นายกสมาคมสื่อแนะ ยื่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ศาลรธน.ตีความ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และ Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) จัดเวทีสัมมนา “3 ปีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมฯ : หลักนิติรัฐกับความรับผิดชอบของภาครัฐ” ณ โรงแรมโนโวเทล สยาม

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ นักกฎหมายอิสระด้านสื่อ นำเสนอบทวิเคราะห์ต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งประกาศใช้มาแล้วสามปี กฎหมายฉบับนี้ทำให้การฟ้องร้องคดีทำได้โดยตรงและสะดวกขึ้น เพราะมีการนิยามว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์คืออะไร ก่อนที่จะมีกฎหมายนี้ จะมีคำถามเช่น โปรแกรมเป็นทรัพย์หรือไม่ แล้วการขโมยข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการขโมยทรัพย์หรือไม่ พอมีพ.ร.บ.นี้ออกมา การขโมยข้อมูลคอมพิวเตอร์ถือเป็นการกระทำผิด

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า นับจากประกาศกฎหมายนี้ออกมา ก็มีคดีเกิดขึ้นมากและหลายคดีเป็นที่อยู่ในความสนใจของสื่อทั้งไทยและเทศ

“สาเหตุที่ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าสนใจและอื้อฉาว คือ มาตรา 14 ซึ่งระบุว่า ถ้าคุณกระทำผิดโดยใช้คอมพิวเตอร์ คุณก็ผิดมาตรา 14 ซึ่งย้ำว่ามันผิดกฎหมายอื่นอยู่แล้ว”

ศิลป์ฟ้ากล่าวถึงตัวอย่างคดีจากกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกใช้ให้เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่น มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในเนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้พูดถึงความผิดฐานนี้ แต่เมื่อเกิดความผิดฐานหมิ่นฯ จะมีการนำมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาบังคับใช้เป็นหลัก เช่น กรณีของนายสุวิชา ท่าค้อ ที่โพสรูปในหลวง และกรณีนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ให้บริการเว็บไซต์ประชาไท ที่อัยการส่งฟ้องตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯเพราะเห็นว่าเป็นเนื้อหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ศิลป์ฟ้ากล่าวว่า กฎหมายนี้ใช้มา 3 ปีก็มีข้อถกเถียงว่าควรแก้ไขหรือไม่ ซึ่งล่าสุดมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภาที่ศึกษาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ข้อสรุปของกมธ. ไม่ได้เสนอให้แก้ไขมาตรา 14 ในส่วนที่ภาคประชาสังคมมีความกังวล และไม่ได้แตะเนื้อหาเรื่องอำนาจรัฐในกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่าภาคประชาสังคมน่าจะมีการถกเถียงในส่วนนี้

นายกสมาคมสื่อแนะ ยื่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ศาลรธน.ตีความ

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงหลักการเสรีภาพสื่อว่า การปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อจะทำไม่ได้ ถ้าจะทำตามกฎหมายก็ต้องจำกัดเฉพาะ ไม่ใช่ปิด การจำกัดหมายถึง หากหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับมีการละเมิดบางประการ ก็ต้องห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเฉพาะฉบับนั้น หรือถ้าศอฉ.ห้ามจำหน่าย ก็ต้องห้ามเฉพาะฉบับที่ละเมิดกฎหมาย เขาเห็นว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 20 ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้อำนาจศาลสั่งปิดเว็บไซต์ได้ ทำได้เพียงระงับการแสดงข้อมูลเฉพาะในส่วนที่ละเมิดกฎหมาย

นายกสมาคมนักข่าวฯ เสนอว่า น่าจะมีการผลักดันหน่วยงาน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นิรันดร์ เยาวภาว์ บรรณาธิการเว็บไซด์เอเอสทีวีผู้จัดการ เล่าถึงปัญหาจากการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฟ้องผู้จัดกวน แม้ว่าคอลัมน์ผู้จัดกวนจะมีคำเตือนอยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำเป็นเรื่องสมมติ อีกทั้งภาพในผู้จัดกวนปรากฏทั้งในเว็บไซต์และในหนังสือพิมพ์ แต่พ.ต.ท.ทักษิณก็เลือกฟ้องเฉพาะในส่วนของเว็บไซต์

“การใช้กฎหมายนี้ เน้นเอาผิดคนทำมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้” นิรันดร เยาวภาว์กล่าว

ในการเสวนาช่วงบ่าย มีการพูดถึงการควบคุมสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตของภาครัฐ ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพัฒนาประชาธิปไตย สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า รัฐไทยเข้าใจผิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสือที่คล้ายสื่ออื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ จึงพยายามที่จะคัดกรอง แต่โดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตเป็นระบบเปิด ถ้าปิดขวางไม่ให้เดินไปได้ ก็จะเล็ดรอดไปได้อยู่ดี

“ถ้าผู้ใช้อำนาจยังมองอินเทอร์เน็ตว่าคือสื่อที่ต้องคัดกรองกัน ต้นทุนของการเซ็นเซอร์ไม่ใช่แค่ความเร็ว เงิน สิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังมีความเสียหายในอนาคต นวัตกรรมใหม่ๆ การออกแบบเว็บไซด์ใหม่ๆ เครื่องมือต่างๆ เราจะมีไปนานแล้วถ้ารัฐบาลไม่เซ็นเซอร์ เพราะฉะนั้น เราควรมาตั้งคำถามว่า เราได้สูญเสีย โอกาสจากการที่ไม่เปิดให้ผู้ใช้ช่วยสร้างเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว”

สุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ระบบราชการไทยมีรากฐานมาจากอำนาจนิยม มีระบบอุปถมภ์เชิงศักดินา ใครก็ตามเมื่อได้มาเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ก็มาเป็นผู้ชี้นำให้คนอื่นทำตามเขากล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กรแบบอำนาจนิยมนี้เองที่เปิดฉากปิดกั้นการตรวจสอบ ก่อให้เกิดกฎหมายหรือระเบียบที่ให้อำนาจกว้างขวางแก่คนที่เป็นหัวโขน

ตัวอย่างเช่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เขียนให้อำนาจไว้อย่างครอบจักรวาล เช่น พูดถึงความมั่นคงรัฐ พูดถึงเรื่องลามก ซึ่งที่แท้แล้วไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งเหล่านี้ ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ใช้อำนาจ และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ยิ่งให้อำนาจมาก ควบคุมมาก

“การปิดกั้นสื่ออินเทอร์เน็ต ปิดหนังสือพิมพ์ เป็นทัศนคติของมนุษย์ที่มีอำนาจ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ