13 ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ทำไมรัฐบาลควรรีบมีรัฐธรรมนูญใหม่

หลัง #conforall รวมรายชื่อ 211,904 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติเปิดทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จนผ่านเข้าไปถึงมือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีเริ่มกระบวนการประชามติอย่างจริงจังตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้การเน้นย้ำว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหามากขนาดไหนยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกันพูดซ้ำอีกมาก

เมื่อพิจารณาแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ “ที่มา” จากคณะรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาในเชิง “เนื้อหา” ด้วยไม่แตกต่างกัน จนกระทบสิทธิของคนไทยทุกคนตลอดระยะเวลาเจ็ดปีไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม

หลังการเลือกตั้งปี 2566 ผ่านพ้นไปและประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นโอกาสอันดีและควรเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการกำจัด “ผลไม้พิษ” อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 และยุติปัญหาที่กระทบประชาชนทั้งประเทศโดยไม่ประวิงเวลาออกไปมากกว่านี้

ปัญหาในเชิงที่มา

  1. มาจากการรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจในปี 2557 โดย คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อยกร่าง ก่อนที่จะนำมาทำประชามติในเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อขอความชอบธรรม โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะของความพยายามสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารด้วยการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน พร้อมทั้งให้อำนาจ สว. ในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และมีอำนาจตามบทเฉพาะกาลในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. ด้วย

ปัญหานี้แสดงผลลัพธ์ให้เห็นแล้วในการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา เมื่อ สว. ไม่ยอมลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ได้จำนวน สส. เยอะที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร

  1. ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ไม่เสรี

ในช่วงของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ไม่ได้เป็นการทำประชามติที่มีเสรีภาพในการรณรงค์อย่างแท้จริง เพราะขณะนั้นการรณรงค์อยู่ภายใต้ประกาศของ คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ขณะเดียวกันยังได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) โดยมีข้อกำหนดในมาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่เพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง โดยกำหนดโทษจำคุกไว้ถึง 10 ปี 

กติกาที่จำกัดเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติ ทำให้มีประชาชนที่ออกมารณรงค์ออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกดำเนินคดีตามมาอีกอย่างน้อย 195 คน

การดำเนินคดีกับคนเห็นต่างเป็นเสมือนการบีบบังคับให้ทุกคนต้องเห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ

  1. คำถามประชามติกำกวม

คำถามสำหรับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เองก็มีปัญหา เพราะนอกจากจะถามความคิดเห็นของประชาชนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่แล้ว ยังมีคำถามเพิ่มเติมอีกหนึ่งคำถาม คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” หรือ สรุปคำถามอย่างเข้าใจง่ายๆ คือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้ สว.ชุดพิเศษ จากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส.

คำถามพ่วงนี้เป็นประเด็นเพิ่มเติมจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ถุกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงคำถามนี้มากนัก มีความกำกวม และคำถามนี้ถูกติติงว่า ยาวเกินไป และมีลักษณะเป็นคำถามนำเพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และมีคำยากที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการตีความของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน

  1. มีการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญภายหลังการทำประชามติ

ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 หลังผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติไปแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เตรียมลงพระปรมาภิไธย สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาถึงรัฐบาลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระกระแสรับสั่งว่ายังมีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจอยู่สามถึงสี่เรื่อง 

วันที่ 20 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ รัฐบาลจึงรับทูลเกล้านำมาปรับแก้ไข ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตพระราชทานขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เพื่อลงพระปรมาภิไธย (ให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการทำประชามติไปแล้วถูกแก้ไขใหม่อีกครั้งก่อนการประกาศใช้ และไม่ได้มีการนำร่างฉบับที่แก้ไขไปแล้วกลับมาถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อนบังคับใช้

ปัญหาในเชิงเนื้อหา

  1. ปลดอาวุธประชาชน ไม่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยรับรองสิทธิในการเข้าชื่อโดยประชาชนในการยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด โดยนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 304 ระบุไว้ว่า ต้องใช้การเข้าชื่อของประชาชนมากกว่า 50,000 ชื่อ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 271 ระบุเอาไว้ว่า ต้องใช้เพียง 20,000 ชื่อเท่านั้น

อำนาจของประชาชนในส่วนนี้ถูกตัดออกไปในรัฐธรรมนูญ 2560 และแทนที่ด้วย “มาตรฐานจริยธรรม” ในพระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่ถูกออกแบบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผู้มาจากการเลือกโดย คสช. สำหรับการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา

  1. มาตรฐานจริยธรรมใช้สอยนักการเมือง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ซึ่งแม้ว่าในกฎหมายจะระบุว่าการจัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นของ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี แต่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ประกาศใช้มาตรฐานจริยธรรมนี้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2561 ซึ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจาก สส. เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

มาตรฐานจริยธรรมนี้มีข้อกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง เนื่องจากหาก ป.ป.ช. ไต่สวนและส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา แล้วศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีการกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็สามารถสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตได้ และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ 

  1. องค์กรอิสระขาดความยึดโยงกับประชาชน 

องค์กรอิสระมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยองค์กรอิสระเกิดขึ้นครั้งแรกจากรัฐธรรมนูญ 2540 และมีที่มาจาก สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาสำคัญขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน แต่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งจากอำนาจฝ่ายตุลาการเป็นส่วนใหญ่ และได้ความเห็นชอบ จาก สว.ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. จึงส่งผลให้เกิดข้อครหาถึงความได้สัดส่วนของอำนาจ ที่มา และการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน

  1. สวัสดิการประชาชนลดลง

รัฐธรรมนูญ 2560 มีการรับรองสวัสดิการของประชาชนเอาไว้ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แต่ในเนื้อหากลับมีการตัดคำบางคำออกไปจนกลายเป็นช่องว่างให้รัฐสามารถดูแลหรือจัดทำสวัสดิการของประชาชนน้อยลงได้ ตัวอย่างสำคัญ คือ การรับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ “โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” แต่กลับไร้การขยายความว่าต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ ดังที่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ คือ ในอดีตรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับ “การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี” แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ตัดคำว่า “พื้นฐาน” ออกไปจนสามารถตีความให้เริ่มสวัสดิการนี้ตั้งแต่ระดับใดก็ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ประยุกต์แนวคิดนี้ต่อด้วยการระบุให้ย้ายไปครอบคลุมเพียง “ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ” แทน เป็นต้น

  1. สิทธิประชาชนไม่ชัดเจน

สิทธิจำนวนมากถูกรับประกันโดยรัฐธรรมนูญ 2560 คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทว่าสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับประกันเอาไว้ยังมีความกำกวมและข้อจำกัดจำนวนมากที่สามารถเปิดโอกาสให้ตีความในทางที่ไม่เป็นคุณต่อประชาชนได้

ตัวอย่างสำคัญ เช่น มาตรา 27 ระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” แต่ไม่ได้เจาะจงความหมายของคำว่า “ชายและหญิง” หรือ “เพศ” นั้น หมายความเฉพาะแค่เพศกำเนิด (Sex) หรือหมายความรวมเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexual Orientation) เข้าไปด้วย อีกทั้งยังมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2466 มาตรา 1448 ที่ระบุว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มาตรา 26 ว่าด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และมาตรา 27 ว่าด้วยการคุ้มครองให้บุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพได้เท่าเทียมกัน 

กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ย้ายสิทธิหลายประการไปอยู่ในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้เป็นสิทธิของผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับเปลี่ยนให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ต้องจัดมาตรการหรือกลไกคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง 

  1. ขยายเงื่อนไขจำกัดเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ด้วยคำที่เฉพาะเจาะจง เช่น สภาวะสงครามหรือกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งการใช้คำที่คลุมเครือเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง และมักถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในช่วงของการชุมนุมทางการเมือง

ตัวอย่างสำคัญ เช่น ภาคประชาชนเคยยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพราะมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

  1. นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น สส. ก็ได้ 

ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. เพื่อให้เกิดความยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้กำหนดในจุดนี้ไว้ แต่กำหนดให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. ก่อนการเลือกตั้ง แต่บุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีการเขียนข้อยกเว้นด้วยว่า สส. และ สว. สามารถลงคะแนนเพื่อยกเว้นให้สามารถเสนอชื่อ “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ชาติคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปกติ แต่ถูกยึดโยงไว้กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่เริ่มต้นในสมัย คสช. อย่างแยกไม่ขาด ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังประกอบไปด้วยกลุ่มทุนใหญ่และทหารจำนวนมากอีกด้วย

ปัญหาสำคัญ คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีภายใต้แนวทางที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ให้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาโยงใยจาก คสช. ได้

  1. พระมหากษัตริย์ถูกเขียนให้มีพระราชอำนาจจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคล

สถานะของพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการระบุขอบเขตของพระราชอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับอำนาจอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เพิ่มกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า

รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เอาไว้เหมือนกันว่า มีพระราชอำนาจสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และแต่งตั้งหรือสั่งให้ราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งใดตามพระราชอัธยาศัย อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ย้ายพระราชอำนาจในการเรียกคืนเครื่องราชฯ มาไว้ในรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมอำนาจนี้จะอยู่ในรัฐธรรมนูญหมวดคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่เกิดการปรับเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญ 2560 จนกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจในระบบการเมือง คือ มาตรา 15 ที่ระบุให้การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งเป็นการกำหนดพระราชอำนาจที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญก่อนหน้า

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องเมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 กำหนดให้โอนกิจการ อำนาจหน้าที่ และทรัพย์สิน ของหลายหน่วยงานไปยัง “ส่วนราชการในพระองค์” เช่น กรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหมด้วย

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป