Q&A ตอบทุกคำถาม เข้าชื่อ #ปลดอาวุธคสช. ทำอย่างไร? ทำแล้วยังไง?

ระหว่างทางการเข้าชื่อเสนอให้ยกเลิก ประกาศ/คำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ มีคำถามเข้ามามากมาย หลายคนสงสัยหลายประเด็นก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่ เราจึงรวบรวมคำถามหลักๆ ที่พบบ่อยๆ มาลองอธิบายแบบสั้นๆ ไว้ที่นี่ที่เดียว หวังว่าจะตอบทุกข้อสงสัยได้ แต่หากใครยังมีข้อคิดเห็นหรือคำถามใดๆ ก็ส่งเข้ามาช่วยกันได้เสมอ เราจะพยายามตอบให้ครบทุกความเห็น

 

Q1: ลงชื่อผ่านทางออนไลน์ได้หรือไม่?
A1: ไม่ได้ เพราะการลงชื่อผ่านทางออนไลน์ เช่น ทางเว็บไซต์ change.org เป็นเพียงการรวมพลังเรียกร้องที่ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 133 จะมีผลตามกฎหมายให้รัฐสภาต้องรับร่างกฎหมายนั้นไว้พิจารณา ผู้เข้าชื่อจึงต้องกรอกแบบฟอร์มเฉพาะเรียกว่า “ข.ก.๑” และต้องใช้เอกสารตัวจริง ที่ลงลายมือชื่อจริงเท่านั้น พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้เป็นหลักฐานด้วย จึงจะมีผลนับเป็นหนึ่งในหมื่นรายชื่อที่เสนอกฎหมายได้
Q2: ใครมีสิทธิลงชื่อบ้าง?
A2: รัฐธรรมนูญใช้คำว่า ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ดังนั้น คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้หมด
คนที่ถูกตัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้แก่ นักบวชในศาสนา นักโทษที่ถูกคุมขัง คนวิกลจริต และคนที่ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสถานะของแต่ละคนจะนับวันที่นำร่างกฎหมายยื่นต่อสภาให้พิจารณาซึ่งจะเป็นวันที่ทุกรายชื่อถูกตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 
การไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้ตัดสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
Q3: ต้องลงชื่อภายในเมื่อไร?
A3: ตามกฎหมายไม่ได้มีกำหนดว่า เมื่อเริ่มรวบรวมรายชื่อแล้วจะต้องรวบรวมให้ได้ครบจำนวนภายในกี่วัน แต่ทางเครือข่ายภาคประชาชนตั้งเป้าว่า จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ภายใน 5-6 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งถ้าหากทุกคนช่วยกันส่งรายชื่อมาโดยเร็วก็จะเป็นผลดีต่อการตรวจนับและคัดแยกเอกสารให้เรียบร้อย
Q4: เมื่อลงชื่อแล้ว จะมีผลกระทบตามมาหรือไม่?
A4: การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ที่ไม่มีใครสามารถห้ามได้ ร่างกฎหมายที่เสนอครั้งนี้ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายใด และไม่ขัดต่อประกาศ/คำสั่งของ คสช. เองด้วย ในทางตรงกันข้าม หากมีใครพยายามหลอกลวง บังคัญ ขู่เข็ญ ไม่ให้ลงชื่อหรือให้ถอนชื่อ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มาตรา 13 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
Q5: ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว ประกาศ/คำสั่งต่างๆ จะถูกยกเลิกโดยบริยาย ใช่หรือไม่?
A5: ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองให้ประกาศ/คำสั่ง และการกระทำทั้งหลายของ คสช. ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดไป การจะยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมาเพื่อยกเลิก
Q6: เมื่อได้รายชื่อครบแล้วจะยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันทีหรือไม่?
A6: ไม่ เนื่องจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด และมีสมาชิก 58% เป็นทหาร จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะพิจารณาออกกฎหมาย และไม่มีแนวโน้มว่าจะพิจารณาให้ร่างกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ คสช. ผ่านออกมาบังคับใช้ได้ ทั้ง 23 เครือข่ายองค์กรจึงเห็นตรงกันว่า จะไม่เสนอให้ สนช. เป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ แต่จะรอให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณา
Q7: ถ้าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะยังต้องอยู่ภายใต้ประกาศ/คำสั่ง คสช. เหล่านี้ ใช่หรือไม่?
A7: ไม่แน่เสมอไป กิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมายที่นำไปสู่การยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ให้ทันก่อนการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อสังคมและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้เช่นกัน หากสังคมมีความเข้าใจต่อปัญหาของประกาศ/คำสั่ง คสช. ทั้ง 35 ฉบับ และกิจกรรมการลงชื่อมีพลังมากพอส่งเสียงของประชาชน คสช. ก็อาจจะตัดสินใจยกเลิกเองก่อนการเลือกตั้งเพื่อเคารพความต้องการของประชาชนก็ได้ หรือแม้จะไม่ได้เสนอต่อ สนช. โดยตรง หากสมาชิกของ สนช. เห็นความสำคัญของการยกเลิกประกาศ/คำสั่งเหล่านี้ ก็อาจนำหลักการนี้ไปเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาเองได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า สังคมเห็นด้วยและตื่นตัวกับเรื่องนี้มากพอหรือไม่
Q8: เมื่อเสนอไปแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้หรือไม่
A8: เครือข่ายภาคประชาชนคงไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ อย่างไรก็ตามหากมีประชาชนจำนวนมากใช้สิทธิของตัวเองร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าเสียงของประชาชนจะผลักดันให้รัฐสภาต้องพิจารณาผ่านร่างกฎหมายนี
Q9: สภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วจะยกเลิก ประกาศ/คำสั่ง คสช. ได้หรือไม่?
A9: รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ “รัฐบาล” ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ที่ต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเสนองบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ได้กำหนดให้ "รัฐสภา" ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายต้องพิจารณากฎหมายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติด้วย และนอกจากนี้ เราก็ยังไม่เห็นว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเนื้อหาเป็นอย่างไร เพราะยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำที่ประชาชนยังพอจะส่งเสียงเรียกร้องได้ว่า สิ่งใดต้องการสิ่งใดไม่ต้องการ และจากฉบับร่างเท่าที่เคยเผยแพร่ออกมาก็ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดที่จะคุ้มครองให้ประกาศ/คำสั่งของ คสช. คงอยู่ตลอดไป
Q10: กิจกรรมนี้เสนอให้ยกเลิก 35 ฉบับ ทำไมจึงไม่ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ให้หมดทุกฉบับ?
A10: ประกาศและคำสั่งของ คสช. มีจำนวนกว่า 500 ฉบับ แต่ละฉบับมีเนื้อหาและวิธีการบังคับใช้ต่างกัน หลายฉบับเมื่อออกมาแล้วก็สิ้นผลไปในทันที เช่น การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ บางฉบับยังมีลักษณะเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจบริหารจึงไม่อาจยกเลิกโดยวิธีการออกเป็นพระราชบัญญัติได้  
แม้ว่า ประกาศ/คำสั่ง คสช. ส่วนใหญ่จะสามารถยกเลิกโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติได้ แต่ประกาศและคำสั่งของ คสช. อีกจำนวนมากยังไม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงออกมาอธิบายต่อสาธารณะถึงวิธีการบังคับใช้และผลร้ายที่เกิดขึ้นต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็น ประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านั้นจึงปัญหาเรื่องความชอบธรรมเฉพาะในแง่ที่มา แต่ในทางเนื้อหายังต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้มากกว่านี้เพื่อเสนอให้ยกเลิก แต่หากประชาชนคนใดหรือกลุ่มใดได้รับผลกระทบจากประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ฉบับใด และเห็นควรเสนอให้ยกเลิกไปพร้อมๆ กัน ทั้ง 23 เครือข่ายองค์กรก็พร้อมสนับสนุนเช่นกัน
Q11: คนที่ไม่ได้ขัดแย้งกับ คสช. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ไม่มีทางได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. ใช่หรือไม่ ?
A11: ไม่ใช่ เพราะมีประกาศและคำสั่งของ คสช. จำนวนมากที่มีผลกระทบกับประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. เลย เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องปฏิบัติทวงคืนผืนป่า ที่ให้อำนาจทหารไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินโดยอ้างว่าเป็นเขตป่า หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารจับกุมและปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมหลายประเภทอย่างหนักหน่วง เช่น กิจการรถตู้ กิจการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับการต่อต้าน คสช. เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับที่เกี่ยวกับการเอาที่ดินเพื่อการเกษตรมาทำนิคมอุตสาหกรรม หรือการให้อำนาจหน่วยงานรัฐดำเนินโครงการขนาดใหญ่ก่อนผ่านอีไอเอ มีแนวโน้มจะส่งผลกระเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทุกคนที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเดียวกันก็ย่อมจะได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน หรือ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 เรื่องการควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชนย่อมกระทบต่อผู้บริโภคสื่อทุกคนที่ต้องรับข่าวสารอยู่ทุกวันโดยไม่อาจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนแท้จริง เพราะถูก คสช. ควบคุมเอาไว้อยู่
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

กิจกรรม “แคนดิเดตสว.ขอพูด” ขอเชิญผู้สมัครสว.67 ใช้ 7 นาทีแนะนำตัว!

iLaw ขอเชิญผู้ที่ประสงค์จะสมัครสว. ชุดใหม่มาร่วมงาน “แคนดิเดตสว.ขอพูด” ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ (The Emerald Hotel) ห้องพาโนรามา ชั้น 14 วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-17.00 น. เพื่อสร้างพื้นที่แนะนำตัวต่อสาธารณะ และนำเสนอความฝันที่อยากจะเห็นในฐานะผู้สมัครสว. กลุ่มละเจ็ดนาที!