สองปีแล้วสินะ: ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ ผูกขาดอยู่ที่ใคร?

 

“ประชาชนสังคมไทยต้องตัดสินได้เเล้วว่า อะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม
บุคคลนี้ทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมืองบ้างในบทความที่เขาได้อธิบาย
เขาได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีเพียงใด”

คำพูดตอนหนึ่งของพลตรีวีระชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล เขียนบทความวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หลังได้ยินประโยคดังกล่าว ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยเป็นคำถามในใจว่า ปีสองปีมานี้ รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำว่า ‘เพื่อผลประโยชน์’ ของชาติบ้านเมืองไปแล้วกี่มากน้อย ใช้ในบริบทอะไรบ้าง ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับต้นตอวาทกรรมผลประโยชน์ของชาติ ที่ฝ่ายรัฐนำมาอ้างบ่อยในระยะหลังนี้เสียก่อน

แน่นอนว่า เรามาถึงจุดนี้เเล้ว สองปีกับรัฐประหารครั้งหลังสุด ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านเหตุผลกล่าวอ้าง… เพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ป้องกันสิ่งร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ  ให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ให้เกิดความชอบธรรมทั่วทุกฝ่าย ในระยะหลังเริ่มหลุดคำว่า “รักษาระยะเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งก็ยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่าเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไร

หากนับจากยุคม็อบมวลมหาประชาชน ถึงยุคปฏิรูปเพื่อชาติบ้านเมือง สังคมไทยมีคนมากมายที่ใช้คำว่า… “ทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ” คำคำนี้ถูกทำให้ดังขึ้นมากมายนับครั้งไม่ถ้วน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

มีเอกราช, อธิปไตย, สมานฉันท์, สามัคคี, ปรองดอง, ความปลอดภัย, ความเป็นธรรม, อยู่ดีมีสุข, ฐานทรัพยากรธรรมชาติมั่นคง, อยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติสุข, ปราศจากภัยคุกคาม, มีเกียรติและศักดิ์ศรีในประชาคมระหว่างประเทศ … คือ 12 ประการหลักที่ผู้เขียนพอจะนึกออก หากจะพูดถึง “ผลประโยชน์ชาติ” ตามหลักสากล

และถึงมีนโยบายเพื่อเป้าหมายเหล่านี้จริง ด้วย 12 ประการที่ยกมา ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะก่อเกิด “ผลประโยชน์ของชาติ” อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?

ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า สังคมใดที่ผู้คนหันมองทางไหนก็พบแต่ปัญหา รู้สึกว่ายากจะตอบได้ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ปัญหาต่างๆ ล้วนแต่ต้องการทางออก และยังหาทางออกไม่ได้ บ่งชี้ว่าผลประโยชน์ประเทศชาติมีปัญหา เพราะทั้ง 12 สิ่งไม่ได้ถูกทำให้เป็นเจตจำนงร่วมกันของคนทั้งประเทศ

แม้กระทั่งราษฎรอาวุโสคนหนึ่งเพิ่งออกมากล่าวถึงรัฐบาลว่า เข้าใจว่าทหารเคยชินแต่ระบบบังคับบัญชา แต่ก็ควรทำความเข้าใจว่าประเทศบริหารงานด้วยระบบราชการที่มีความซับซ้อน ดังนั้นควรบริหารงานให้มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หากรัฐทำงานเชิงส่งเสริมเครือข่ายได้ผลก็จะทำงานที่ยากได้ง่าย

“ผลประโยชน์ชาติ” จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานขององค์กรเพียงหนึ่ง หรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่มาออกแบบและผูกขาดการทำผลประโยชน์ชาติ  

นับแต่เรื่องปากท้องอย่างนโยบายทางเศรษฐกิจ การก่อเกิด ‘บริษัทประชารัฐรักสามัคคี’ การตลาดเพื่อสังคมที่ตั้งเป้าเปิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนำร่องในหลายพื้นที่อย่าง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด และบริษัทชื่อคล้ายกันในเชียงใหม่ อุดรธานี เพชรบุรี และภูเก็ต

ก็ยังไม่แน่ว่าประชาชนทราบหรือไม่ว่าคืออะไรและจะทำอะไรกันแน่? ใครได้ใครเสีย? เอื้อประโยชน์สิ่งใดให้เอกชนบางกลุ่มเข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนหรือไม่?

ยิ่งเฉพาะกติกาที่วางหลักให้คนอยู่ร่วมกัน เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ ในภาวะที่มีผู้ขัดแย้ง แสดงออกไม่เห็นด้วยต่อร่างฯ ฉบับนี้ และออกมารณรงค์ชักชวนให้ประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 ไว้ขู่บังคับใช้ ซึ่งแม้ภายหลังผลประชามติจะผ่านพ้นด้วยชัยชนะอันท้นท่วมของฝ่ายรับ อันนับเป็นจุดแสดงการสืบทอดผลประโยชน์ของชาติอย่างต่อเนื่อง 

สามนักกิจกรรมกับหนึ่งนักข่าวถูกจับในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ขณะเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านที่ราชบุรี

“เพราะฉะนั้นคนไทยคงต้องทำใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทหารจะอยู่ยาวแล้วอ้างการปฏิรูปประเทศ อ้างช่วงเปลี่ยนผ่าน หรืออ้างความขัดแย้งทางการเมือง เราทุกคนคงจะต้องทำใจ กับความเป็นจริงที่ว่า ประเทศไทยนั้นมีตัวตลกเป็นนายกฯ” เป็นประโยคจบของ “สำรวม สุภาพ สุขุม ท่วงทำนองที่ผู้นำไทยไม่มี” ข้อเขียนจากหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผ่านเว็บไซต์ประชาไทที่ทำให้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ ซึ่งผู้เขียนเห็นควรให้เป็นบทสรุปของคำถามที่ว่า สองปีแล้วสินะ ผลประโยชน์ของชาติผูกขาดอยู่ที่ใคร ส่วน “จะยืดยาวไปอีกแค่ไหน?” เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งเพิ่งผุดขึ้นในใจ แต่ยังไร้วี่แววของปลายทางคำตอบ…