อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. แก้ระเบียบ ผ่อนคลายเงื่อนไขแนะนำตัว แต่ข้อห้ามหลายอย่างยังอยู่

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ในระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” “เลือกกันเอง” จำกัดเฉพาะผู้สมัคร สว. ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่จะมีสิทธิในการ “เลือก” ผู้ที่สมควรจะเป็น สว. ทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนได้ ต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นอกจากความต่างในเชิงที่มา ผู้สมัคร สว. ชุดใหม่ยังไม่สามารถ “หาเสียง” ทำได้เพียงแต่ “แนะนำตัว” ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ซึ่งหากการแนะนำตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ผู้สมัครก็จะมีความผิดด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ) ในวันที่ 26 เมษายน 2567 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2567 ระเบียบฉบับนี้สร้างเงื่อนไขและมี “ข้อจำกัด” ในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. หลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดในเชิงเนื้อหา ว่าการแนะนำตัวต้องมีข้อมูลใดบ้าง การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ จำกัดให้ผู้สมัครต้องทำ “ด้วยตนเอง” และต้องเผยแพร่หรือส่งให้เฉพาะผู้สมัคร สว. อื่นเท่านั้น เท่ากับว่าประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้สมัคร สว. ได้เลย

หลังจากได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร สว. บางรายได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ  อย่างน้อยสองคดี และศาลปกครองมีนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 15 และ 16 พฤษภาคม 2567 หนึ่งวันก่อนนัดหมายศาลปกครอง 14 พฤษภาคม 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ก็ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่าจะมีการแก้ไขระเบียบ ผ่อนคลายเงื่อนไขการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำกัดให้ต้องแนะนำต่อผู้สมัคร สว. ด้วยกันเองอีกต่อไป และในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567) ระเบียบฉบับที่สองที่ออกมา ผ่อนคลายเงื่อนไขวิธีการแนะนำตัว โดยเฉพาะการแนะนำทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสรู้จักผู้สมัคร สว. มากขึ้น แต่เงื่อนไขหรือข้อจำกัดอีกหลายประการ ก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม

เอกสารแนะนำตัวไม่เกินสองหน้าเอสี่ แนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์เปิดให้ประชาชนทั่วไปดูได้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการกำหนดรายละเอียดเรื่องการเลือก สว. มาตรา 36 วางหลักให้ ผู้สมัครแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด และในวรรคสองยังระบุอีกว่า หากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดด้วย และในมาตรา 70 กำหนดบทลงโทษว่า ผู้สมัคร รวมถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัคร หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการแนะนำตัว ที่กกต. กำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี

“การแนะนำตัว” ตามระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ให้นิยามความหมายไว้ว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก

สำหรับวิธีการแนะนำตัว ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 5 ระบุว่า ให้ “ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก” สามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง ได้ออกมาแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัคร ตามข้อ 7 และข้อ 8 โดยผู้สมัครมีวิธีการแนะนำตัวสองกรณี คือ

กรณีแรก การแนะนำตัวแบบใช้เอกสารกระดาษ ตามระเบียบ กกต. การแนะนำตัว ฉบับที่สอง กำหนดแก้ไขระเบียบ ข้อ 7 ใจความหลักยังคงกำหนดเหมือนเดิมว่าผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยใช้เอกสารมีข้อมูลยาวไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ โดยสิ่งที่ผู้สมัครจะสามารถระบุในเอกสารแนะนำตัวได้ คือ

  • ข้อมูลส่วนตัว
  • รูปถ่าย
  • กลุ่มที่ลงสมัคร
  • หมายเลขของผู้สมัคร
  • ประวัติการศึกษา
  • ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน

จะเห็นได้ว่า ระเบียบฉบับที่สอง กำหนดให้ผู้สมัครสามารถใส่ข้อมูลกลุ่มที่ลงสมัครและหมายเลขผู้สมัครเพิ่มขึ้นมาจากที่ระเบียบฉบับแรกกำหนดไว้ และในส่วนของประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ทำงาน ระเบียบฉบับที่สอง ก็เขียนไว้อย่างกว้าง ไม่ได้จำกัดว่า ผู้สมัคร สว. ต้องเขียนประวัติหรือประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่สมัครเท่านั้น

นอกจากนี้ ระเบียบ กกต.  ฉบับที่สอง ยังกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมเปิดช่องให้ กรณีมีเหตุอันสมควร ผู้สมัครอาจแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงเอกสารแนะนำตัวเท่าที่จำเป็นด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในระเบียบฉบับแรก

อย่างไรก็ดี ข้อห้ามไม่ให้ผู้สมัครนำเอกสารแนะนำตัวเข้าไปในสถานที่เลือก ยังคงมีอยู่ และห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวในสถานที่เลือกอีกด้วย ถ้าผู้สมัคร สว.จะแจกเอกสารแนะนำตัวกัน ก็ต้องทำภายนอกสถานที่เลือก ก่อนการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

กรณีที่สอง การแนะนำตัวผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ฉบับแรกนั้น เดิมในข้อ 8 กำหนดว่า การแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถทำได้ “ด้วยตนเอง” ซึ่งหมายความว่า หากจะแนะนำตัวผ่านโซเขียลมีเดียต่างๆ การส่ง การเผยแพร่ข้อความ จะต้องทำผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้สมัครรายนั้น โดยการแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิสก์ ผู้สมัครต้องใช้ข้อความเหมือนในเอกสารแนะนำตัวที่เป็นกระดาษตามกรณีแรก และเผยแพร่แก่ “ผู้สมัครอื่น” ในการเลือกเท่านั้น หากผู้สมัครจะแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งข้อความทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ต้องจำกัดส่งให้เฉพาะ “ผู้สมัครอื่น” หรือตั้งค่าให้เฉพาะผู้ที่สมัคร สว. เท่านั้นที่จะเห็นข้อความการแนะนำตัว ขณะที่สาธารณชน จะไม่สามารถเห็นได้เลยว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคน แนะนำตัวกันอย่างไร หรือพูดอีกอย่างคือ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ เดิมถูกออกแบบมาให้เฉพาะ “ผู้สมัคร สว.” พูดคุยกันเอง แนะนำตัวเองเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง ก็แก้ไขเงื่อนไขการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผ่อนคลายมากขึ้น โดยระบุในข้อ 8 ว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 (เอกสารแนะนำตัวแบบกระดาษ) ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นด้วยก็ได้

หมายความว่า หากผู้สมัคร สว. จะแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตั้งค่าหรือจำกัดสมาชิกในกลุ่มให้มีเฉพาะผู้สมัคร สว. ประชาชนทั่วไปก็สามารถดูการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ได้ด้วย แต่ในทางเนื้อหา การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังคงต้องใช้ข้อความเหมือนเอกสารแนะนำตัวแบบกระดาษ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ที่ออกมาทั้งสองฉบับ ไม่ได้เปิดช่องให้ผู้สมัคร สว. ใส่ข้อความอื่นๆ เช่น จุดยืนทางการเมือง เพื่อประกอบการแนะนำตัว

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขอื่นๆ เกี่ยวกับการแนะนำตัว ยังกำหนดไว้ตามเดิม ไม่ได้มีการแก้ไข หากผู้สมัคร สว. จะมีผู้ที่ช่วยเหลือในการแนะนำตัว รวมถึงบุคคลอื่นที่อยากจะช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการในระเบียบ กกต. ก่อน ข้อ 9 กำหนดว่า ก่อนจะดำเนินการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. ต้องแจ้งชื่อ คนอื่นที่ผู้สมัครยินยอมให้ช่วยเหลือแนะนำตัว หรือเรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร” ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย และหากจะเปลี่ยนแปลงชื่อก็ต้องแจ้งด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สมัครให้ สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อ

กรณีที่ผู้สมัครไม่ได้แจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับแจ้งเรื่องนี้ สามารถแจ้งให้ผู้สมัครปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ถ้าผู้สมัครยังไม่ดำเนินการตาม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจนำมาเป็นเหตุดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดได้

หลัง พ.ร.ฎ. ออก จนถึงวันประกาศผล ผู้สมัคร สว. แนะนำตัว-ให้สัมภาษณ์ออกสื่อไม่ได้

ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง แก้ไขระเบียบเดิมเฉพาะข้อ 7 และข้อ 8 เรื่องวิธีการแนะนำตัวเท่านั้น สำหรับข้อห้ามในการแนะนำตัว ยังคงไว้ตามเดิม โดยกำหนดข้อห้ามผู้สมัคร และผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ดังนี้

  • ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว (ข้อ 10)
  • นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (ข้อ 11)
    • ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.ป. สว. ฯ กล่าวคือ ห้ามแนะนำตัวโดยจัดให้มีมหรสพ งานรื่นเริง ตามมาตรา 77 (2)
    • ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อ-สายบันเทิง ห้ามใช้ความสามารถหรืออาชีพตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
    • ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ
    • ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
    • ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
    • ห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
    • ห้ามจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

ทั้งนี้ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป ผู้สมัคร สว. จะต้องระมัดระวัง ไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ข้อ 11 จนกว่าจะถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก

ระเบียบ กกต. ห้ามเยอะกว่า พ.ร.ป. สว.ฯ ผู้สมัคร ห้ามยอมให้ผู้สมัครคนอื่นเข้ามา “ช่วยเหลือ”

ในพ.ร.ป. สว.ฯ หนึ่งในข้อห้ามสำคัญของผู้สมัคร คือ ห้ามผู้สมัครใดยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ “ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว.” (มาตรา 76 วรรคสอง)

  • กรรมการบริหารพรรคการเมือง
  • ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • สมาชิกสภาท้องถิ่น
  • ผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

นอกจากข้อห้ามข้างต้น ตามพ.ร.ป. สว.ฯ มาตรา 76 ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ  ข้อ 12 ยังกำหนดข้อห้ามที่ดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกัน แต่เขียน “กว้าง” กว่ามาก โดยระบุห้าม “ผู้สมัคร” ยินยอมให้บุคคลเหล่านี้เข้ามา “ช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ”

  • ผู้สมัครคนอื่น
  • กรรมการบริหารพรรคการเมือง
  • ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การที่ระเบียบ กกต. เขียนไว้เช่นนี้ เป็นการระบุกว้างกว่ากรณีของมาตรา 76 ที่กำหนดเฉพาะห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้อื่น “ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว.” ขณะที่กรณีของข้อ 12 กำหนดไว้ว่าเป็นการ “ช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ” โดยข้อความดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้ กกต.ใช้ดุลยพินิจในการตีความว่าการกระทำใดที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว และขัดต่อระเบียบฉบับนี้