่ยอมบรรจุร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ร่างสองฉบับนี้คล้ายกันและไม่ได้ขัดกับสิ่งใดเลย ซึ่งทั้งสองร่างมีเนื้อหาคล้ายกันคือให้มีการทำประชามติเพียงแค่สองครั้ง คือก่อนและหลังมี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ยังกังวลว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งจากกลุ่มคนที่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่เป็นคุณต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

สมชาย แสวงการ สว.ชุดพิเศษ อภิปรายโดยสรุปได้ว่า ตนคัดค้านการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในประเด็นนี้ คำวินิจฉัยที่ 4/2564 มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างภาระให้ศาลรัฐธรรมนูญอีก รัฐสภาสามารถวินิจฉัยเองได้ 

สว. ดิเรกฤทธิ์ ย้ำไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.ชุดพิเศษ กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะคำนึงถึงความสิ้นเปลืองของการที่จะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติหลายครั้ง และกังวลว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีกลไกปราบโกงหรือไม่ รวมถึงยังกังวลว่าการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งเพราะคนที่รักรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะออกมาปกป้อง

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ