รวมข้อมูลความเคลื่อนไหวการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อ #สมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวนสี่ฉบับในวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 นับเป็นก้าวแรกของเส้นทางการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQINA+)

อย่างไรก็ดี การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อสมรสเท่าเทียมในปี 2566 ที่พิจารณาต่อเนื่องถึงปี 2567 นั้นไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเคยถูกเสนอและเข้าสู่การพิจารณาของสภามาแล้วในเดือนมิถุนายน ปี 2565 นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นยังมีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนที่ใช้ช่องทางยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเวลาก่อนที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกเสนอเข้าสภา และเป็นประเด็นที่พูดคุยในสังคม แนวทางการผลักดันกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศของหน่วยงานรัฐ ก็ไม่ใช่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องการสมรสโดยตรง แต่อยู่ในรูปแบบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) เพื่อเป็นกฎหมายอีกฉบับสำหรับรับรองสิทธิจดทะเบียนคู่ชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเส้นทางการผลักดันกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย กินเวลาเกินกว่า 10 ปี

ผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายแยกรับรองจดทะเบียนคู่ชีวิต แยกจากกฎหมายแพ่งสมรส

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงจุดเริ่มต้นของการผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 9 สิงหาคม 2555 นที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี เดินทางไปที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอจะทะเบียนสมรส แต่นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณสมบัติของผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายชายทั้งคู่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ที่กำหนดว่า การจดทะเบียนสมรสจะทำได้ต่อเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นชาย ฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง

ทั้งคู่เห็นว่า คำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพราะความแตกต่างทางเพศ จึงร้องเรียนยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง

คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วพบอุปสรรคทางกฎหมายหลายประการที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรส คณะทำงานจึงเสนอแนวคิดว่า น่าจะมีร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน แล้วจะเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ก็เกิดเหตุการณ์รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ได้เข้าสภา แต่ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เอง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อให้รัฐบาลเสนอต่อสนช. ทว่าสนช. หมดอายุไปเสียก่อน จึงไม่ได้เข้าสู่การพิจารณา

หลังการเลือกตั้ง 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเสียงมติจากรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยเสียงจาก สส. และ สว. ชุดพิเศษเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์สอง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรและพิจารณาไปพร้อมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยสภารับหลักการทั้งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ใช้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พิจารณาเป็นร่างหลักในชั้นกรรมาธิการ

อ่านเพิ่มเติม

ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าสภารัฐบาลประยุทธ์สอง

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ซึ่งผลปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่องค์กรทางการเมืองที่สำคัญอย่างฝ่ายนิติบัญญัติก็มีส่วนที่เข้ารูปเข้ารอยกว่ายุครัฐบาล คสช. โดยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

เดือนมิถุนายน 2563 สส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา ใช้เวลากว่าสองปีร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมิถุนายน 2565

ก่อนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านวาระหนึ่ง ก็ถูกครม. “ยื้อเวลา” นำไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน นอกจากนี้ ก่อนที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกเสนอเข้าสภา ประชาชนก็ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญผ่านศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แม้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่สภามาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ก็พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 เนื่องจากครม. ชุดใหม่หลังเลือกตั้งไม่ได้ร้องขอต่อรัฐสภาให้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงตกไป นำมาสู่การเสนอเข้าสภาใหม่ในช่วงปลายปี 2566

อ่านเพิ่มเติม

สารบัญ

แสดง / ซ่อน
  1. Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส
  2. #สมรสเท่าเทียม : สำรวจหลักกฎหมายและร่างพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส
  3. เปิดผลโพล #สมรสเท่าเทียม 99.9% เห็นด้วยให้มีกฎหมายรับรองสิทธิจดทะเบียนสำหรับเพศหลากหลาย
  4. แจกแจงประเด็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สนข้อกฎหมาย ไม่เข้าใจ #สมรสเท่าเทียม
  5. สภาอนุมัติครม. เตะถ่วง #สมรสเท่าเทียม 60 วัน ด้านส.ส.ประชาชาติ ห่วงกฎหมายขัดหลักศาสนาอิสลาม
  6. เปิดเทคนิคใหม่รัฐบาล เตะถ่วงร่างกฎหมาย ขอศึกษาก่อน 60 วัน
  7. หน่วยงานรัฐไหนบ้าง? เห็นด้วยกับการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม
  8. เทียบชัดๆ ร่างพ.ร.บ.แก้ประมวลกฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่างกันยังไง?
  9. สภารับหลักการร่างแก้กฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จับตาต่อวาระสอง-สาม
  10. ได้ครม. ชุดใหม่ช้า กฎหมายค้างท่อสภาชุดก่อนหมดโอกาสพิจารณาต่อจากเดิม

ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

หลังการเลือกตั้งปี 2566 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง โดยสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม