“ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” เครื่องมือสอยนักการเมืองจากรัฐธรรมนูญ’60

“มาตรฐานทางจริยธรรม” เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอีกชิ้นหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เอาไว้ควบคุมนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แม้โดยกฎหมายจะบังคับใช้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระด้วยก็ตาม แต่อำนาจในการออกมาตรฐานทางจริยธรรม การดำเนินคดี และการลงโทษล้วนอยู่ในมือของศาลและองค์กรอิสระทั้งสิ้น นับจนถึงคดีล่าสุดของ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส. พรรคอนาคตใหม่ มีนักการเมืองถูกตัดสินว่าผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้วจำนวนสี่คน

ผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ในการจัดทำต้องรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ในการจัดทำต้องรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง 

หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ถึงปี ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเสร็จ โดยใช้ชื่อว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561

แน่นอนมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ถูกใช้บังคับแก่ สส. สว. และครม. ด้วยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสอง อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมในช่วงนั้นก็ไม่ได้มีการรับฟังความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง สส. เกิดขึ้น 

มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ฉบับนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมดสี่หมวดด้วยกัน โดยหมวดที่ 1-3 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติตาม โดยมีหมวดที่สำคัญที่สุดคือ “หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์” ข้อ 5-10 ซึ่งหากใครถูกตัดสินว่าผิดในหมวดนี้ก็จะเข้าข่ายผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยเนื้อหาในหมวดนี้ประกอบด้วย

  • “ข้อ 5 ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  • ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
  • ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับไว้”

นอกจากเนื้อหาในหมวดที่ 1 จะถูกระบุให้เป็นความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงแล้ว ถ้าทำความผิดใน “หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก” และ “หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป” ก็สามารถถูกพิจารณาให้มีลักษณะร้ายแรงได้ โดยให้พิจารณาถึงพฤติกรรม เจตนาและความร้ายแรงของความเสียห

ผู้อำนาจลงโทษตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

รัฐธรรมนูญ 2560 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และหาก ป.ป.ช. เห็นว่ามีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

ทั้งนี้ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

เมื่อดูจากเนื้อหามาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ จะเห็นว่ามีความเป็นนามธรรมสูง ตีความยาก เช่น พฤติกรรมใดที่แสดงออกว่าไม่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือปกป้องความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้การให้คำนิยามและระดับของมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นการลงโทษว่าบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจึงขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาเป็นหลัก

ย้อนรอย 4 นักการเมืองเหยื่อมาตรฐานทางจริยธรรม

นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกบังคับใช้มาถึงปี 2566 มีนักการเมืองถูกศาลฎีกาตัดสินว่าผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจำนวนถึงสี่คน โดยมาจากต่างพรรคการเมืองกันทั้งหมด และได้รับบทลงโทษที่รุนแรงเหมือนกันคือถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยทั้งสี่คนประกอบด้วย

  1. ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ศาลฎีกาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณี เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบเมื่อ 18 ปีก่อน
  2. กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณีรุกป่าเขาใหญ่
  3. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จากกรณีถูกกล่าวหาเสียบบัตรลงคะแนนแทน
  4. พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ กรณีโพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊ก กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ร้าย