ทำความรู้จัก 34 กรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

การทำประชามติถามเสียงประชาชนเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เริ่มมีความคืบหน้าอยู่บ้าง เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก เมื่อ 13 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และได้มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ 

ต่อมา 3 ตุลาคม 2566 นายกฯ มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ภายหลังพรรคก้าวไกลออกมาชี้แจงว่าไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ส่งผลให้คณะกรรมการชุดนี้มีเพียง 34 คนเท่านั้น โดยตำแหน่งของกรรมการถูกจัดสรรให้บุคคลจากหลายภาคส่วน ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) กลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย และยังไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนสังกัดไปทำงานหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น 2) ตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน 3) ตัวแทนองค์กรวิชาชีพกฎหมาย ข้าราชการ-อดีตข้าราชการจากหลายองค์กร และ 4) ภาคประชาชน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์

ก้าวไกลไม่เข้าร่วมกรรมการ เหตุยังไม่ชัดเจนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร. จากการเลือกตั้ง

หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย ออกมาแถลงข่าว โดยมีใจความที่ระบุถึงหลักการที่คุยกันว่า จะมีการทำประชามติก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงไม่แตะต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ในหมวดอื่นๆ แต่จะมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายลูก (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) จะเสร็จภายในสี่ปี ถ้าจะยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ประชาชนเห็นชอบ

หากดูรายนามของ 35 กรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ จะพบว่ากรรมการหลายคนที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรคการเมือง ขณะที่ทางส่วนของพรรคก้าวไกลนั้น ถูกระบุไว้ในคำสั่งนายกฯ ว่า “ผู้แทนพรรคก้าวไกล” โดยไม่ได้ระบุนาม เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากพรรคก้าวไกลว่าจะส่งใครมาเป็นกรรมการ ในวันเดียวกันนั้นเอง ทีมสื่อสารพรรคก้าวไกลก็ออกมาชี้แจงว่า ที่ประชุมพรรคก้าวไกลมีมติไม่ส่งตัวแทนร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เพราะยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด ส่งผลให้คณะกรรมการมีจำนวนทั้งสิ้น 34 คน

เปลี่ยนตัวกรรมการที่เป็นสส. ออกหกคน แทนด้วยคนอื่นในพรรค-ข้าราชการ

ต่อมา 5 ตุลาคม 2566 มีรายงานข่าวว่า นายกฯ ลงนามยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ และออกคำสั่งฉบับใหม่ แต่งตั้งกรรมการจำนวน 34 คน สาระสำคัญคือปรับเปลี่ยนตัวกรรมการบางราย โดยเศรษฐา ทวีสิน ชี้แจงว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงติงมาในประเด็นว่า สส. จะเป็นคณะกรรมการไม่ได้ จึงแก้ไขตามคำท้วงติงดังกล่าว

สำหรับบุคคลที่เดิมเป็นกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ และต่อมาถูกเปลี่ยนตัวออกไปเนื่องจากเป็น สส. ได้แก่ 

1. รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง 

2. นพดล ปัทมะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีตสส. พรรคประชาธิปัตย์ (2539-2548) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช 

3. ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

4. เดชอิศม์ ขาวทอง สส. แบ่งเขต จังหวัดสงขลา เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

5. ธนกร วังบุญคงชนะ สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

6. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย

สำหรับบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแทนที่หกคนที่ถูกเปลี่ยนตัว ได้แก่

1. วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 

2. วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 

3. กฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

4. ชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย อดีตสส. แบ่งเขต นครพนม เขต 4 และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

5. เจือ ราชสีห์ อดีตผู้สมัคร สส. แบ่งเขต จังหวัด สงขลา เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีต สส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์  

6. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตนายกสภาวิศวกร นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 

จะเห็นได้ว่า หน้าตาของคณะกรรมการที่เดิมวางตัวไว้เป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง ซึ่งเป็น สส. ด้วยนั้น จำนวนสามคน ถูกเปลี่ยนเป็นคนอื่นจากในพรรคที่ไม่ได้เป็น สส. (ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ ไทยสร้างไทย) ขณะที่เก้าอี้กรรมการของสาม สส. พรรคเพื่อไทย ก็สับเปลี่ยนให้ข้าราชการประจำ-อดีตข้าราชการระดับสูงเข้ามานั่งเก้าอี้แทน

โดยสรุปหลังพรรคก้าวไกลประกาศว่าไม่เข้าร่วม-มีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ทำให้คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ประกอบไปด้วยกรรมการจำนวน 34 คน โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ วุฒิสาร ตันไชย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

กรรมการ 7 คน สมาชิก-อดีตสส. คนทำงานเกี่ยวข้องพรรคเพื่อไทย

เมื่อสำรวจหน้าตาคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติจำนวน 34 คน จะพบว่า ในจำนวนดังกล่าว มีกรรมการจำนวนเจ็ดคน ที่มีภูมิหลังหรือประกอบวิชาชีพแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยทางใดทางหนึ่ง เช่น ทำงานในพรรค เป็นสมาชิกพรรค เป็นอดีต สส.  โดยยังไม่มีข้อมูล (ณ เดือนตุลาคม 2566) ว่าย้ายไปสังกัดหรือร่วมงานกับพรรคอื่นแล้ว คือ 

1. ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

2. พิชิต ชื่นบาน อดีตสส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2554) อดีตประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ พิชิตยังเป็นที่รู้จักในฐานะอดีตหัวหน้าทีมทนายความของทักษิณ ชินวัตร เขาเคยต้องคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสดสองล้านบาท มอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ในช่วงที่ทักษิณต่อสู้คดีที่ดินรัชดา นอกจากนี้ ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ยังมีรายงานข่าวว่าปรากฏชื่อของพิชิตในโผคณะรัฐมนตรีรัฐบาลเศรษฐาด้วย

3. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง สมาชิกพรรคเพื่อไทย 

4. วิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีตแกนนำ นปช. และอดีต สส. พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2554) 

5. ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการในกรรมการชุดนี้ ชนินทร์ เป็นลูกของ เกษม รุ่งธนเกียรติ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย อดีตสส. หลายสมัย (2529 2535 2538 2539) และอดีต สว. เลือกตั้ง สุรินทร์ (เลือกตั้ง 2543)

6. วัฒนา เตียงกูล ทนายความ ผู้เคยทำหน้าที่เป็นทนายความและตัวแทน/ผู้รับมอบอำนาจคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เช่น คดีที่พรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ วัฒนายังมีบทบาทการทำงานในพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง เช่น เป็นเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสามสส. เพื่อไทย ไม่ทำตามมติพรรคฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น)

7. พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้สมัครสส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2562) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กรรมการ 9 คน เป็นตัวแทนหลากพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล 7 ฝ่ายค้าน 2

ขณะที่กรรมการอีกจำนวนเก้าคน ถูกจัดสรรกระจายโควตาให้ตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง โดยผู้ที่มานั่งเก้าอี้กรรมการจะไม่ได้เป็น สส. ในพรรค แต่เป็นบุคคลที่ทำงานหรือเป็นผู้สมัคร สส. ในพรรค ยกเว้นทวี สอดส่อง ที่เป็น สส. พรรคประชาชาติ แต่เป็นกรรมการในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

หากดูการจัดสรรตำแหน่งกรรมการเก้าคน เจ็ดคนจะเป็นผู้ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่สองคนเป็นตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านสองพรรค คือพรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ดังนี้

1. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สส. และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (เป็นกรรมการในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม)

2. นิกร จำนง อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (เลือกตั้ง 2562) ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา

3. ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีต สส. จากพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (เลือกตั้ง 2562) 

4. ศุภชัย ใจสมุทร อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (เลือกตั้ง 2562)

5. วิรัตน์ วรศสิริน อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (เลือกตั้ง 2562)

6. เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

7. เจือ ราชสีห์ ผู้สมัคร สส. แบ่งเขต จังหวัด สงขลา เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตสส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 

8. ชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย อดีตสส. แบ่งเขต นครพนม เขต 4 และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

9. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตนายกสภาวิศวกร ดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)









ในสมัยสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 นิกร จำนง ไพบูลย์ นิติตะวัน และศุภชัย ใจสมุทร ยังเคยเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้ง ได้แก่


1) กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อ “ถ่วงเวลา” ก่อนพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ


2) กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต่อมาร่างฉบับนี้ถูกโหวตตกไปในวาระสาม


3) กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ระบบเลือกตั้ง ซึ่งผ่านรัฐสภาและประกาศใช้ รองรับระบบเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง 2566



กรรมการ 12 คน ตัวแทนองค์กรวิชาชีพกฎหมาย ข้าราชการ-อดีตข้าราชการจากหลายองค์กร 

ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่ จำนวน 12 คน ไม่ได้มาจากองค์กรเดียวกัน แต่เห็นจุดร่วมคือเป็นข้าราชการประจำหรือเป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือข้าราชการในสายอาชีพ ทหาร ตำรวจ อัยการ และตัวแทนจากผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย แบ่งเป็น

๐ ข้าราชการประจำสามคน คือ 

1. ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2. วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

3.นพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

๐ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพกฎหมาย-ผู้เคยทำงานด้านกฎหมาย สามคน คือ

1. วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ (ปี 2565 – 2568) 

2. ศ. พิเศษ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการบริหาร กองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย กรรมการเนติบัณฑิตยสภา กรรมการบริหารและรองประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย อดีตผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กิตติพงษ์ยังเคยทำงานในวงงานราชการในหลายตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม และยังเคยเป็นอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ของสสร. ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 

3. ชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด 

๐ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ-ข้าราชการประจำห้าคน คือ

1. วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 

2. กฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

3. [อดีตข้าราชการทหาร] : พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม ประธานที่ปรึกษาสมาคมองค์การทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย อดีตผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา 

4. [อดีตข้าราชการตำรวจ] พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) 

๐ อดีตกรรมการในองค์กรอิสระ หนึ่งคน คือ ประวิช รัตนเพียร อดีต กกต.

ภาคประชาชน 3 คน นักวิชาการด้านกฎหมาย-รัฐศาสตร์ 3 คน 

นอกจากนี้ ในจำนวนกรรมการ 34 คน ยังมีกรรมการจากภาคประชาชนจำนวนสามคน และนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จำนวนสามคนเช่นกัน คือ

1. ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป อดีตสว. กรุงเทพมหานคร (เลือกตั้ง 2543)

2. ธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค 

3. ชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

4. ผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

5. ศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. รศ. ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ตั้งอนุกรรมการ ศึกษารายละเอียด

16 ตุลาคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสองชุด คือ

1) คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

คณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับแนวทางทำประชามติ คณะอนุกรรมการชุดนี้ สามารถเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลหรือความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาได้

อนุกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นกรรมการ จำนวน 17 คน ได้แก่

1) นิกร จำนง ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ 

2) กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

3) พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษ

4) พล.ต.อ.วินัย ทองสอง

5) พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา

6) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

7) สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

8) วิภูแถลง พัฒนภูมิไท

9) วิเชียร ชุบไธสง

10) วัฒนา เตียงกูล

11) ยุทธพร อิสรชัย

12) ธงชัย ไวยบุญญา

13) ชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์

14) เจือ ราชสีห์

15) สิริพรรณ นกสวนสวัสดี 

16) ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 

17) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

บุคคลอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการ จำนวนหกคน ได้แก่

1. พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม

2. มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

3. ธัชพงษ์ วงษ์เหรียญทอง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ 

4. เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

5. เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สองคน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

2) คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 

คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษาแนวทางทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และสามารถเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลหรือความเห็นได้เช่นกัน

อนุกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นกรรมการ จำนวน 19 คน ได้แก่

1. วุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานอนุกรรมการ

2. นิกร จำนง

3. พิชิต ชื่นบาน

4. พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม

5. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

6. ศุภชัย ใจสมุทร

7. วิรัตน์ วรศสิริน

8. ยุทธพร อิสรชัย

9. ไพบูลย์ นิติตะวัน

10. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

11. พงศ์เทพ เทพกาญจนา

12. ประวิช รัตนเพียร

13. เทวัญ ลิปตพัลลภ

14. ชวลิต วิชยสุทธิ์

15. เจือ ราชสีห์

16. กฤช เอื้อวงศ์ 

17. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

18. ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

19. นพดล เภรีฤกษ์

บุคคลอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการ จำนวนเจ็ดคน ได้แก่

1. รัฐภูมิ คำศรี นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

2. มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

3. นิยม เติมศรีสุข อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

4. เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

5. เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สองคน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

6. เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป