‘โรดแมป 19 เดือน’ อาจถูกขยาย ‘เลือกตั้ง’ อาจต้องเลื่อนยาวถึงปลายปี 2561

ขั้นตอนต่างๆ หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านจนไปถึงการเลือกตั้งนั้นอาจใช้เวลาถึง 19 เดือน แต่หลังพล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องถูกแก้ไขอีกในหมวดพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง พร้อมทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์พิจารณาใหม่ และอาจจะใช้เวลาเพิ่มอีก 4 เดือน เท่ากับว่า โรดแมปสู่การเลือกตั้งอาจถูกขยายและการเลือกตั้งอาจเลื่อนไปไกลถึงปลายปี 2561

แม้ช่วงก่อนลง #ประชามติ #ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 บุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายคนจะออกมายืนยันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในปี 2560 แต่หากพิจารณาจากขั้นตอนต่างๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นว่า “โรดแมป” ที่ว่านั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดเส้นทางไว้ว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ให้ดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้
1. หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน
2. พระมหากษัตริย์อาจลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน
ซึ่งรวมเป็นระยะเวลา 120 วัน หรือ 4 เดือน และถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ดำเนินตามโรดแมปซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้
1. เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ให้เสร็จภายใน 240 วัน
2. จากนั้น กรธ. จะส่งร่าง พรป. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน
3. จากนั้นให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
เมื่อรวมความแล้ว ตามโรดแมปที่เขียนไว้ หากนับตั้งแต่วันลงประชามติ จะใช้เวลาอีกไม่เกิน 30+90+240+60+150 = 570 วัน หรือ 19  เดือน กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดนี้ จึงควรจะได้เลือกตั้งอย่างช้าประมาณเดือนมีนาคม 2561 หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้หากทุกคนทำงานเสร็จไว ใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนดไว้
แต่เนื่องจากหลังเสร็จประชามติ ยังมีกระบวนการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก คือ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง กรธ.พิจารณาแก้ไขและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ใช้เวลาไปอีกกว่าสองเดือน เป็นเหตุครั้งแรกที่ทำให้โรดแมปต้องเลื่อนออกไป และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ล่าช้ากว่าโรดแมปประมาณสองเดือน
แต่ทว่า ยังมีเหตุให้คสช. ต้องเลื่อนโรดแมปอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่า พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ และให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมกับนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ จะพบว่า จากขั้นตอนเดิมที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน ถูกเพิ่มทางเลือกให้พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าไป ถ้าหากพระมหากษัตริย์มีรับสั่งให้แก้ไขก็ให้นายกรัฐมนตรีนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมกับนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่ ภายใน 30 วัน จากนั้นถึงจะเป็นให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน
อย่างไรก็ดี หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบโดยไม่ได้พระราชทานประเด็นให้แก้ไข โรดแมปเดิมก็จะยังคงเดินต่อไป แต่ทว่าหากพระราชทานข้อสังเกตควรแก้ไข รัฐบาลก็จะต้องแก้ไขตามข้อสังเกตก่อน และโรดแมปก็จะถูกยืดออกไปอีกอย่างน้อย 4 เดือน เท่ากับว่า ระยะเวลาไปสู่การเลือกตั้งภายใน 19 เดือน ตามโรดแมปจึงอาจถูกขยายและระยะเวลาที่เป็นไปได้อย่างช้าที่สุด คือ จะมีการเลือกตั้ง “ปลายปี 2561”
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น