เลือกตั้ง66: รู้ไหมว่า ผบ.เหล่าทัพ มีสิทธิโหวตนายกฯ ด้วย

เป็นที่รู้กันว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ในระยะห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้รัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งผู้ที่จะเป็นนายกฯ ได้ ต้องได้รับคะแนนสนับสนุน “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกจากทั้งสองสภา หรือคิดเป็น 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง

อย่างที่ทราบกันดีว่า การมีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ชุดพิเศษ เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เพราะ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน โดยในจำนวน ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน มีที่มา 3 ทาง คือ

  1. กกต. จัดให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง 200 คนและให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกให้เหลือ 50 คน
  2. 194 คน มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาจำนวน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
  3. หกคนที่เหลือ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง จากบรรดาผู้นำสูงสุดเหล่าทัพและตำรวจ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดยปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวทั้งหกตำแหน่ง ประกอบไปด้วย

  1. พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม
  2. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  3. พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก
  4. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
  5. พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
  6. พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถ้าไม่มีใครต้องหลุดจากตำแหน่ง ทั้งหกคนจะมีสิทธิในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 อดีตผู้นำเหล่าทัพและตำรวจในขณะนั้นได้เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ต้องมาลุ้นกันว่าผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดจะโหวตนายกฯ ไปในทิศทางใด

ทั้งนี้ ส.ว. ชุดพิเศษ มีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ซึ่งการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดพิเศษนี้ มีผลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น ส.ว. ชุดพิเศษ จึงจะทำงานไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ