กลไกควบคุมรัฐบาลใหม่ตามยุทธศาสตร์คสช.

เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. หรือ 'ยุทธศาสตร์คสช.' ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำร่างยุทธศาสตร์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการการประกาศใช้ จากนั้น คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องจัดทำแผ่นแม่บทขึ้นมาเป็นแผนสำหรับการทำงานของหน่วยงานรัฐ อีกทั้ง การเสนองบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปก็จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แถลงนโยบายตอนเข้ารับตำแหน่ง นโยบายก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย
เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางไว้ พ.ร.บ การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 จึงกำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ ลงโทษ ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
1) กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท (มาตรา 26)
เมื่อหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบพร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง หากหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สั่งการหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการแก้ไข
เว้นแต่ เป็นกรณีของหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ ให้แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวเพื่อพิจารณาดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป
2) กรณีหน่วยงานรัฐไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงการทำงานให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท หลัง ครม. ได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้ว (มาตรา 25 และ 26 วรรค 3)
ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา พิจารณาว่ารายงานสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยรัฐไม่ ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท 
ทั้ง คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาลงโทษหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น โดยการดำเนินการของ ป.ป.ช. ต้องแล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และในกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป
3) กรณีที่ ครม. ไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท (มาตรา 29)
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเป็นการดําเนินการของ ครม. ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภา (ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.) ทราบ และให้วุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดําเนินการ
ทั้งนี้ ให้ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามมาตรา 81 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากศาลประทับรับฟ้องผู้ถูกฟ้องต้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากตัดสินว่าผิด ให้ ครม. พ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ ครม. ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้อีกด้วย
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น