#ส่องประชามติ: กกต.แจกเพียงข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ ประชาสัมพันธ์นอกเขตฯ ไม่ทั่วถึง

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน 2559 ได้กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใน 2 ประเด็นคือ 1. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ทั้งฉบับ และ 2. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของ สนช. “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกําหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ภายหลังจากการกำหนดวันออกเสียงประชามติ กกต.ดำเนินการประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการแจกร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปตามบ้านเรือน, รายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ, การประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านครู ก. ครู ข. และครู ค., การให้นักศึกษาวิชาทหารจิตอาสาไปรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและการให้ความรู้ผ่านแอปพลิเคชั่นฉลาดรู้ประชามติ ดาวเหนือ และตาสับปะรด แม้ว่า กกต.จะมีแนวทางการประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ แต่จากการรวบรวมข้อมูลยังพบข้อบกพร่องบางประการที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกขบวนรถไฟประชามติครั้งนี้

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

 

กกต.แจกเพียงสรุปข้อดีร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชน

เป็นที่ทราบกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มจะเผยแพร่เป็นการทั่วไปเท่านั้น กล่าวคือประชาชนไม่จำเป็นต้องได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มทุกครัวเรือน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจัดพิมพ์เพียงแค่ 1 ล้านฉบับเท่านั้น แต่ กกต.ได้จัดพิมพ์คำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญ 2 เล่ม ตีพิมพ์เล่มละ 4 ล้านฉบับ จุลสารการออกเสียงประชามติอีกจำนวน 20 ล้านเล่ม อย่างไรก็ดีจำนวนของเอกสารไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงจนเกิดข้อคำถามมากมาย จนกระทั่ง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้ กกต.จะไม่ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญและสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับทุกครัวเรือน แต่มีจุลสารการออกเสียงประชามติที่ส่งให้ทุกครัวเรือน พร้อมเตือนว่าอย่าหลงเชื่อนักการเมืองหรือผู้ไม่หวังดีที่คอยบิดเบือนข้อเท็จจริงจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล โดยประชาชนสามารถฟังความเห็นจากรอบด้านที่มีการถกเถียงกัน

ที่มา: Thaipublica

 

การทดแทนร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มด้วยคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญและจุลสารการออกเสียงประชามติฯ อาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถทดแทนกันได้ เพราะในความจริงเอกสารดังกล่าวเป็นการอธิบายสาระของร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวบรัดตัดความ รายละเอียดในบางอย่างเป็นการตีความเพิ่มและบางข้อความไม่มีปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานก่อนเข้าเรียนอนุบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี ข้อความที่ว่า ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี เป็นข้อความเท็จที่ไม่มีปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ หรือการกล่าวว่าประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตั้งแต่ท้องแม่ยันแก่เฒ่า ข้อความดังกล่าวเป็นการตีความเพิ่มจากร่างรัฐธรรมนูญ

ความกังวลเรื่องการแจกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ทั่วถึง สะท้อนผ่านองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้และตัวแทนจาก 34 องค์กรภาคีเครือข่ายในหกจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และพัทลุง ที่แถลงถึงปัญหาในการออกเสียงประชามติว่า ทางองค์กรเกรงว่าผลของการลงประชามติจะเชื่อถือไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้ กรธ.ได้เร่งดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนให้เข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญทุกมาตราอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปศึกษาก่อนที่จะไปออกเสียงประชามติ และการแจกจ่ายเพียงจุลสารฯ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนบางประเด็นก็ยังไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับร่างรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวองค์กรเห็นว่าเป็นการปกปิดความจริง การไม่แจกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการไม่ให้เกียรติกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

 

เสียงสะท้อนประชาชนที่ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

บุศรินทร์ แปแนะ ผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจประชามติ กล่าวว่าเพจประชามติได้สอบถามประชาชนผ่านการโพสต์หน้าเพจจำนวน 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในวันที่ 9 กรกฎาคม สอบถามผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง โพสต์ดังกล่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กให้ความสนใจในการตอบคำถามดังกล่าวกว่า 100 คนและประมาณ 80 คนตอบว่า ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ระบุว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กระจายตัวอยู่ในเขตปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ร่วมตอบคำถามมีเพียง 5 คนที่ตอบว่า ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้รับจากงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของหน่วยงานภาครัฐ โพสต์ดังกล่าวได้รับการแชร์ไปจำนวน 116 ครั้ง ซึ่งมีข้อความประกอบว่า ยังไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน

อีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม หรือก่อนหน้าวันลงประชามติเพียง 2 วัน ปรากฏว่ายังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กบอกว่ายังไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญและบางส่วนได้รับจุลสารการออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ในวันที่ 6 สิงหาคม หรือวันก่อนหน้าวันลงประชามติ เพจประชามติได้โพสต์ข้อมูลสรุปร่างรัฐธรรมนูญและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมาร่วมพูดคุยให้ความเห็นจำนวนเกือบ 300 ข้อความ ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งตั้งคำถามว่า เหตุใดประชาชนต้องดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญอ่านเองในเมื่อรัฐได้จัดสรรงบประมาณในการจัดพิมพ์ไปแล้ว ความเห็นของเขามีผู้ร่วมตอบจำนวน 76 ความเห็น หลายข้อความระบุว่าตนก็ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน

จากการสุ่มสัมภาษณ์ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ คนแรกคือ เอ เล่าว่า บ้านของเธอยังไม่ได้รับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญและยังไม่ทราบว่าประชามติในครั้งนี้มี 2 คำถามคือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและคำถามพ่วง ขณะที่แม่ของเธอบอกกับเธอว่า การลงประชามติครั้งนี้คืออะไรไม่ทราบเหมือนกัน เขาบอกกันว่าให้ไปเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้เอยังเล่าเรื่องการพูดคุยกับลุงและเพื่อนบ้านของเธอว่าพวกเขาไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ประชามติ” และคิดว่าเป็นข้อกฎหมายที่ชาวบ้านไม่เข้าใจและไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เมื่อสอบถามต่อว่าในหมู่บ้านของเธอมีกระบวนการให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เธอตอบว่ามีผู้ใหญ่บ้านคอยให้ความรู้เรื่องดังกล่าว เมื่อติดต่อไปยังผู้ใหญ่บ้าน เขาเล่าว่าที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลอยู่ตลอดทุกสัปดาห์และต้องรายงานผลต่อเจ้าหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ดีผู้ใหญ่บ้านไม่ได้บอกเล่ากระบวนการที่ชัดเจน แต่น่าขบคิดว่าการให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญตามหน้าที่นั้นจะเป็นไปอย่างครบถ้วนรอบด้านหรือไม่

ขณะที่ บี ก็ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องเช่นกัน โดยทราบเพียงแค่ว่าการทำประชามติครั้งนี้มีคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ทราบว่ามีคำถามพ่วง อีกคนคือ ซี ก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเขาพยายามเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจนทราบว่า มีคำถาม 2 คำถามคือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และคำถามพ่วงที่ตัวเขาเองไม่ได้เข้าใจความหมายมากนัก ที่น่าสนใจคือซีเล่าว่า เขาตัดสินใจเลือกเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโดยที่ไม่จำเป็นต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือติดตามข่าวสารเลย เขารู้สึกว่าการมีอยู่ของรัฐบาลทหารมันเป็นระเบียบเรียบร้อยดีจึงตัดสินใจเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

การประชาสัมพันธ์ลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัด คนจำนวนมากเสียสิทธิ

วันที่ 28 เมษายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงอย่างเป็นทางการว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กกต.เปิดให้ลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดผ่าน 3 ช่องทางคือ ยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนอำเภอตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 7 กรกฎาคม 2559 ส่วนอีกสองช่องทางคือยื่นทางไปรษณีย์และยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2559

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ภายหลังการลงทะเบียนฯ สิ้นสุดลง สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ออกมาเปิดเผยว่า การลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดปี 2559 นี้มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 325,229 คน เพิ่มขึ้นจากการลงทะเบียนฯ ในปี 2550 ที่มีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งหมด 242,462 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดย กกต.สรุปตัวเลขจากการที่นำค่ารวมของผู้ลงทะเบียนฯ ล่าสุดมาคำนวณกับค่ารวมของผู้ลงทะเบียนฯ ในปี 2550 ซึ่งการสรุปดังกล่าวดูจะเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสักเท่าใดนักเพราะว่าการคำนวณตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สัมพันธ์กับปัจจัยข้างเคียงอื่น กล่าวคือ การลงประชามติทั้ง 2 ครั้งที่ กกต. นำมาเปรียบเทียบมีระยะเวลาต่างกันถึง 9 ปีภายใต้กรอบเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของประชากรที่มีสิทธิออกเสียงหรือช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายขึ้น อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีผู้ลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด

ย้อนดูการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ครั้งนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศทั้งหมด 45,092,955 คน และมีผู้ลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดจำนวน 242,462 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.53 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ขณะที่การลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดปี 2559 นี้มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 325,229 คนจากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,260,382 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.64 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด นั่นเท่ากับว่าจริงๆ แล้วตัวเลขการลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.11 เท่านั้น ไม่ใช่ร้อยละ 35 อย่างที่สมชัยกล่าวไว้ ขณะเดียวกันช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและยื่นลงทะเบียนฯ สะดวกขึ้น เมื่อนำปัจจัยดังกล่าวมาหักลบกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.11 จึงไม่ได้สะท้อนถึงการรับรู้เรื่องการลงทะเบียนหรือประชามติมากนัก

สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ประชามติ เครือข่ายภาคประชาชนที่รณรงค์และติดตามความเคลื่อนไหวของการออกเสียงประชามติครั้งนี้ พบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบถึงการลงทะเบียนประชามตินอกเขตจังหวัด จากการสอบถามบุศรินทร์ พบว่าในแต่ละวันเพจประชามติได้รับข้อความจากประชาชนสอบถามเรื่องการลงทะเบียนฯ เป็นจำนวนมาก ในการเก็บข้อมูลด้วยการสอบถามประชาชนสองกลุ่มคือนักศึกษาและพนักงานบริษัท ในกลุ่มนักศึกษาหลายคนให้ข้อมูลว่า การประชาสัมพันธ์ของการลงทะเบียนฯ ไม่ทั่วถึงและกว่าจะทราบการลงทะเบียนก็สิ้นสุดไปแล้ว ในการสัมภาษณ์นักศึกษารายหนึ่งเล่าว่า บรรยากาศการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ประชามติเป็นไปอย่างเงียบเหงา ปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากการที่มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดการเรียนด้วย ขณะที่นักศึกษาอีกรายระบุว่า ไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยและบนเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่กลับไปใช้สิทธิออกเสียงที่ภูมิลำเนาเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงและวันออกเสียงประชามติใกล้กับวันเปิดภาคเรียน ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่จึงไม่มีเวลาเพียงพอในการเดินทาง กลายเป็นการตัดสิทธิการออกเสียงทางอ้อมในกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่จำนวนมาก

เช่นเดียวกับกลุ่มพนักงานบริษัทที่ไม่ทราบข่าวการลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด เช่น เอ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เล่าว่า ต้องทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ทำให้เขาไม่ได้มีโอกาสทราบข่าวการลงทะเบียนฯ จนกระทั่งในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ฟังวิทยุจึงได้ทราบข่าวการลงทะเบียนฯ และการทำประชามติ โดยก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งเขาจะลงทะเบียนฯ ทันทุกครั้ง ทำให้เขาคิดว่าอาจเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง ประกอบกับบรรยากาศของการรณรงค์ประชามติที่จังหวัดชลบุรีเป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีป้ายรณรงค์ ไม่มีรถกระจายเสียงให้ความรู้แก่ประชาชน ขณะที่เพื่อนของเออีก 5 คนก็ไม่ทราบข่าวการลงประชามติเช่นกัน พวกเขาต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชาสัมพันธ์ประชามติครั้งนี้ไม่ค่อยคึกคักนัก

บี เป็นพนักงานบริษัทอีกคนที่มาทำงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เล่าว่าเขาไม่ได้ลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดเพราะไม่ทราบกำหนดการลงทะเบียน ทราบแต่เพียงว่าวันที่ 7 สิงหาคมมีการลงประชามติ สำหรับเขาการประชาสัมพันธ์ถือว่าค่อนข้างน้อย ทั้งเอและบี รวมถึงพนักงานบริษัทอีกจำนวนมากที่สอบถามมาที่เพจประชามติ ตัดสินใจที่จะไม่กลับไปออกเสียงประชามติเพราะการเดินทางกลับภูมิลำเนามีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนอีกหลายรายที่ไม่ทราบว่า การลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัดจะต้องลงทะเบียนใหม่และเพิ่งทราบหลังจากที่ปิดลงทะเบียนไปแล้ว

ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลที่เพจประชามติได้รับจากการสอบถามผ่านทางหน้าเพจเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบุว่า การประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัดน้อยเกินไป ทำให้หลายคนต้องพลาดการลงทะเบียนนอกเขต ทั้งที่พวกเขาเคยลงทะเบียนฯ ทันในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกล่าวว่า เธอไม่ได้ลงทะเบียนฯ เพราะการประชาสัมพันธ์ที่น้อย ไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีช่องทางการรับข่าวสารมากนัก ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายให้ความเห็นว่า ได้รับทราบข้อมูลประชามติเพราะข่าวผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ทางวิทยุและอินเทอร์เน็ตมากกว่าข้อมูลจากการประชาสัมพันธ์ของ กกต.

อีกความเห็นที่น่าสนใจของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกล่าวว่า การประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติครั้งนี้น้อยมาก เธอทำงานในวงการสื่อสารมวลชนยังเพิ่งทราบในวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เธอจึงพยายามลงทะเบียนทางเว็บไซต์ แต่ก็พบว่าไม่สะดวกในการเข้าใช้เว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟน ขณะที่ในบางจังหวัดประชาชนต้องเดินทางหลายกิโลเมตรเพื่อมาออกเสียงต่างอำเภอ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่หน่วยออกเสียงอยู่ในอำเภอเมือง ประชาชนที่ทำงานบนเกาะจะต้องนั่งเรือเฟอร์รี่เข้ามาที่ตัวเมือง แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลา ดังนั้นหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดก็เป็นอีกปัจจัยของการตัดสินใจลงทะเบียนฯ ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันผู้ที่สามารถลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัดบางส่วนยังสะท้อนปัญหามาที่เพจประชามติว่า การลงทะเบียนมีความขัดข้อง อาทิ กรอกข้อมูลครบแล้วแต่ไม่สามารถเลือกจังหวัดได้ หรือลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้วแต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อกลับพบว่าหมายเลขบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง รวมถึงเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในช่วงก่อนปิดการลงทะเบียนในวันที่ 30 มิถุนายน

 

การออกเสียงประชามติในต่างประเทศ

ตามแนววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การออกเสียงจะต้องจัดขึ้นภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงไม่ได้บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติในต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเคยออกปากกับ กกต.ว่า การลงประชามติในต่างประเทศไม่ต้องทำก็ได้ เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลา ทั้งจะเกิดความยุ่งยาก โดยเฉพาะการแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแจกให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือน ส่งผลให้คนไทยที่มีสิทธิออกเสียงในต่างประเทศกลายเป็นคนไม่มีสิทธิตัดสินอนาคตประเทศไปโดยปริยาย หากไปดูสถิติการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะพบว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจในการออกเสียงทางการเมือง กรมการกงสุลได้รวบรวมสถิติผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักรในปี 2557 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งหมด 145,758 คนและมีผู้ใช้สิทธิจริงจำนวน 26,866 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

นักศึกษาปริญญาโทรายหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนีให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า รู้สึกเสียดายโอกาสที่จะได้มีส่วนร่วมในการใช้สิทธิออกเสียงโหวตประชามติมากและรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ โดยส่วนตัวมีความสงสัยมากว่าทำไมถึงไม่จัดการลงประชามติในต่างประเทศ ทั้งที่ในการเลือกตั้งทั่วไปก็มีให้ใช้สิทธิจากต่างประเทศได้และจากการพูดคุยกับคนไทยที่รู้จักก็มีการพูดถึงในทิศทางที่มีความเสียดายโอกาสเช่นกัน แม้ว่าจำนวนผู้อาศัยในต่างประเทศจะมีน้อยแต่ทุกคนอยากจะมีส่วนร่วมกับประชามติเป็นอย่างมาก หลายคนในเยอรมนีค่อนข้างตื่นตัวกับเรื่องประชามติพอสมควรทีเดียวในเชิงที่ว่า ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไรก็จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้นการไม่ได้ใช้สิทธิจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้บีบีซีไทยได้ไปสอบถามความรู้สึกต่อเรื่องดังกล่าวของคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ดวงตา เดอเลอร็องซ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสมองว่า รัฐบาลตัดสิทธิตัดเสียงคนไทยในต่างประเทศเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ขณะที่สุทิศา สังข์ประเสริฐ กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า คนไทยในต่างประเทศสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังนั้นน่าจะเห็นคุณค่าของคนไทยในต่างแดน รัฐบาลไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มเรื่องรณรงค์ “#AllThaiVote ร่วมลงชื่อให้คนไทยในต่างประเทศมีสิทธิ์โหวตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นเดียวกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย” โดยเป็นการร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การรณรงค์ดังกล่าวมีผู้สนใจร่วมลงชื่อกว่า 200 รายชื่อ

 

ข่าวลือและความสับสนก่อนลงประชามติ

การประชาสัมพันธ์ทั้งในด้านเนื้อหาการลงประชามติและด้านการเตรียมตัวของประชาชนในการออกเสียงประชามติของ กกต. ถูกวิจารณ์ว่าประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและทราบเรื่องราวต่างๆ ไม่ทั่วถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านความไม่เข้าใจของประชาชนผ่านความสับสนและข่าวลือต่างๆ บุศรินทร์กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนดังกล่าวได้สร้างความกังวลในอนาคตให้แก่ประชาชนที่พลาดการลงทะเบียนอย่างเรื่องการสอบรับราชการที่ประชาชนถามเข้ามายังเพจประชามติจำนวนมาก ว่าหากไม่สามารถไปใช้สิทธิจะกระทบต่อการสอบเข้ารับราชการไหมหรือต้องถูกสอบสวนจากหน่วยงานหรือไม่ ซึ่งจากการสอบถาม กกต.ตอบว่าการไม่ไปออกเสียงประชามติไม่ส่งผลให้เสียสิทธิใดเพราะไม่มีกฎหมายข้อใดระบุไว้ แต่ในกรณีที่หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่นใดจะกำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมสามารถกระทำได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึงและชัดเจนกลับกลายเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับข่าวลือ เช่น ถ้าไม่ไปออกเสียงประชามติจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือประชาชนที่มีบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 (คนต่างด้าวที่ได้รับสัญชาติไทย) จะต้องถูกยึดคืนบัตรประชาชน

บุศรินทร์ทิ้งทายว่ายิ่งใกล้วันประชามติเข้ามา ข้อความที่ส่งเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในประเด็นต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้มีสิทธิออกเสียงแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องบางประการของกระบวนการประชาสัมพันธ์ที่ กกต. จะต้องพิจารณาทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนในส่วนนี้เพื่อส่งเสริมการรับรู้ของประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น

You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
Phue Thai Needs
อ่าน

รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

รัฐบาลเพื่อไทยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านได้ต้องอาศัย “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย