หลังจากคณะรักษาความสงบเเห่งชาติเเต่งตั้งสภาปฏิรูปเเห่งชาติ สังคมไทยส่วนหนึ่งก็เริ่มตื่นตัวกับกระเเสปฎิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด ด้วยเหตุนี้วันที่ 14 ตุลาคม 2557 Eisenhower Fellowship Alumni(Thailand) และ Eisenhower Fellowship เล็งเห็นความสำคัญกับกระเเสดังกล่าวจึงนำมาสู่เวทีสัมมนาสาธารณะ “ปฎิรูปประเทศประเทศไทยปฎิรูปอะไรเเละอย่างไร?” ณ มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีหลายภาคส่วนเข้าร่วมเเสดงความคิดเห็น
ปฎิรูปเศรษฐกิจ: ต้องเน้นการผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเตรียมรับสังคมผู้สูงวัย
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่าการปฎิรูปเศรษฐกิจวางอยู่บนหลักเพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งหากจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จต้องประกอบไปด้วยห้าเรื่องใหญ่ๆ
อย่างเเรกคือ ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ อันเนื่องมาจากอนาคตเราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวมีภาระที่จะต้องดูเเลคนเเก่มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีรายได้มากขึ้น ฉะนั้นงานที่ทำต้องเน้นที่คุณภาพไม่เน้นปริมาณ ผลที่ตามคือเราจะได้รับค่าเเรงมากขึ้นตามคุณภาพงาน เช่น เราไม่จำเป็นต้องส่งออกข้าวมากที่สุด เเต่ควรทำให้ภาคเกษตรมีกระบวนการผลิตข้าวที่คุณภาพมากกว่า
อย่างที่สองคือ ต้องส่งเสริมการเเข่งขันทั้งภาครัฐเเละเอกชนอย่างเท่าเทียม พยายามทำให้การลงทุนภาครัฐมีขนาดเล็กลง จะได้ไม่กระทบต่อการเติบโตของภาคเอกชน ต้องสร้างระบบนิเวศให้เหมาะกับการลงทุน ปัจจุบันเราปล่อยให้รัฐเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งกำกับดูเเล และดำเนินการเเข่งขันกับเอกชนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นมาก ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสริมการเเข่งขันกับภาคเอกชนเท่าที่ควร ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนหน้าที่ภาครัฐเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ เช่นเเต่ก่อนรัฐบาลมีหน้าที่สร้างโรงเรียน ก็ควรเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชนเเทน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนของรัฐเเละเอกชนมีการเเข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น
อย่างที่สาม คือต้องลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทุกคนควรมีโอกาสก้าวหน้าในชีวิต การศึกษา การทำงาน ระบบยุติธรรม อย่างเท่าเทียมกัน
อย่างที่สี่ คือต้องสร้างความคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลก ภัยพิบัติ หนี้ครัวเรือน หรือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
สุดท้าย วิรไท กล่าวย้ำอีกว่าที่สำคัญที่สุดการปฎิรูปจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อทำให้เกิดการประสานผลประโยชน์เเละเเรงจูงใจที่ทำให้คนไทยทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน เเละใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เป็นเเรงจูงใจให้ทุกฝ่ายสามารถไปด้วยกันได้
ปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ: สร้างองค์กรกำกับดูแลไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล
รพี สุจริตกุล กรรมการดูเเลนโยบายเเละกำกับดูเเลรัฐวิสาหกิจ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจไปในทางที่ผิดมาโดยตลอด เพราะรัฐบาลไม่ได้มองว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องของประชาชน ดังนั้นปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งที่ถูกสะสมมานานเพราะรัฐบาลส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องอำนาจของใครของมัน
ตอนนี้เรามีการตั้ง super board หรือ supervisory board มากำกับดูเเลเชิงนโยบายโครงสร้างรัฐวิสาหกิจว่าจะต้องปฏิรูปในด้านอะไรบ้าง ตัวอย่างแรกต้องสร้างความคิดว่ารัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องของผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงควรปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้เป็นอิสระมากขึ้น โดยต้องมีองค์กรกำกับดูเเลโดยเฉพาะ ซึ่งมีอิสระเเละมีอำนาจกำกับดูเเลโดยตรงไม่ใช่ต้องขึ้นกับรัฐบาลโดยตรงอย่างที่เเล้วมา เพราะฉะนั้นถ้ารอนักการเมืองก็คงไม่มีการเปลี่ยนเเปลง
อย่างที่สองควรตั้งคำถามต่อไปอีกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจควรมีอยู่หรือไม่อย่างไร เมื่อมีรัฐวิสาหกิจก็เเปลว่ารัฐจะต้องเข้ามาเสียต้นทุนในการดำเนินการ ฉะนั้นเมื่อตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้น เราต้องตั้งคำถามว่ารัฐทำหน้าที่ได้ดีกว่าเอกชนหรือไม่ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์กว่าเอกชนหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีหน่วยชี้วัดที่ชัดเจน (kpi) ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นตั้งมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร แล้วควรตรวจเช็คว่ารัฐวิสาหกิจที่ตั้งมาได้ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
การปฏิรูปการศึกษา: กระจายอำนาจ เน้นตลาดแรงงานและค่านิยม 12 ประการ
อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา มองว่าการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีถ้าไม่ทำตอนนี้ก็อาจไม่มีโอกาสทำ เพราะมีหลายภาคส่วนได้เข้าไปช่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการกันอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับปัญหา อมรวิชช์ เห็นว่าประการแรกปัญหาของระบบการศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ ทั้งที่สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกระจายเเละทั่วถึงกว่าเเต่ก่อน ฉะนั้นการปฏิรูปต้องเริ่มจากการวางขั้นตอนการกระจายอำนาจ พยายามทำให้คนในพื้นที่มีอำนาจในการวางนโยบายการศึกษาของตัวเอง เเละมีการเเบ่งงบประมาณบางส่วนกระจายไปยังพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ
ประการที่สอง ในปัจจุบันตลาดแรงงานต้องการเเรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่หก ปวส. และปวช. เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ความต้องการระดับปริญญาตรีมีเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ เเต่การเรียนปัจจุบันตรงกันข้ามกัน เพราะทุกคนมีทัศนคติที่ว่าต้องเรียนต่อปริญญาตรี ดังนั้นจะต้องเน้นการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเรียนต่อ
ส่วนการปฎิรูปครูนั้นรัฐต้องสร้างระบบเเรงจูงใจ สร้างระบบบริหารงานบุคคลที่ทำให้ครูที่มีคุณภาพเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ เช่นการสนับสนุนครูในพื้นที่ที่ยากลำบากบาก
เเละที่สำคัญคือ สื่อมวลชนควรทำให้คนไทยทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของการศึกษา รณรงค์ให้คนเข้าใจว่าการศึกษาที่ดีคืออะไร เช่นการศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจ ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เเละทำให้ทุกภาคส่วนรู้สึกว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ
ส่วนเรื่องค่านิยม 12 ประการโดยส่วนตัวเเล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะ คสช.เป็นผู้สนับสนุน แต่เพราะค่านิยมเหล่านี้สอดคล้องกับหลักธรรม เเละควรส่งเสริมไม่ว่าสภาพสังคมจะเป็นไปในทิศทางใด
ปฏิรูปสื่อมวลชน: เปิดพื้นที่ใหม่ ให้สื่อเล็ก-สื่อใหญ่แข่งขันกันได้
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงเเละกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าการปฏิรูปสื่อต้องเเบ่งเป็นสองระดับ ระดับเเรกคือเชิงโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์เรื่องการเเข่งขันในตลาดที่เสรีเป็นธรรมเพื่อทำให้เกิดสื่อตัวเลือกใหม่แก่ประชาชน โดยเราจะต้องเปลี่ยนระบบเดิมที่มีสภาพ ไม่เอื้อต่อการเเข่งขัน เช่น การผูกขาดตลาดของสื่อรายใหญ่ การวิ่งเต้น เป็นต้น
รัฐต้องทำให้เกิดการเเข่งขันในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เเละอุตสาหกรรมสื่ออย่างกว้างขวางโดยเริ่มจากการจัดสรรสัมปทานใหม่ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ ให้สื่อรายเดิมเข้ามาในระบบใหม่เเละกระตุ้นให้เกิดสื่อรายใหม่ รัฐต้องพยายามวางนโยบายที่ทำให้สื่อรายเล็กเเละสื่อรายใหญ่สามารถวิ่งเเข่งในสนามเดียวกันได้
ส่วนการปฏิรูปเชิงเนื้อหานั้น สุภิญญาให้ความเห็นว่าในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ สิทธิเสรีภาพ เเละความรับผิดชอบของสื่อ นั้นต้องหาจุดสมดุลเพราะเมื่อเรียกหาความรับผิดชอบมากเกินไปอาจทำให้สื่อไม่มีเสรีภาพเเละไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นถามในสังคม สื่อต้องทบทวนตัวเองเเต่รัฐก็ไม่ควรใช้อำนาจไปควบคุมหรือเข้าไปเซ็นเซอร์ข้อมูลโดยตรง
ประชานิยมอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้?
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กับประชานิยมประชาธิปไตยโดยรักษาวินัยการคลังอย่างไร เพราะที่ผ่านมาประชาธิปไตยกับประชานิยมเหมือนจะเป็นของคู่กันจนต้องใช้ระบบนอกประชาธิปไตยมาหยุดยั้งประชานิยมก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศ
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 วางหลักให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต้องทำให้เกิดกลไกไม่ให้มีประชานิยมที่สร้างความเสียหาย นอกจากนั้นเเล้วยังต้องมีการตรวจสอบการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำกฏหมายมาใช้จับเรื่องประชานิยมยังมีปัญหา ประการเเรกคือ ยากที่จะบอกได้ว่านโยบายใดเป็นประชานิยมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ต้องพิจารณาว่านโยบายที่รัฐบาลออกมาจะมีผลในระยะยาวต่อเงินคงคลังหรือไม่ ปัญหาอีกประการคือ การใช้กฏหมายอาจจะทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลที่จะเสนอนโยบายต่อประชาชน
สมเกียรติ เสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรมคือการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลและให้ผู้เสนอนโยบายต้องเสนอต้นทุนก่อนการเลือกตั้งโดยเเสดงที่มาของเงินที่จะดำเนินการตามนโยบาย เเละหลังจากได้รับเลือกมาเป็นรัฐบาลก็ห้ามใช้เงินเกินกว่าที่ได้เสนอไว้ นอกจากนั้นเเล้วควรมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เงินในงบประมาณแผ่นดินไม่ใช่การใช้เงินนอกงบประมาณแผ่นดิน ต้องมีหมวดในรัฐธรรมนูญกำหนดวินัยการคลังให้ชัดเจน
ตัวอย่างเช่น เมื่อพรรคการเมืองเสนอนโยบายจำนำข้าว ต้องเเจ้งว่าจะใช้เท่าไหร่ มีที่มาของเงินอย่างไร เเละหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลต้องใช้เงินงบในประมาณแผ่นดิน ในการดำเนินการตามนโยบาย
นอกจากนี้ ควรตั้งสำนักงบประมาณเเห่งรัฐสภาขึ้นเพื่อวิเคราะห์งบประมาณเเละการคลังที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร สมเกียรติเชื่อว่าประชานิยมอยู่คู่กับระบบประชาธิปไตยได้ เเต่ทำอย่างไรที่เราจะควบคุมไม่ให้ประชานิยมก่อให้เกิดปัญหาต่อเงินคงคลังในระยะยาว
ปฎิรูปจิตวิญญาณ: ไม่เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบคนอื่น
นพ บัญชา พงษ์พานิช จากมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวถึง การปฏิรูปจิตวิญญาณของสังคมไทยต้องพูดถึงเรื่องระบบความคิดหรือสิ่งที่คนไทยกำลังคิดถึงอยู่ อะไรคือวิธีคิดของผู้คนในปัจจุบัน สังคมนี้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตกอยู่ในวงเเห่งกงจักร ทั้งประชาธิปไตยนิยม ทั้งเรื่องเเสวงหาทุน ให้ความสำคัญแต่กับวัตถุ มุ่งเน้นเรื่องอาชีพมากกว่าการใช้ชีวิต ส่งเสริมให้คนเห็นเเก่ตัวเเละเอาเปรียบคนอื่น และมักมองว่าศีลธรรมเป็นเรื่องที่โบราณ
ดังนั้นต้องการปฏิรูประบบคิดเเละการศึกษา ไม่ใช่เเค่เรื่องความฉลาดในการใช้ชีวิต เเต่รวมถึงคุณค่าเเละความหมายของชีวิตที่พึงมี เเละเรื่องที่สองเรื่องระบบคุณค่าเเละระบบศีลธรรมเเละศาสนาของประเทศไทย