จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายสมรสที่ยังรับรองสิทธิสมรสเฉพาะชาย-หญิง ให้รองรับการสมรสสำหรับบุคคลสองคนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง โดยเป็นการพิจารณารายมาตราในวาระสอง และการลงมติเห็นชอบในวาระสาม การพิจารณาในนัดนี้เป็นหนึ่งในจุดตัดสำคัญ ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะไปต่อได้หรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะตกไป หากมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา

ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ส่งไม้ต่อวุฒิสภา อาจได้พิจารณาโดย สว. 200 คน จากการเลือกกันเอง


ในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระหนึ่ง เมื่อ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสี่ฉบับ ได้แก่

1) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล
2) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกลไกรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อ (11,611 ชื่อ) เสนอร่างกฎหมายเข้าสภา
3) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
4) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์

โดยสภามีมติรับหลักการ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระสอง จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

หลังจากพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเสร็จแล้ว วันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่พิจารณาร่างกฎหมายเชิงรายละเอียดว่าจะมีทิศทางการเขียนในแต่ละประเด็นอย่างไร หากการพิจารณาวาระสองแล้วเสร็จ สภาผู้แทนราษฎรก็จะลงมติว่าจะเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับหรือไม่ในวาระสาม หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสามวาระต่อไป

เมื่อกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายถึงชั้นวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หายไปได้ เมื่อสว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้สามกรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม

กรณีแรก : ถ้า สว. เห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสามวาระ ก็เท่ากับร่างกฎหมายผ่านสองสภา และเตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กรณีที่สอง : ถ้า สว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ “ยับยั้ง” ร่างกฎหมายไว้ก่อนและส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินให้ลดเหลือ 10 วัน และ หากสภาผู้แทนราษฎรนำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ สส. 251 คน (ถ้ามีสส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่า ร่างฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กรณีที่สาม : ถ้า สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร และถ้า สส. เห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

อย่างไรก็ดี สมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ก็กำลังจะปิดในวันที่ 10 เมษายน 2567 และจะเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่ง สว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจาการแต่งตั้งโดย คสช. กำลังจะหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และคาดว่า สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ น่าจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 จึงมีโอกาสที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาของโดยวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน

อ่านขั้นตอนการพิจารณากฎหมายได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667


จับตาแก้ไข ปรับอายุขั้นต่ำสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปี

ในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระหนึ่ง ร่างแต่ละฉบับมีเนื้อหารายละเอียดที่แตกต่างกัน หนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือการกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ กำหนดให้ชายและหญิงจะสมรสได้ต่อเมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์

ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสามฉบับ ได้แก่ 1) ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล 2) ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน 3) ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างกำหนดแก้ไขอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสเป็นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อจัดเกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดให้ “เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจดทะเบียนสมรสได้ อีกนัยหนึ่งก็เป็นเหมือนการให้เด็ก (ตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) สามารถสมรสได้ ขณะที่ร่างฉบับที่เสนอโดย ครม. ยังกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสอยู่ที่ 17 ปีบริบูรณ์

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการมาแล้ว และจะเข้าสู่วาระสอง มีการปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสให้อยู่ที่ 18 ปี ซึ่งการแก้ไขจะต้องยืนยันด้วยมติของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเห็นด้วยให้แก้ไขเป็น 18 ปีหรือไม่ ต้องจับตาดูในการพิจารณารายมาตราวาระสองว่า มติของสภาจะเห็นด้วยในทิศทางใด

อ่านสรุปเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสามฉบับ ที่เสนอวาระหนึ่ง ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6353