ปัดฝุ่นเช็ค “เก้าอี้” วุฒิสภา: การสิ้นสภาพ ส.ว. เกิดจากอะไรบ้าง?

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 วุฒิสภา หรือ “ส.ว.” จำนวน 250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง จะมีวาระการทำงานถึงห้าปี และมีอำนาจหลายประการมากกว่าการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย เช่น อำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในระยะห้าปีแรก ตามมาตรา 272, อำนาจให้ความเห็นชอบหากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งและสาม ตามมาตรา 256 หรืออำนาจให้ความเห็นชอบการผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นับแต่มีการประกาศรายชื่อ ส.ว. ทั้ง 250 คน ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 หากนำมาเปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน (มิถุนายน 2565) ก็จะพบว่ามีหน้าตาที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย เนื่องจากมี ส.ว. ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ไอลอว์ชวนย้อนดูการสลับเปลี่ยนของ “เก้าอี้ ส.ว.” พร้อมสำรวจข้อกฎหมายว่าการสิ้นสภาพ ส.ว. สามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุใดได้บ้าง

ทำความรู้จัก ส.ว. ทั้ง 3 ประเภท

รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้วุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเสนอชื่อโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน โดยแบ่งที่มาออกเป็นสามประเภทตามวิธีการได้มา ดังนี้

1) “ส.ว. จากกลุ่มอาชีพ” ระบุวิธีการได้มาไว้ในมาตรา 269 (1) (ก) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยให้เป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์หลายด้าน หลากกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มผลประโยชน์ ทำการเลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อส่งให้ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง 15 วัน จากนั้น คสช.จะคัดเลือกให้ได้จำนวน 50 คน และให้มีรายชื่อสำรอง 50 คน

2) “ส.ว. จากคณะกรรมการสรรหา” ระบุวิธีการได้มาไว้ในมาตรา 269 (1) (ข) ให้ “คณะกรรมการสรรหา ส.ว.” ที่แต่งตั้งโดย คสช. เฟ้นหาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ และเป็นกลางทางการเมือง จำนวน 9-12 คน ต่อมา คณะกรรมการสรรหา ส.ว. จะทำหน้าที่สรรหาตัวแทนจากบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วนำรายชื่อส่งให้ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง 15 วัน จากนั้น คสช.จะคัดเลือกให้ได้จำนวน 194 คน และให้มีรายชื่อสำรอง 50 คน

3) “ส.ว. เหล่าทัพ” ระบุวิธีการได้มาไว้ในมาตรา 269 (1) (ค) ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง รวม 6 คน

“รายชื่อสำรอง 50+50 คน” การันตีว่า สว. ไม่มีวันตาย

เมื่อพิจารณาจากวิธีการได้มาของ ส.ว. ประเภทที่หนึ่งและสอง จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดให้มี “บัญชีบุคคลสำรอง ส.ว.” ไว้ประเภทละ 50 คน ซึ่งรายชื่อสำรองดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) ระบุว่าหากถึงคราวเมื่อมีตำแหน่ง “ส.ว. ตัวจริง” ว่างลง ให้ทำการเลื่อนรายชื่อบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองที่ คสช. จัดทำไว้ขึ้นมาตามลำดับ มีรายละเอียดดังนี้

1) บัญชีสำรองของ “ส.ว. จากกลุ่มอาชีพ” ถูกประกาศออกมาเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 (วันเดียวกับการประกาศรายชื่อ ส.ว. ตัวจริงทั้ง 250 คน) ผ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2562 โดยระบุเหตุผลว่า “เพื่อให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 296 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 98 และ 99 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นรายชื่อสำรองของ ส.ว. ประเภทใด และมาจากการสรรหาแบบใด 

ทั้งนี้ จากการติดตามกระบวนการสรรหาพบว่า ทั้ง 50 รายชื่อดังกล่าวเป็นรายชื่อที่ “เคยอยู่ในกระบวนการสรรหา ส.ว. กลุ่มอาชีพ” โดยกกต. แต่ในขั้นตอนสุดท้ายไม่ถูกเลือกให้เป็นตัวจริง จึงเท่ากับว่ารายชื่อเหล่านี้เป็นบัญชีสำรองของ ส.ว. กลุ่มอาชีพ 

2) บัญชีสำรองของ “ส.ว. จากคณะกรรมการสรรหา” ประมาณหนึ่งเดือนถัดมาจากการประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับแรก ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 คสช. ก็ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 2/2562 พร้อมระบุชัดเจนว่าเป็นรายชื่อสำรองของ “ส.ว. คณะสรรหา” 

ในขณะที่ ประเภทที่ 3) “ส.ว.เหล่าทัพ” จะทำการสลับเปลี่ยนบุคคลตามการสิ้นสุดของอายุราชการในตำแหน่ง และประกาศผ่านพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (5) กำหนดไว้ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่” รวมทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสาม ยังระบุว่า ในกรณีที่มี ส.ว.เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งหมดและอายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี ให้ดำเนินการเลือก ส.ว.ขึ้นแทนภายใน 60 วัน

นั่นจึงหมายความว่าการทำหน้าที่ของ ส.ว. จะไม่มีทางขาดช่วงไปอย่างเด็ดขาด 

การสิ้นสภาพของ ส.ว. เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง? 

นอกจากการเสียชีวิต รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 111 ได้กำหนดลักษณะของการกระทำที่ให้ “สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง” ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

o ขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุม

รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (5) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว. คนดังกล่าว ขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา นั่นหมายความว่า ส.ว. จะต้องเข้าประชุมมากถึง 75 %

ในปัจจุบัน ยังไม่มี ส.ว.คนใดหลุดจากตำแหน่งด้วยสาเหตุดังกล่าว แม้สถิติจะปรากฏว่า ค่าเฉลี่ยของการไม่ได้มาลงมติของ ส.ว. ในแต่ละมติจะมีคนขาดมากถึง 63 คน และพบว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำทหารและตำรวจ 5 ใน 6 คนติดโผ 10 อันดับคนที่ขาดลงมติมากที่สุด 

o ถูกพิพากษาให้จำคุก

รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (6) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นการรอการลงโทษในความผิดที่กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

กรณีการพ้นตำแหน่งจากสาเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นกับ “ชยุต สืบตระกูล” เมื่อ 25 กันยายน 2562 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต กรณีร่วมกับผู้บริหารกทม.จัดซื้อที่ดินจอดรถขยะราคาแพงเกินจริงและรับค่านายหน้าขายที่ดิน เมื่อครั้งที่ชยุตเป็นเลขานุการของ พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยคนที่ถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทน ได้แก่ จัตุรงค์ เสริมสุข อดีตผู้สมัครคัดเลือก กกต. ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2562

o อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (7) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว.คนใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 113 ที่กำหนดว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ

แม้ที่ผ่านมาจะไม่มี ส.ว.คนใดพ้นตำแหน่งด้วยวิธีนี้ แต่มีกรณีใกล้เคียงคือ “อนุมัติ อาหมัด” ที่ต้องการไปทำงานการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว ทำให้เขาตัดสินใจลาออกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564 โดยก่อนหน้านี้ อนุมัติก็เคยช่วยทำงานการเมืองให้กับพรรคพลังประชารัฐในช่วงเลือกตั้งปี 2562 มาก่อน ทั้งนี้คนที่ถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทน ได้แก่ พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเลขาธิการ กกต. ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

o ผลประโยชน์ทับซ้อน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (7) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว.คนใดกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภากระทำการดังต่อไปนี้

(1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(2) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

(4) ไม่กระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ

กรณีการพ้นตำแหน่ง ส.ว. จากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นคู่สัญญากับรัฐ เกิดขึ้นกับ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ที่ยื่นใบลาออกจากส.ว. เมื่อ 28 สิงหาคม 2562 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นพ.ธีระเกียรติ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล คสช.ยุคแรก จากกรณีคู่สมรสซื้อหุ้นเพิ่ม 800 หุ้น ในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นคู่สัมปทานกับรัฐ ขัดกับมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 (2) ด้วยเหตุนี้ นพ.ธีระเกียรติ จึงแสดงเจตจำนงผ่านการลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. และหลังจากนั้น อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ที่ถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทนตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2562

o มีลักษณะต้องห้ามเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (4) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว.คนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 โดยคุณสมบัติของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 (ข) กำหนด “ลักษณะต้องห้าม” ของ ส.ว. ว่าหากใครมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (8) คือ เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เท่ากับขาดคุณสมบัติเป็น ส.ว.

กรณีการพ้นตำแหน่ง ส.ว. เนื่องจากเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ เกิดขึ้นกับกรณีของ “ระวี รุ่งเรือง” ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 10 มิถุนายน 2563 สืบเนื่องจากการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังปรากฏหลักฐานว่า  ก่อนได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็น ส.ว. ระวีเคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วร้ายอย่างร้ายแรง (คำสั่งกรมการปกครอง ที่ 689/2539 ลงวันที่ 15 ส.ค. 2539) โดยขณะเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระวีได้ทำการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดนและมีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด ต่อมา ระวีได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน 2539 และ พ.ร.บ.ล้างมลทิน 2550 อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ระวีเพียงไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าความประพฤติหรือการกระทำของผู้ถูกร้องที่เป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยแต่อย่างใด” 

สำหรับคนที่ถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทน ได้แก่ วิชัย ทิตตภักดี อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2563

o ห้ามมีสถานะเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ

เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (4) ระบุให้ ส.ว. พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเมื่อพบว่า ส.ว.คนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 โดยคุณสมบัติของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 (ข) กำหนด “ลักษณะต้องห้าม” ของ ส.ว. ว่าหากใครมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (12) (15)  คือ เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เท่ากับขาดคุณสมบัติเป็น ส.ว.

แม้จะยังไม่มีกรณีการพ้นจากตำแหน่งที่สืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องสถานะการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น แต่ก็มีกรณีใกล้เคียงเมื่อ “อุดม คชินทร” ตัดสินใจยื่นใบลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแทน โดยอุดมพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และมีประสิทธิ ปทุมารักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทนตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2563

o ผู้นำเหล่าทัพเกษียณอายุราชการ

ในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว. ในวาระเริ่มแรก “มีข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง ส.ว.” จำนวนหกคนอันได้แก่ ส.ว.เหล่าทัพ รวมทั้งให้งดเว้นเรื่อง “ลักษณะต้องห้าม” ไม่ให้ ส.ว. เป็นข้าราชการ ทั้งในมาตรา 108 ข. (2) และ 184 (1) ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย นั่นจึงส่งผลให้จาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน จะปรากฏ ส.ว. จำนวนหกคนที่สามารถควบตำแหน่งข้าราชการประจำและรับเงินเดือนหลายทางพร้อมกันได้ 

สำหรับรายชื่อ “สว.เหล่าทัพ” ที่สิ้นสภาพ ส.ว. เนื่องจากการ “เกษียณอายุราชการ” มีดังต่อไปนี้

1) ปลัดกระทรวงกลาโหม: พลเอกณัฐ อินทรเจริญ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2564 และมีพลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ มานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2564

2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด: พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2563 และมีพลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ มานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2563

3) ผู้บัญชาการทหารบก: พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2563 และมีพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ มานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2563

4) ผู้บัญชาการทหารเรือ: พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2563 โดยมีพลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน มานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 6 ธันวาคม  2563 – 30 กันยายน 2564 ต่อด้วยพลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

5) ผู้บัญชาการทหารอากาศ: พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2562 โดยมีพลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ มานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ต่อด้วยพลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ (6 ธันวาคม  2563 – 30 กันยายน 2564) และพลอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

6) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ: พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 30 กันยายน 2563 และมีพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เข้ามานั่งเก้าอี้แทนตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2563

o ยื่นใบลาออก

ที่ผ่านมา เคยมี ส.ว. ที่พ้นตำแหน่งยื่นใบลาออกจำนวนห้าคน โดยคนล่าสุดที่ยื่นใบลาออก ได้แก่ (1) พล.อ.อ.มนัส รูปขจร พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยให้เหตุผลในการลาออกเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ และมีสุวัฒน์ จิราพันธุ์ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศถูกเลื่อนตามลำดับรายชื่อเข้ามารับตำแหน่งแทนตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

และ (2) วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยให้เหตุผลในการลาออกด้วยเหตุผลว่า “ทำหน้าที่ ส.ว. มาครบ 3 ปีแล้ว” สำหรับรายชื่อสำรองที่คาดว่าจะเข้ามารับตำแหน่งต่อ ได้แก่ ลือชา การณ์เมือง อดีตเลขานุการส่วนตัวของสุรินทร์ พิศสุวรรณ และ อนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าจับตามองว่าการยื่นใบลาออกของวิสุทธิ์นั้นจะเป็นไปเพื่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่กับรัฐบาลหรือบทบาทอื่นๆ ในแวดวงการเมืองอีกหรือไม่ โดยก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. วิสุทธิ์เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาก่อน