อาจจะนานถึง 9 ปีกว่าที่ก้องจะได้กลับคืนสู่โลกของพวกเรา

13 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยืน” ในคดีของอุกฤษฏิ์ หรือ ก้อง ให้จำคุกตามมาตรา 112 เป็นเวลาห้าปี กับอีก 30 เดือน โดยศาลระบุว่า “จำเลยมีอายุ 23 ปีแล้ว ย่อมมีวิจารณญาณ รู้ว่าสิ่งไหนควรไม่ควร อีกทั้งจำเลยยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ย่อมมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายมากกว่าคนทั่วไป” เป็นครั้งที่สองที่ก้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และในครั้งนี้ ทั้งสถานการณ์ของคดีและสถานการณ์บ้านเมืองทำให้มองไม่เห็นกำหนดว่า ก้องจะต้องอยู่ในนั้นนานเพียงใด

ก้องเป็นเด็กหนุ่มที่หอบชีวิตและเรื่องราวมาจากจังหวัดชลบุรี ก้องเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แต่พูดช้าๆ และพูดไม่ค่อยชัดด้วยรูปปากของเขา ในวัยเด็กก้องเริ่มสนใจปัญหาบ้านเมืองมาตั้งแต่ปี 2549 ในยุคเพิ่งเริ่มต้นของความวุ่นวาย ก้องเติบโตมากับคำถามสำคัญว่า “คนเก่งๆ อย่างนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้มีผลงานดีๆ มากมาย ทำไมยุคนั้นถึงมีคนเกลียดชังด้วย” นี่คือประตูบานแรกที่ทำให้เขาเริ่มสนใจการเมือง ปัญหาสังคม วิกฤติของคนยากคนจน 

ก้องยังโตมากับการเฝ้ามองการรัฐประหารปี 2557 ที่กระตุกความสนใจของก้องให้เบนเข็มมาดูปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ความสัมพันธ์ของกองทัพและรัฐไทย 

และในยุคสมัยที่กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดผ่าน ปี 2563 ก้องเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม “ลูกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ” เขาไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ใช่คนจัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้ไปร่วมแสดงออกตามสิทธิพึงมีของประชาชนคนหนึ่ง 

ผ่านมาหนึ่งปีหลังขึ้นปราศรัย เขาถูกจับกุมโดยตำรวจบุกเข้าจับกุมในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 พร้อมค้นห้อง ยึดสมุดโน้ต มือถือ และสมุดบัญชีธนาคาร ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ในฐานะว่า ก้องเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าทรงประชวร ก้องถูกห้ามไม่ให้ติดต่อใครและถูกกดดันให้สารภาพขณะทนายความยังเดินทางมาไม่ถึง โดยในเอกสารยังระบุด้วยว่าในการสอบสวน ผู้ต้องหา “ไม่มีและไม่ต้องการ” ให้มีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบปากคำ

หลังได้ประกันตัวในคดีแรก ก้องยังไม่ทันได้ก้าวขาออกไปไหน ก็ถูกตำรวจสภ.บางแก้ว แสดงหมายจับว่า ก้องยังมีคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีฐานใช้เฟซบุ๊กแชร์ข่าวการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี และได้เขียนข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ทำให้เขากลายเป็นผู้ต้องหาสองคดีไปพร้อมๆ กัน

คดีแรก ก้องถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ต้องถูกจำคุกห้าปี 30 เดือน หรือประมาณเจ็ดปีครึ่ง หลังถูกพิพากษา ก้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที โดยศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะมองว่า “ลักษณะการกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อความสงบสุขมั่นคงของรัฐ” ก้องถูกคุมขังข้ามปีจนกระทั่งเกิดกระแสเรียกร้องจากการการอดอาหารและน้ำของ #ตะวันแบม ทำให้นักโทษทางการเมืองหลายคนทยอยได้ประกันตัวในช่วงต้นปี 2566 รวมทั้งก้องด้วย ก้องได้รับประกันตัวหลังถูกจองจำรอบแรกไปแล้ว 46 วัน

ไม่นานหลังได้ปล่อยตัว ก้องก็ต้องไปฟังคำพิพากษาในคดีที่สอง ซึ่งเขาก็ถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องถูกจำคุกสองปี แต่ศาลยังให้ประกันตัวต่อทันที

ประมาณหนึ่งปีผ่านมา ก้องกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยหวังให้จบการศึกษาในปี 2567 ระหว่างการเรียน ก้องตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมกับ “กลุ่มทะลุราม”  เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาสังคม นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำ “ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน” เพื่อศึกษาปัญหาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความฝันที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อยของเขาไม่เคยมอดดับลงแม้อนาคตข้างหน้ายังพร่าเลือน

ต้นปี 2567 ทั้งสองคดีของก้องก็มาถึงวันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยืน” ทั้งสองคดี ซึ่งมีโทษรวมกันแล้วประมาณเก้าปีครึ่ง โดยในคดีแรกที่โทษหนัก ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้ก้องยังต้องการใช้สิทธิขอต่อสู้คดีต่ออีกชั้นหนึ่งในศาลฎีกาก็ตาม 

ก้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำรอบที่สองในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และด้วยจำนวนโทษที่มาก ก้องยังสามารถที่จะยื่นขอประกันตัวไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่รอลุ้นผลคดีที่อาจจะดีขึ้นจากศาลฎีกา ซึ่งกว่าจะได้รู้ก็ต้องรออีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ถ้าหากยื่นขอประกันตัวไม่สำเร็จ ก้องก็มีทางเลือกที่จะ “ยอม” ยุติการต่อสู้เพียงเท่านี้ เพื่อหวังให้คดีถึงที่สุด และยื่นขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ หรือรอลุ้นการได้ลดโทษตามวาระโอกาสต่างๆ ก็ได้ ซึ่งก็ไม่มีความแน่นอนว่า เขาจะได้ลดโทษหรืออภัยโทษหรือไม่

หรือต้องรออีกนานเกือบสิบปี ก่อนจะได้อิสรภาพกลับคืนอีกครั้งแม้เวลาของคนอื่นจะเดินต่อไปแต่เวลาของก้องจะถูกหยุดอยู่กับที่ในเรือนจำ หนทางตามกฎหมายอีกทางหนึ่งที่ก้องจะได้รับอิสรภาพเร็วขึ้น คือ มีการออกกฎหมายโดยรัฐสภาเพื่อ แก้ไขมาตรา 112 ให้มีอัตราโทษลดลง หรือยกเลิกมาตรา 112 ก็จะทำให้คดีของก้องยุติลงทันที หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็จะทำให้ก้องได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายได้ แต่การตอบรับจากรัฐสภาในเรื่องนี้ก็ยังจำกัดอยู่มากในภาวะที่เสียงเรียกร้องเพื่อก้องและเพื่อนๆ ในเรือนจำ ยังดังไปไม่ถึงหูของพวกเขา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *