6 เดือนรัฐบาลเศรษฐา รัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่ได้เริ่มก้าวแรก

นโยบาย “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่งให้เศรษฐา ทวีสินได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นับถึงเดือนมีนาคม 2567 ก็เข้าเดือนที่หกแล้ว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้เริ่มแม้แต่ขั้นตอนแรก

แม้รัฐบาลใหม่เคยแถลงไว้ว่า คณะรัฐมนตรีจะสั่งให้ทำประชามติ “ทันที” ในการประชุมครั้งแรก ซึ่งก็เกิดการประชุมขึ้นแต่กลายเป็นคำสั่งให้ตั้ง “คณะกรรมการศึกษา” ขึ้นมาเท่านั้น หลังทำงานอีกสามเดือนเต็มผลสรุปที่ได้ของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือ จะต้องทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกให้ตั้งคำถามพร้อมเงื่อนไข “ไม่แก้ไขหมวด1-2” และไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ประชามติจะเกิดขึ้นเมื่อใด 

เส้นทางไปสู่การ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จึงยังไม่ได้เริ่มขึ้น และท่ามกลางเงื่อนไขกับกระบวนการมากมาย จึงทิ้งคำถามไว้ในใจของผู้คนมากมาย

ทำไมรัฐธรรมนูญแก้ยาก ทำไมเสนอให้ตั้งสสร. ไม่สำเร็จ

การจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่มี สสร. จากประชาชนเป็นผู้ยกร่าง จำเป็นต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่เพื่อเปิดทางให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น ซึ่งการแก้ไขต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการในมาตรา 256 ที่ผู้เสนอต้องเสนอเป็น “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทั้ง สส. และสว. ร่วมกันสามวาระ โดยต้องมีเสียงสว. เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 และหากผ่านรัฐสภาได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะต้องถูกนำไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ก่อนหน้านี้เคยมีการพยายามนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วหลายฉบับ ทั้งฉบับที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และฉบับที่มาจากการเข้าชื่อเสนอโดยภาคประชาชน แต่ระหว่างที่ข้อเสนอกำลังอยู่ระหว่างวาระการพิจารณาของรัฐสภา ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ยื่นญัตติขอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงค่อยดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วต้องจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อลงพระปรมาภิไธยบังคับใช้ต่อไป

แม้ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้หยุดยั้งการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็เป็นเหตุผลเพียงพอให้กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่พร้อมใจกัน “คว่ำ” ให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินทางมาไกลแล้วต้องยุติลง และต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง โดยความพยายามที่จะเสนอร่างใหม่ก็ถูกฝ่ายสว. ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้างว่าจะไม่ออกเสียงให้ จนทำให้เรื่องนี้ไม่ได้เดินหน้าภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกเลย จนกระทั่งมีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสว. ก็กำลังจะหมดอายุไป

แม้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว แต่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็ยังคงไม่กล้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดตั้งสสร. โดยทันทีด้วยความหวั่นกลัวว่า สว. จะยังคงไม่โหวตให้ จึงจะพยายามจะเดินเส้นทางที่ให้มีการทำประชามติ “ก่อน” โดยรวมแล้วจะให้ทำประชามติสามครั้ง และใช้เวลาไปกับการศึกษา “แนวทางการทำประชามติ” และยังไม่ได้เดินหน้าไปไหน 

ประชามติอยู่ไหน? รายชื่อ #Conforall อยู่ไหนแล้ว?? ทำไมยังไม่ได้เริ่มก้าวแรก

ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยแถลงไว้ ก้าวแรกของกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็คือ การจัดทำประชามติ โดยการออกมติคณะรัฐมนตรี แม้ภูมิธรรม เวชยชัย ผู้ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้เคยกล่าวไว้ว่า จะเสนอแนวทางประชามติให้คณะรัฐมนตรีภายในไตรมาสแรกของปี 2567 แต่จนถึงช่วงใกล้สิ้นเดือนมีนาคม คณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ออกมา

ด้านฝ่ายภาคประชาชนที่รวบรวมรายชื่อเสนอคำถามประชามติ ให้ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง100%” ของ #Conforall สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนในรูปแบบกระดาษได้ถึง 211,904 รายชื่อภายในระยะเวลาสามวัน และยื่นรายชื่อตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ผ่านการตรวจสอบโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้นำคำถามของ #Conforall เข้าไปพิจารณาในที่ประชุม และไม่ได้มีการตอบกลับว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของประชาชนแต่อย่างใด

ระหว่างที่รอความเคลื่อนไหวจากคณะรัฐมนตรีอยู่นั้น วันที่ 18 มกราคม 2567 สส. พรรคเพื่อไทยจำนวน 122 คน จึง “เริ่มก้าวแรก” ไปอีกแนวทางหนึ่ง โดยการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 พร้อมระบบเลือกตั้งให้ได้มาซึ่งสสร. ชุดใหม่ ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการเดินหน้าไปโดยทำประชามติสองครั้ง แตกต่างจากแนวทางของคณะรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุว่า ต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถผ่านรัฐสภาไปได้จนถึงขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. แล้วค่อยกลับมาถามประชาชนผ่านการทำประชามติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

เท่ากับว่า แนวทางการเริ่มก้าวแรกของพรรคเพื่อไทยมีสองแนวทาง คือ คณะรัฐมนตรีประกาศว่าจะเริ่มจากการทำประชามติ ส่วนสส. ของพรรคเห็นว่าเริ่มจากการแก้ไขมาตรา 256 ก่อน และทำประชามติหลังรัฐสภารับรองการแก้ไขแล้ว และเมื่อสส. ของพรรคเริ่มการก้าวเดินในอีกแนวทางหนึ่ง แนวทางการทำประชามติโดยคณะรัฐมนตรีก็ดูเหมือนจะไม่มีใครยกมาพูดถึงอีก

จะทำประชามติหรือไม่ เมื่อไรถึงจะได้รู้?

แต่แนวทางของสส. พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้ไปต่อ เพราะเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ส่งความเห็นกลับมาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเป็นการนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้อยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องกลับไปจัดทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน และไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่ระเบียบการประชุมของรัฐสภา หมายความว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ตั้งสสร. จะยังไม่ถูกพิจารณา

สส. ของพรรคเพื่อไทยจึงเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่า สามารถมีคำถามประชามติสองคำถามหลังการแก้ไขมาตรา 256 ได้หรือไม่ โดยจะพ่วงคำถามตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เข้าไปเป็นคำถามที่สอง รองจากคำถามขอความเห็นชอบกับร่างแก้ไขมาตรา 256 

กระบวนการหลังจากนี้ต้องรอให้มีการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา เพื่อลงมติว่า จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความจากคำวินิจฉัยเดิมอีกได้หรือไม่ และหากต้องส่งเรื่องไป ก็อาจใช้เวลารออีกอย่างน้อย 3-4 เดือนกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา และส่งเรื่องกลับมายังรัฐสภา หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเสนอของสส. พรรคเพื่อไทยให้ทำประชามติสองครั้งนั้นถูกต้องแล้ว ก็ค่อยเริ่มกระบวนการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ต้องทำประชามติ “ก่อน” เริ่มกระบวนการทั้งหมด รวมเป็นทำประชามติสามครั้ง ก็ต้องกลับไปตั้งต้นที่คณะรัฐมนตรีออกมติให้มีการทำประชามติ “ก่อน” ที่จะเริ่มกระบวนการทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด กระบวนการจัดทำประชามติหรือการเปิดทางไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก และน่าจะไม่ได้ “เริ่มก้าวแรก” ในครึ่งแรกของปี 2567

ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่

การประเมินระยะเวลา “อย่างเร็วที่สุด” หากไม่มีอุปสรรคใดขัดขวาง และเดินหน้าตามแนวทางทำประชามติสามครั้งของคณะรัฐมนตรีทันทีที่รัฐบาลใหม่เริ่มทำงาน จะมีการทำประชามติครั้งแรกในช่วงสามเดือนแรกหรือตั้งแต่ปลายปี 2566 และใช้เวลาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประมาณสี่เดือน ใช้เวลาทำประชามติครั้งที่สองประมาณสามเดือน ใช้เวลาในการจัดตั้งสสร. และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกประมาณสิบเดือน และทำประชามติครั้งที่สามประมาณสามเดือน รวมแล้วก็ใช้เวลาประมาณ 23 เดือน หรืออย่างเร็วจะเสร็จภายในสองปีเศษๆ 

แต่ถ้าประเมินระยะเวลาแบบ “กลางๆ” ที่เป็นไปได้จริง ชูศักดิ์ ศิรินิล เคยประเมินว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะใช้เวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ไม่น้อยกว่าสามปี” โดยต้องอาศัยเสียงประชาชนสนับสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จได้ภายใต้รัฐบาลนี้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หากมีอุปสรรคทำให้ระยะเวลาต้องยืดออกไปก็มีโอกาสที่จะเสร็จไม่ทันอายุของรัฐบาลสี่ปี

อย่างไรก็ตาม นับจนถึงเดือนมีนาคมปี 2567 ยังไม่มีการประกาศวันจัดทำประชามติและยังต้องรอคอยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกหลายเดือน ทำให้ “ก้าวแรก” ยังไม่ได้เริ่ม และอาจจะได้เริ่มนับกันอย่างเร็วก็ไตรมาสที่สามของปี 2567 หรือเริ่มช้าไปประมาณหนึ่งปี ตามการประเมินระยะเวลาของชูศักดิ์ ศิรินิล จึงมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะมีอายุอยู่ถึงเดือนพฤษภาคมปี 2570

การคาดคะเนข้างต้นนี้ยังไม่รวมปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ทิศทางการลงมติของ สว. ในญัตติประชุมร่วมว่าจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ผลลัพธ์ของการเลือก สว. ชุดใหม่ ที่จะเป็นตัวแปรต่อการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 และระบบที่มาของสสร. การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่อาจจะกำลังมาถึง รวมทั้งผลการลงมติของประชาชนในการทำประชามติแต่ละครั้ง ยังมีปัจจัยชุดใหญ่ที่อาจจะส่งผลให้การมีรัฐธรรมนูญใหม่เร็วขึ้นหรือช้าลงได้อีกมาก

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป