วิทิต มันตาภรณ์ เรียกร้องปล่อยตัว-ถอนคดีผู้ชุมนุมโดยสงบ ตำแหน่งที่ได้มาโดยไม่ชอบให้ลาออก

“ผมยืนเพื่อธงชาติ เพราะผมตีความ ธงชาติว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ และมองว่าความหลากหลายเกี่ยวกับการยืนหรือไม่ยืนเคารพธงชาตินั้นเป็นสิ่งที่เราเอื้ออารีต่อกันได้ในความหมายของแต่ละฝ่าย และมันมีทางบรรจบกันได้”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ยืนขึ้นกล่าวในงาน 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังวิทยากรและผู้ฟังคนอื่นไม่ได้ยืนขึ้นระหว่างเปิดเพลงชาติและบางคนชูสามนิ้ว

ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ: ดุลยภาพที่เราต้องหาให้เจอ

วิทิต มันตาภรณ์ ในฐานะศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้พูดถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องดุลยภาพ (A Sense of Balance) ในประเด็นของสิทธิมนุษยชน โดยได้นำเสนอสามหัวข้อหลักเพื่อเป็นแนวทางให้ได้ลองคิดว่า สิทธิมนุษยชนที่ทุกฝ่ายใฝ่หานั้น แม้แต่ละฝ่ายจะให้ความหมายแตกต่างกันแต่เรายังสามารถหาจุดสมดุลระหว่างกันได้

ประการแรก ข้อคิดเบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจ 

วิทิตกล่าวว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐ โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ประชาชน สิทธิมนุษยชนมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องความจน หรือแม้กระทั่งการรับมือกับโรคโควิด 19 

และเหตุที่สิทธิมนุษยชนมีหลากหลายมิตินั้นเองก็ส่งผลให้ บางสิทธิเป็นสิทธิเด็ดขาด บางสิทธิไม่เด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิการชุมนุมหรือการแสดงออก ในเวทีสหประชาชาติสิทธิเหล่านี้ไม่ถือเป็นสิทธิเด็ดขาด รัฐสามารถจำกัดสิทธิได้ในบางกรณีแต่ต้องกระทำและให้เหตุผลที่ฟังขึ้นตามหลักสากล 

ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิมนุษยชนมีเกณฑ์ในการวัดอยู่ หมายความว่า มีมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐพึงกระทำ โดยต้องพิจารณาจากปรวิสัย (Objective) หรือเงื่อนไขบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่เกณฑ์ภายในหรืออัตวิสัยที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเท่านั้น

สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องยอมรับ “หลักดุลยภาพ” หรือความแฟร์ในประเด็นที่ว่า มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยทำได้ดีมากในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการรับมือกับโรคโควิด 19 และก็มีอีกหลายเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดี โดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การเลือกตั้ง การแสดงออก ที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอยู่มาก  

ประการที่สอง สิ่งที่สะท้อนบริบทของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปัจจุบัน 

วิทิตกล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้วที่ประเทศเราและประเทศอื่นๆ แสวงหาประชาธิปไตย และอยากที่จะจารึกประชาธิปไตยไว้ในประวัติศาสตร์ของเรา (Democratic Narrative)  แต่ปัญหาคือ เรายังพบการใช้กำลังของบางฝ่ายเพื่อยึดอำนาจ เพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ และฝ่ายผู้ที่ยึดอำนาจนั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป โดยจะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับที่ผ่านมา มักถูกสร้างบนฐานอำนาจที่มาจากการใช้กำลัง ซึ่งก็คือ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มิได้มีเนื้อหาที่ยึดโยงกับสัญญาประชาคมหรือประชาชนอย่างแท้จริงแต่กลายเป็นเครื่องมือในการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งมักขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน 

นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่า หลักสิทธิมนุษยชนหลายๆ หลักไม่ได้ถูกบัญญัติรับรองในไว้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในกฎหมายอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้รับรองหลักสิทธิมนุษยชนไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศ.กิติคุณ วิทิต ระบุว่า ในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นใดก็ตาม เราจำเป็นต้องดูให้ครบทุกวงจร

วิทิตระบุว่า ในปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และเยาวชน ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเคลื่อนไหวของข้อมูลแนวใหม่ ได้เห็นการตื่นตัวในทางสัจธรรม (Social Awakening) การตื่นตัวในทางสัจธรรม รวมถึงเกิดช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap)  ซึ่งสิ่งที่ควรทำ คือ เราต้องพยายามหาช่องทางหรือสะพานที่สามารถเอื้อกันและกันหรือเชื่อมหลายๆ ฝ่ายเข้าด้วยกันเพื่อที่จะเดินไปด้วยกันอย่างสันติ  ซึ่งผู้ที่น่าจะมีความชอบธรรมมากที่สุดในการเป็นสะพานเชื่อมที่ดี คือ สภาที่มาจากประชาชน โดย ศ.กิตติคุณ วิทิตเห็นว่า สภาจะต้องมีบทบาทมากขึ้น ต้องไม่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารสร้างอุปสรรคต่อประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนมากไปกว่าเดิม รวมถึงผู้ที่ได้อำนาจมาอย่างมิชอบหรือไม่ได้มาจากประชาชน ควรมีศีลธรรมในการคืนอำนาจให้ประชาชน

ในปัจจุบันรัฐไทยบั่นทอนสิทธิมนุษยชนหลายกรณีโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ตัวอย่างเช่น การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มักจะใช้แต่กับการชุมนุมทางการเมืองที่โดยส่วนใหญ่มักเป็นการใช้ที่มิชอบ ซึ่ง ศ.กิติคุณ วิทิต ระบุว่า นี่เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกติงในเวทีสหประชาชาติมากที่สุด โดยถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไข

ประการสุดท้าย ข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพตามหลักสากล

1. เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ และขอให้ยกเลิกการฟ้องร้องคดีทั้งหมดที่กระทำต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยสงบ 

2. ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่มโดยสันติเพื่อประชาธิปไตยอันสร้างสรรค์ โดยถ้ารัฐจะจำกัดสิทธิดังกล่าว ก็จะต้องพิสูจน์ให้เห็น 4 อย่างดังนี้  

            2.1 ต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสากล หลักนิติธรรม ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือเป็นการใช้ที่มิชอบ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือแม้กระทั่งกฎหมายอาญาบางมาตรา

            2.2 ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความจำเป็นหรือมีภัยจริงๆ

            2.3 ต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของตนสมเหตุสมผล หรือได้สัดส่วนกับมาตรการที่เลือกใช้เพื่อต่อต้านกับภัยที่เกิดขึ้น

            2.4 ถ้ารัฐจะใช้มาตรการบางอย่าง จะต้องรายงานต่อสหประชาชาติ ตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)]

3. สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. ขอให้นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้นำท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใสและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งขอเชิญฝ่ายที่มีอำนาจที่ได้ตำแหน่งมาโดยมิชอบหรือจากการใช้ความรุนแรง โปรดคืนอำนาจแก่ประชาชน 

5. สร้างคานของดุลอำนาจ ตามหลัก Check and Balance ของกระบวนการทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ สร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศ เคารพเสียงข้างมากโดยไม่ลืมเสียงข้างน้อย เปิดการเจรจาอย่างมีเหตุผลและหาทางบรรจบกันของหลายฝ่ายอย่างสันติวิธี 

นอกจากนี้ วิทิตได้กล่าวว่า “ตลอด 40 ปีที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในและนอกประเทศ จะพบว่าบางทีคนที่ทำเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ จะท้อ เหตุที่มาพูดในวันนี้เพื่อบอกว่า อย่าท้อ ให้เรายึดถือในเหตุผล สัจจะ เราต้องเป็นผู้ที่ให้ความหวังต่อไป และเรายึดถือสันติภาพ สันติวิธี เป็นหลัก” 

You May Also Like
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ
อ่าน

จำคุกทนายอานนท์ 2 ปี 20 วัน กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม โทษ 3 คดี 10 ปี 20 วัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกอานนท์ นำภา ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม 2 ปี 20วัน ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 100 บาท