ไม่ผ่าน! สภาโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ระบุเพศ-คำนำหน้า ตามเจตจำนง

21 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล โดยเป็นการพิจารณาในชั้นวาระหนึ่ง รับหลักการ

สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคก้าวไกลนั้น กำหนดกลไกและผลของการรับรองเพศสภาพ ผู้ที่จะขอให้รับรองเพศสภาพได้นั้น จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  และต้องไม่เป็นผู้มีรายชื่อในฐานข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติในคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

สำหรับผลที่ตามมาจากการขอรับรองเพศสภาพ นายทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขคำนำหน้านามและคำระบุเพศสภาพในเอกสารราชการต่างๆ เช่น บัตรประชาชน

หลังจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อภิปรายและธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้เสนอ แถลงปิดแล้วเสร็จ เวลาประมาณ 16.30 น. ที่ประชุมมีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 257 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ เป็นอันตกไปในวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ดี นอกจากร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล แล้ว ยังมีร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่มีหลักการทำนองเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร คือ

1) ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวผลักดันขึ้น ซึ่งหากจะเสนอเข้าสภาจะต้องเสนอผ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2) ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) เป็นร่างที่ภาคประชาชนร่างขึ้น โดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) อย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยกำลังเปิดให้เข้าชื่อผ่านทาง https://www.gen-act.org

อ่านสรุป-เปรียบเทียบเนื้อหาร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า ทั้งสามฉบับ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6232