“สนช.” แถลงผลงาน 1 ปี ปัดเป็นสภาตรายางใต้ท็อปบูท แย้มอาจมีสมาชิกนั่ง “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”

 

วันที่ 9 กันยายน 2558 ที่รัฐสภา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 และพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 พร้อมด้วยประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสนช.ทั้ง 16 คณะ ร่วมกันแถลงสรุปผลงาน สนช. ครบ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2557 – 7 สิงหาคม 2558

พรเพชร กล่าวว่า พอใจภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยในรอบ 1 ปี มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. 143 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมา ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงกฎหมายที่เป็นพันธกรณีกับต่างประเทศ  สนช.ทราบดีว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เราต้องพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการพิจารณากฎหมาย

ส่วนงานด้านอื่นๆ เช่น การให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาที่รัฐบาลต้องไปทำกับต่างประเทศ การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการตั้งกระทู้ถาม เป็นการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล ไม่ใช่คอยจับผิดรัฐบาล ส่วนหน้าที่เกี่ยวกับการถอดถอนและรับรองการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรอิสระก็เป็นหน้าที่ที่ทำไปด้วยความรอบคอบเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด ขณะที่งานด้านต่างประเทศจะเกี่ยวกับภาพลักษณ์ การยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรรัฐสภาโลกที่จับตามองเราอยู่ ซึ่ง สนช. ก็ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ว่ามีหลักการเดียวกัน ซึ่งเขาเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยสันติภาพ สนช. เองก็ยืนยันหลักการเดียวกันนี้

ลงพื้นที่ 20 จังหวัด พบประชาชน 2 หมื่นคน คุยกระแสตอบรับเยี่ยม

ด้านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวว่า เนื่องจาก สนช. มีหน้าที่ทั้งงานด้านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้น นอกจากงานด้านกฎหมายแล้ว ยังมีงานด้านอื่นๆ เช่น การดูแลทุกข์สุขของประชาชน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาความเดือดร้อน และปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ เข้าสู่การร้องเรียนรวม 531 เรื่อง โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จไปแล้ว 290 เรื่อง หรือร้อยละ 53

นอกจากนี้ เรายังมองไปข้างหน้าว่า ในอนาคตที่จะมีการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าถ้าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สมบูรณ์ และเป็นของประชาชนที่แท้จริง  สนช.จึงจัดโครงการให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครอง 2 โครงการ มีเยาวชนผ่านการอบรมทั่วประเทศ 374 คน และประชาชนทั่วไปที่ผ่านการอบรมอีก 840 คน

ขณะที่พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 กล่าวว่า สนช. มีโครงการ สนช.พบประชาชน ลงพื้นที่พบปะประชาชนใน 20 จังหวัด  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20,000 คน ที่น่าสนใจคือมีคำถามจากประชาชน 4,000 คำถาม ถือว่ามีกระแสตอบรับที่ดีมาก

 ประธาน สนช. เผย อาจมีสมาชิก สนช. 1-2 คน นั่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

นายพรเพชร กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่จะทำในปีหน้านั้น เดิมก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะตกไป สนช.เคยคิดว่าต้องทำหน้าที่ในการออกกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องชะลอเรื่องนี้ไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับจะต้องทิ้งปัญหาสำคัญไว้เพื่อไปบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญมากในการกำหนดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน

“ขณะเดียวกันคงทราบกันดีว่า จะมีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน ภายใน 30 วัน ภายหลังจากที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างฯ  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้ฟังความเห็นจาก สนช. ด้วย ใน 21 คนนี้ ผมคิดว่าอาจจะมีสมาชิก สนช. เข้าไปร่วมด้วย 1-2 คน เพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่น สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญออกมาแล้ว สนช.จะต้องมีส่วนพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย” ประธาน สนช. กล่าว

เผย “ตั้งหน้าตั้งตาทำงานมากเกินไป” ยังประชาสัมพันธ์ไม่พอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากผลโพลที่ออกมาในรอบ 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่รู้จัก สนช. ทั้งๆ ที่ สนช เป็นแม่น้ำสายที่ 5 สุรชัย ตอบว่า  “เพราะสนช.ตั้งหน้าตั้งตาทำงานมากเกินไป จนลืมประชาสัมพันธ์ตัวเอง เราจึงได้ตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ขึ้นมา จากนี้ไปจะพยายามเข้าหาประชาชน สังคม สาธารณะมากขึ้นด้วยการสื่อสารว่า สนช. ได้ทำอะไร ยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนที่เราคาดไม่ถึง เราทุ่มเททำงานโดยไม่มีสมัยปิดประชุมเลย แต่เราขาดการสื่อสารกับสังคม

 
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา สนช. ถูกตั้งฉายาว่าเป็นสภาท็อปบูท สภาตรายาง หรือมีใบสั่งจาก คสช. อะไรที่จะยืนยันความเป็นอิสระและความเป็นกลางของ สนช.ได้บ้าง พรเพชรตอบว่า ตามที่ผมเรียนไปแล้วว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามหลักการของระบบรัฐสภา ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งและไม่มีคำสั่งจากใคร ส่วนที่ว่าเป็นสภาท็อปบูทนั้น ถ้าศึกษาดูจะเห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารก็จริง แต่ล้วนเกษียณราชการแล้ว มีผู้อยู่ในราชการไม่มาก เครื่องยืนยันความเป็นอิสระที่ดีที่สุดขอให้ดูจากการออกเสียงของสมาชิก สนช. อยากให้ติดตามการลงคะแนนของสมาชิกซึ่งเปิดเผย มีกฎหมายหลายฉบับที่วิปรัฐบาลไม่รับ และมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เมื่อผ่านออกมาก็ต่างจากร่างเดิมที่เสนอ สนช.

สนช. ไม่มีโรดแมป พร้อมทำงานจนกว่าจะเลือกตั้ง

พรเพชร กล่าวว่า สนช.ไม่มีสูตรโรดแมป 6-4-6-4 เหมือนของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (6-4-6-4 คือ การบริหารเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ประชามติภายใน 4 เดือน ออกกฎหมายลูกอีก 6 เดือน และหาเสียงเลือกตั้ง 4 เดือน) แต่เราจะทำงานจนกว่าจะเลือกตั้งรัฐสภาชุดใหม่ อย่างไรก็ดี โรดแมป 6-4-6-4 คงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของ สนช. ด้วย เช่น การเตรียมการพิจารณากฎหมาย การให้ข้อเสนอแนะในการบริหารพัฒนาประเทศต่อไป รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ตนบอกว่า สนช. ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 1-2 คน เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะเห็นว่า สนช. มีหลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความเหมาะสม น่าจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี ซึ่ง คสช.จะตั้งคนจาก สนช. ก็ได้ หรือไม่ตั้งก็ได้

เมื่อถามว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ในมาตรา 37 เกี่ยวกับการทำประชามติหรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า  ตอนที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวในเรื่องนี้ รัฐบาล และคสช.รวมทั้งสำนักงานกฤษฎีกาดูภาษาแล้วคิดว่าใช้ได้ หมายถึงเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนน แต่เมื่อใช้จริงก็เกิดปัญหา เพราะภาษาไทยดิ้นได้ อาจไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ดังนั้นคงจะต้องมีการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ซึ่ง สนช. ไม่มีหน้าที่แก้ไข ผู้ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ คสช.และครม.
 

สรุปผลงาน 1 ปี พิจารณากฎหมาย 143 ฉบับ ถอดถอนบุคคล 6 กรณี แต่งตั้งอีกเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จำนวนทั้งสิ้น 143 ฉบับ รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว 132 ฉบับ ยังไม่ได้รับหลักการ 3 ฉบับ อยู่ระหว่างรอคณะกมธ.พิจารณา 1 ฉบับ และตกไป 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 21 ฉบับ และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 จำนวน 110 ฉบับ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 84 ฉบับ ในส่วนการขอญัตตินั้น ได้มีการพิจารณาญัตติจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง ประกอบด้วยญัตติตั้งกมธ.วิสามัญ 10 เรื่อง และญัตติเพื่อกำหนดประเด็นซักถามในกรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 36 เรื่อง ขณะที่ได้มีการตั้งกระทู้ถามซึ่งเป็นกระทู้ถามทั่วไปจำนวน 18 กระทู้ โดยตอบในที่ประชุมสนช. 16 กระทู้ และสมาชิกขอถอน 2 กระทู้

ด้านการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ประกอบด้วย การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน การเลือกตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ การให้ความเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และอัยการสูงสุด

ในขณะที่การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งนั้น มีการดำเนินการทั้งสิ้น 6 กรณี ประกอบด้วย กรณีนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว) กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีอดีตส.ว.จำนวน 38 คน กรณีอดีตส.ส. จำนวน 248 คน กรณีนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว. พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ