ทำไมเรียกสีน้ำเงิน? แจกแจงความสัมพันธ์สว. กลุ่มใหญ่กับพรรคภูมิใจไทย

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดแรกจากระบบ “แบ่งกลุ่ม-เลือกกันเอง” แสดงตัวให้เห็นทั้งจากผลคะแนนในการเลือก และการทำงานในช่วงเกือบหนึ่งปีแรกว่ามีการ “เกาะกลุ่ม” กันชัดเจน ด้วยเสียงส่วนใหญ่ประมาณ 120-140 เสียงที่มีลักษณะการทำงานร่วมกันและลงมติไปในทางเดียวกัน สว. กลุ่มนี้ถูกเรียกเป็นที่เข้าใจว่า “สว.สีน้ำเงิน”

สีน้ำเงิน เดิมหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมากลายเป็นสีบนเสื้อเครื่องแบบของพรรคการเมืองชื่อ ภูมิใจไทย ที่ “รีแบรนด์” ในปี 2568 โดยใช้โลโก้เป็นสีน้ำเงินทั้งหมด

นอกจากอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เป็นภาพที่พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา “พายเรือให้อนุทินนั่ง” เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีความหมายชัดเจนแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏความเกี่ยวพันของกลุ่มสว. สีน้ำเงินและพรรคภูมิใจไทย ดังนี้

1. จังหวัดฐานเสียงสำคัญ ได้สว. เยอะโดยไม่ต้องเขียนแนะนำตัว

เนื่องจากการเลือกสว. แบ่งการเลือกเป็นสามระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ผู้ที่จะไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสว. ได้ จึงมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครอย่างมากด้วย ซึ่งผลการเลือกสว. ที่ออกมาก็พบว่า จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคภูมิใจไทย และพื้นที่อิทธิพลของ “นายใหญ่” เนวิน ชิดชอบ เป็นจังหวัดที่มีสว. มากที่สุด มากถึง 14 คน เหนือกว่าจังหวัดที่ได้สว. มากอันดับสองอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ได้เพียงเก้าคน

นอกจากบุรีรัมย์จะครองแชมป์แบบทิ้งห่างเมืองหลวงไปไกลแล้ว จังหวัดที่ได้สว. มากเป็นจำนวนถัดๆ มาล้วนแต่เป็นจังหวัดที่เป็นฐานเสียงและมีสส. มาจากพรรคภูมิใจไทยอีกเช่นกัน ได้แก่ สุรินทร์เจ็ดคน พระนครศรีอยุธยาเจ็ดคน อ่างทองหกคน สตูลหกคน สงขลาหกคน และจังหวัดเลย ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ อุทัยธานี นครศรีธรรมราช ได้เท่ากันที่จังหวัดละห้าคน

ซึ่งในจังหวัดฐานเสียงพรรคภูมิใจไทยเหล่านี้นอกจากจะมีสว. จำนวนมากแล้ว ยังพบว่า สว. จากจังหวัดนี้จำนวนหนึ่งไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง หรือมีประวัติที่น่าจับตามองในฐานะ “ตัวเต็ง” เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังเขียนประวัติการทำงานเพียงสั้นๆ ไม่ได้เน้นจูงใจให้ผู้สมัครคนอื่นต้องลงคะแนนให้ เช่น ปราณีต เกรัมย์ กลุ่ม 16 จากจังหวัดบุรีรัมย์ เขียนประวัติเพียงว่า เป็นนักฟุตบอลอาวุโส, ปวีณา สาระรัมย์ กลุ่ม 5 จากจังหวัดบุรีรัมย์ เขียนแนะนำตัวแค่ว่า “อาชีพของครอบครัวที่คุ้นเคยกัน คือ การทำนา โดยการเริ่มต้นการเรียนรู้จากพ่อแม่เคยพาทำนามา สมัยก่อนเราใช้แรงงานคนในการปักตำ สมัยนี้ใช้เครื่องจักร”, จตุพร เรียงเงิน กลุ่ม 7 จากจังหวัดบุรีรัมย์ เขียนแนะนำตัวว่า “วิ่งน้ำและรับจ้าง“ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากสถิติจำนวนผู้สมัครสว. พบว่า ศรีษะเกษสร้างเซอร์ไพรส์เป็นจังหวัดที่มีคนสมัครเยอะสุด คือ 2,674 คน มากกว่าอันดับสองอย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้สมัคร 2,439 คน และตามมาด้วยอันดับสาม คือ เชียงใหม่ 1,902 คน ลำดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้สมัครมากต่อจากนั้นล้วนเป็นจังหวัดที่มีสส. มาจากพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา สงขลา

2. อดีตผู้สมัครสส. ภูมิใจไทย ตบเท้าเข้าเป็นสว. หกคน

จากผลการเลือกที่ออกมา พบว่า สว. ที่ได้รับเลือกจากระบบนี้ 200 คน ไม่ได้เป็น “อิสระ” ทางการเมือง เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพและปราศจากความเกี่ยวข้องกับการเมืองภาพใหญ่ ในทางตรงกันข้ามเมื่อสืบค้นประวัติแล้วหลายคนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย หรือเคยร่วมทำงานทางการเมือง โดยมีประวัติเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยหลายคน

มี สว. อย่างน้อยหกคนที่เคยเป็นผู้สมัครสส. ของพรรคภูมิใจไทยมาก่อน และลงสนามหาเสียงเลือกตั้งโดยใส่เสื้อสีน้ำเงินในปี 2566 แต่สอบตก จึงลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อมาสมัครเป็นสว. ได้แก่

3. คนสนิทสายตรงภูมิใจไทย ครองประธาน-รองประธาน สว.

นอกจากอดีตผู้สมัครสส. ของพรรคภูมิใจไทยแล้ว ยังพบว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยอีกหลายคนที่ได้รับเลือกเป็น สว. ตัวอย่างเช่น

  • มงคล สุระสัจจะ กลุ่ม 1 ข้าราชการ จากจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เป็นอธิบดีกรมการปกครองในสมัยที่ชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของอนุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทย และถูกเสนอให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่ต่อมาถอนตัวเพราะมีเรื่องร้องเรียนการทุจริต หลังจากได้รับเลือกเป็นสว. ก็ยังได้เป็นประธานวุฒิสภาด้วย
  • พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ กลุ่ม 1 ข้าราชการ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากอนุทิน ชาญวีรกูล ให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ก่อนมาสมัคร สว. ไม่นาน หลังจากได้รับเลือกเป็นสว. ก็ยังได้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งด้วย และมีภาพ “พายเรือให้อนุทินนั่ง” ในเวลาต่อมา

    เท่ากับทั้งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง มีสายสัมพันธ์ตรงกับพรรคภูมิใจไทย
  • นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล กลุ่ม 4 สาธารณสุข จากจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในยุคสมัยที่อนุทิน ชาญวีรกูลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากอนุทิน ให้เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 อนุทินยังเคยมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และเอกสารในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปี 2564 อีกด้วย
  • พรเพิ่ม ทองศรี กลุ่ม 13 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากจังหวัดบุรีรัมย์ พี่ชายของทรงศักดิ์ ทองศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพรเพิ่ม เคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานของรัฐมนตรีพี่ชายตัวเองด้วย
  • อภิชาติ งามกมล กลุ่ม 1 ข้าราชการ จากจังหวัดบุรีรัมย์ พี่ชายของไตรเทพ งามกมล สส.เขต 8 จ.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย
  • กมล รอดคล้าย กลุ่ม 3 การศึกษา จากจังหวัดสงขลา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เคยเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ในช่วงปี 2566 และยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำงานให้กับกนกวรรณ วิลาวัลย์ สส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย ได้รับการแต่งตั้งในปี 2564
  • โชคชัย กิตติธเนศวร กลุ่ม 19 อาชีพ “อิสระ” จากจังหวัดนครนายก เป็นทายาทของวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก 5 สมัย พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของจังหวัดนี้ จากเฟซบุ๊กของโชคชัย ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 ยังเคยโพสต์แสดงการสนับสนุน “หลานอ๋อง” ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร ผู้สมัครสส. จังหวัดนครนายกพรรคภูมิใจไทย แต่ในปี 2566 พรรคภูมิใจไทยแพ้การเลือกตั้งในจังหวัดนครนายก
  • พิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะวัฒนธรรม จากจังหวัดสงขลา เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระหว่างปี 2562-2566 ซึ่งก็คือที่ปรึกษาของพิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งพิบูลย์อัทฒ์โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้เลือกผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย โดยมีภาพของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และพิพัฒน์ รัชกิจประการอยู่ด้วย

4. ผลคะแนนของจังหวัดบ้านใหญ่ภูมิใจไทย “ผิดปกติ” อย่างโดดเด่น

ในการเลือกสว. ไม่มีการเปิดเผยผลคะแนนของผู้สมัครทุกคนในทุกระดับชั้น มีเพียงคะแนนที่ได้จากเจ้าหน้าที่ที่ไปสังเกตการณ์และจดบันทึกไว้ จากคะแนนที่ออกมาก็พบความ “ผิดปกติ” หลายประการกับสว. กลุ่มที่มาจากจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย แสดงถึงการลงคะแนนที่อาจไม่เป็นอิสระของผู้สมัครในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น

  • มีปรากฏการณ์ คะแนน “ล้นกระดาน” ที่ผู้สมัครสว. ได้คะแนนมากกว่ากระดานที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ คือ มากกว่า 50 คะแนน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำกระดานแผ่นใหม่มาต่อเพื่อการนับคะแนนให้เสร็จ ซึ่งคนที่ได้คะแนนลักษณะนี้จะมีจำนวนหกคนต่อกลุ่มเหมือนกันเกือบทั้งหมด โดยสว. จากจังหวัดฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยก็ชัดเจนว่า ได้คะแนนเกาะกลุ่มที่สูงผิดปกติ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสว. คะแนนล้นกระดาน 12 จาก 14 คน จังหวัดสตูล เป็นสว. คะแนนล้นกระดานทั้งหกคน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสว. คะแนนล้นกระดานทั้งเจ็ดคน จังหวัดอ่างทอง เป็นสว. คะแนนล้นกระดานห้าจากหกคน จังหวัดอุทัยธานี เป็นสว. คะแนนล้นกระดานสี่จากห้าคน 
  • มีปรากฏการณ์ “ดาวค้างฟ้า นอนมาตั้งแต่ต้น” คือ ผู้สมัครสว. จำนวนหนึ่งที่ผ่านการเลือกหกรอบ ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ได้คะแนนชนะคู่แข่งแบบถล่มทลายทุกรอบทั้งการเลือกกันเองในกลุ่มและการเลือกไขว้ ชนิดไม่ต้องลุ้นอะไรเลย เช่น อภิชาติ งามกมล จากกลุ่ม 1 จากจังหวัดบุรีรัมย์, อารีย์ บรรจงธุรการ กลุ่ม 18 จากจังหวัดสตูล, แดง กองมา กลุ่ม 10 จากจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น
  • มีปรากฏการณ์ “บุรีรัมย์เสียงไม่แตก” โดยพบว่า ผลคะแนนการเลือกระดับจังหวัดของทุกกลุ่มจะมีผู้สมัครสองคนที่ได้คะแนนแบบ “ทิ้งโด่ง” จากผู้สมัครคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันชนิดไม่มีลุ้นอะไรเลยทั้งรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ โดยผลคะแนนทั้งสองรอบปรากฏออกมาชัดเจนทั้ง 20 กลุ่ม ที่อันดับสามไม่ต้องลุ้นอะไร จึงทำให้เห็นความไม่ปกติของการเลือกสว. ในจังหวัดนี้ได้ดี ตัวอย่างเช่น กลุ่ม 1 รอบเลือกกันเองมีผู้สมัครห้าคน มงคล สุระสัจจะ ได้รับคะแนน 34 คะแนน อภิชาติ งามสกล ได้รับคะแนน 26 คะแนน ส่วนลำดับต่อมาได้คะแนน 6-5-5 คะแนน ตามลำดับ ในรอบเลือกไขว้ มงคล สุระสัจจะ ได้รับคะแนน 9 คะแนน อภิชาติ งามกาล ได้รับคะแนน 9 คะแนน และผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่ได้อีก 1 คะแนน โดยมีห้ากลุ่มที่รอบเลือกไขว้มีผู้สมัครกลุ่มละสองคนได้คะแนนลอยลำขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ไม่มีคะแนนเลย และผลสุดท้ายทั้งสองคนที่ได้คะแนนทิ้งโด่งมาในรอบแรก ก็เป็นสองคนที่ทิ้งโด่งในรอบสอง ผ่านระดับจังหวัดเข้าสู่ระดับประเทศอย่างไม่ต้องเหนื่อย

  • มีปรากฏการณ์ “ผู้สมัครพลีชีพ” โดยพบว่า ผู้สมัครจำนวนมากจากจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย เมื่อเข้าสู่การเลือกระดับประเทศในรอบเลือกกันเอง ไม่มีคะแนนเลย หรือเข้าคูหาลงคะแนนโดยไม่แม้แต่จะลงคะแนนให้กับตัวเอง ทำให้ได้ศูนย์คะแนนและตกรอบกลับบ้าน และจังหวัดที่มีผู้สมัครคะแนนศูนย์จำนวนมากเหล่านี้ล้วนเป็นจังหวัดฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ จังหวัดระนอง มีผู้สมัครพลีชีพ 22 คน จังหวัดอุทัยธานี มีผู้สมัครพลีชีพ 18 คน จังหวัดพิจิตร มีผู้สมัครพลีชีพ 15 คน จังหวัดกระบี่ มีผู้สมัครพลีชีพ 13 คน เป็นต้น
  • มีปรากฏการณ์ “กลุ่มท็อปแปดจังหวัด” โดยพบว่า หลังมีผู้สมัครจากจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยจำนวนหนึ่ง “พลีชีพ” ไปจำนวนมากแล้ว ส่งผลให้ผู้สมัครจากจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยอีกจำนวนหนึ่งได้คะแนนมากจนผิดสังเกตและเข้าสู่รอบการเลือกไขว้ได้มากจนผิดสังเกต ซึ่งจังหวัดที่มีผู้สมัครเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้มากแปดอันดับแรกได้แค่ บุรีรัมย์ 38 คน สตูล 38 คน พระนครศรีอยุธยา 38 คน อ่างทอง 37 คน เลย 37 คน อำนาจเจริญ 36 คน ยโสธร 34 คน สุรินทร์ 28 คน จากจำนวนผู้สมัครจังหวัดละไม่เกิน 40 คน โดยเปรียบเทียบได้กับกรุงเทพมหานครที่มีผู้สมัครผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้เพียง 14 คน
  • มีปรากฏการณ์ “คะแนนเกาะกลุ่มของจังหวัดท็อปแปด” โดยพบว่า ผลคะแนนรอบเลือกไขว้ในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ยังมีความผิดปกติ เพราะผู้สมัครจากจังหวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ารอบมาด้วยคะแนนที่มาก แต่ในรอบเลือกไขว้ผู้สมัครจากจังหวัดเหล่านี้กลับได้คะแนนแยกเป็นสองกลุ่มชัดเจน คือ กลุ่มที่ชนะได้เป็นสว. จะได้คะแนนสูงผิดปกติจน “ล้นกระดาน” กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสว. จะได้คะแนนน้อยผิดปกติหรือไม่ได้คะแนนเลย โดยไม่มีใครที่ได้คะแนนอยู่ระดับกลางๆ หรือเห็นได้ว่า ผู้สมัครจากจังหวัดเหล่านี้ไม่มีการแข่งขันกัน คนที่เป็นตัวจริงก็จะนอนมาตั้งแต่ต้นและได้เป็นสว. ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งคือมีหน้าที่มาลงคะแนนและไม่มีลุ้นที่จะได้รับเลือก ตัวอย่างเช่น ผลคะแนนของผู้สมัครจากจังหวัดอ่างทองในรอบเลือกไขว้ มีคนไม่ได้คะแนนเลย 14 คน ผลคะแนนของจังหวัดอยุธยาในรอบเลือกไขว้ มีคนไม่ได้คะแนนเลยเก้าคน ผลคะแนนของจังหวัดเลยในรอบเลือกไขว้มีคนไม่ได้คะแนนเลยเก้าคน เป็นต้น

5. แทงสวนแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ ภูมิใจไทยรับแนวทาง “คล้ายกัน”

ในกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) เพื่อปลดล็อกเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) ภูมิใจไทยเป็นอีกหนึ่งพรรคที่เสนอร่างของตัวเองเข้ามาประกบกับร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล (ก่อนถูกยุบพรรค) เสนอเงื่อนไขให้ประชามติจะมีข้อยุติต่อเมื่อ 1) มีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ 2) เสียงข้างมากของผู้ลงประชามติ ต้องสูงกว่าเสียงไม่แสดงความคิดเห็น โดยสภามีมติรับหลักการร่างดังกล่าวพิจารณาประกบกันสี่ฉบับ เมื่อผ่านถึงวาระสาม ก็ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกร่วมกันในฝั่ง สส. ว่า จะปลดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่เกมกลับพลิกล็อกเมื่อ สว. โหวต “แทงสวน”

โดยในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ วุฒิสภา พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. กลุ่มที่ 11 นักลงทุนอสังหาริมทริมทรัพย์ และเจ้าของที่พักโฮมสเตย์อ่าวจากอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่ สส. และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เสนอแปรญัตติแก้ไขโดยให้การออกเสียงประชามติในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะมีข้อยุติ ต้องใช้เสียง “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ

หลังจากนั้น ก็มี สว. บางส่วนที่สนับสนุน เช่น สมบูรณ์ หนูนวล สว. จากกลุ่มที่ 4 อดีตสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งสมัคร สว. จากอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และสมดุล บุญไชย สว. จากกลุ่มที่ 1 อดีตข้าราชการครูจากอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดท็อปแปด

เมื่อถึงกระบวนการลงมติรายมาตรา วาระสอง ปรากฏว่าเสียงข้างมากของ สว. เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นกับกรณีประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (8) และประชามติที่ ครม. เห็นควรให้ทำประชามติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากการลงมติ สว. รายบุคคล พบว่า สว. จากจังหวัดท็อปแปด เสียงแทบไม่แตก โหวต “เห็นด้วย”

  • จังหวัดบุรีรัมย์ มี  สว. 14 คน สว. เกือบทั้งหมด 13 คนโหวตเห็นด้วย ยกเว้น มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ซึ่งโหวตงดออกเสียงตามธรรมเนียมปฏิบัติ
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุรินทร์ มี สว. เจ็ดคน สว. จากพระนครศรีอยุธยาหกคนที่มาลงมติล้วนเทโหวต “เห็นด้วย”  เช่นเดียวกันกับ สว. สุรินทร์ เจ็ดคน โหวตเห็นด้วยเสียงไม่แตก
  • จังหวัดสตูลและอ่างทอง มีสว. จังหวัดละหกคน เสียงไม่แตกโหวตเห็นด้วย
  • จังหวัดเลยและอำนาจเจริญ มีสว. จังหวัดละห้าคน โหวตเห็นด้วย
  • จังหวัดยโสธร มี สว. สองคน โหวตเห็นด้วยทั้งคู่

นอกจาก สว. ที่มาจากจังหวัดท็อปแปด ก็มี สว. จากจังหวัดที่ภูมิใจไทยได้ สส. ยกทั้งจังหวัดหรือเกินครึ่งจากเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ ที่โหวตเห็นด้วยแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ เช่น

  • จังหวัดกระบี่ : มี สว. สี่คน โหวตเห็นด้วยทั้งหมด
  • จังหวัดบึงกาฬ : มี สว. สองคน โหวตเห็นด้วยทั้งคู่
  • จังหวัดพิจิตร : มี สว. สามคน โหวตเห็นด้วยหมด
  • จังหวัดอุทัยธานี : มี สว. ห้าคน เสียงไม่แตกโหวตเห็นด้วย

หลังจาก สว. ลงมติแก้ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่าน สส. มาแล้ว จึงต้องส่งกลับไปให้ สส. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ฝั่งสส. พรรคภูมิใจไทย ก็อภิปรายยอมรับสนับสนุนแนวทางเดียวกันกับ สว. ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ แตกต่างจากแนวทางของ สส. ส่วนมากในสภา ไม่ว่าจะพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน จะเห็นได้จากคำอภิปรายของมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดลพบุรี ที่ระบุว่า การปรับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น “คล้าย” กับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง

แม้เสียงข้างมากของ สส. ในสภา จะลงมติ “ไม่เห็นด้วย” กับการแก้ไขของ สว. แต่สส. ส่วนใหญ่ในพรรคภูมิใจไทย กลับโหวต “งดออกเสียง” ยกเว้น ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ที่ลงมติไม่ลงคะแนนเสียง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage