วุฒิสภาตั้ง กมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ปิดลับไม่ให้รู้ว่าประชุมอะไร

ในการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากสภาวะที่ไม่มีองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย คสช. ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาทำหน้าที่พิจารณาอออกกฎหมาย ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งต่อมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 วุฒิสภา “ชุดพิเศษ” 250 คน ก็มาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย เป็นมือกลั่นกรองรับไม้ต่อจากสภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าโฉมหน้าของวุฒิสภา 250 คนชุดปัจจุบันจะแตกต่างไปจากสนช. อยู่บ้าง แต่ผลผลิตบางประการที่สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดยคสช. ก็ยังคงถูกสานต่อโดยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน โดยหนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เคยมีในยุคของสนช. และวุฒิสภาชุดปัจจุบันก็ตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ ความน่าสนใจของกมธ. ชุดนี้ คือ มีกมธ. บางรายที่เคยเป็นกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. และมาเป็นกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดวุฒิสภาปัจจุบันอีกครั้ง นอกจากนี้ การประชุมแต่ละครั้งของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ล้วนแต่ถูกปิดตราประทับ “ลับ” ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน

ทำความรู้จัก กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ จากฉันทามติวุฒิสภาที่สำนึกในสถาบันฯ

เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 สนช. ก็ปิดตัวลงไป แต่ไม่นานนักก็มีสภาแต่งตั้งชุดใหม่มาแทน เรียกว่า “วุฒิสภา” ซึ่งไม่ได้มีอำนาจเต็มในการออกกฎหมายเช่นเดียวกับ สนช. อีกแล้ว แต่ต้องทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี วุฒิสภาชุดพิเศษของ คสช. ก็ทำงานตามความมุ่งหมายเดิมในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ) ขึ้นมาทำงาน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562

ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 82 ที่กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 30 คน ในจำนวนนี้ให้ประกอบด้วยบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ในเอกสารข่าวของกมธ. ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตั้งกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  เป็น “ฉันทามติ” ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สำนึกในความสำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นตามข้อเสนอหรือญัตติของส.ว.รายใด โดยมีเป้าประสงค์ คือ สืบสานรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและดำรงอยู่กับชาติไทยตลอดไป

กมธ. ดังกล่าว เมื่อแต่งตั้งครั้งแรกมีทั้งสิ้น 30 คน แต่จากข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของกมธ. ปรากฏรายชื่อทั้งหมด 32 คน โดยมีสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ก่อนหน้านี้ ในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ของสนช. ด้วยเช่นกัน โดยกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวน 31 คน โดยมีพลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีกรรมาธิการสี่คนที่อยู่ในชุดของ สนช.และยังอยู่ในชุดของวุฒิสภาต่อด้วย ได้แก่

1. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม เป็นรองประธานกมธ.พิทักษ์ ชุดสนช. และต่อมาก็ได้เป็นที่ปรึกษากมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภา แต่ต่อมาสมเจตน์ได้ลาออกจากกมธ. พิทักษ์ฯ แล้ว และคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้ามาเป็นกมธ. แทน ทั้งนี้ คุณหญิงพรทิพย์ ไม่เคยเป็นกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. มาก่อน

2. ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภา

3. กิตติ วะสีนนท์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภาด้วยเช่นกัน

4. ธีรยุทธ์ ตั้งบุญเกษม เป็นผู้ช่วยเลขานุการในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ทั้งชุดสนช.และวุฒิสภา

นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ในชุดสนช. ที่ไม่ได้มาเป็นกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ในชุดวุฒิสภาอีกมีคนเดียว แต่ก็ยังคงได้ดำรงตำแหน่งเป็นส.ว. และมีบทบาทด้านอื่นในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ สมชาย แสวงการ

สำหรับเรื่องอำนาจหน้าที่ของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  เอกสารบันทึกข้อความการตั้งกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดวุฒิสภา ไม่ได้ระบุข้อมูลไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่หน้าเว็บไซต์ของกมธ. เมนู “อำนาจหน้าที่” ก็ไม่ได้ระบุข้อความใดๆ ไว้ เป็นหน้าเว็บเพจที่ว่างเปล่า

วุฒิสภาโหวตปิดลับบันทึกการประชุมกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ

ด้านผลงาน นับถึง 6 พฤษภาคม 2565 กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ประชุมไปแล้วอย่างน้อย 57 ครั้ง แบ่งเป็น การประชุมในปี 2562 เจ็ดครั้ง การประชุมในปี 2563 20 ครั้ง โดยครั้งที่ 20 ไม่มีข้อมูลระเบียบวาระการประชุมและหนังสือนัดประชุมบนหน้าเว็บไซต์ ส่วนในปี 2564 ประชุมไปแล้ว 22 ครั้ง และปี 2565 นับจนถึง 6 พฤษภาคม 2565 กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ประชุมไปแล้วแปดครั้ง และจะประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565

บนหน้าเว็บไซต์ของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ไม่ได้แสดงรายงานการประชุม และจากระเบียบวาระการประชุมก็ไม่มีรายละเอียดที่ทำให้เข้าใจถึงเนื้อหาการประชุมแต่ละครั้งได้

นอกจากนี้ บันทึกการประชุมของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ก็ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรืออัพโหลดบนเว็บไซต์วุฒิสภาแต่อย่างใด โดยเหตุมาจากกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  เอง มีมติให้การประชุมเป็นการประชุมลับ และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณามีมติไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ

โดยเหตุผลที่กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ บันทึกการประชุมลับ เนื่องมาจาก

1) การประชุมแต่ละครั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อบุคคลและเครือข่าย หากมีการเปิดเผยออกไปอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.

2) การเปิดเผยอาจส่งผลกระทบต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกมธ. ได้เชิญมาให้ข้อมูลเชิงลึก

3) กมธ. มีความจำเป็นต้องบันทึกเป็นบันทึกการประชุมลับ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมและรักษาข้อมูลเชิงลึกไว้สำหรับการวิเคราะห์และประมวลผลในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

4) การประชุมของกมธ. แต่ละครั้งจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายเฉพาะให้ความคุ้มครองไว้ไม่ต้องเปิดเผย คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้”

ทั้งนี้ ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่มีการพิจารณาบันทึกการประชุมลับของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  สามครั้งล่าสุด เสียงข้างมากของที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ทั้งสามครั้ง โดยมีรายละเอียดมติ ดังนี้

การประชุมวุฒิสภา 7 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ. พิทักษ์ฯ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ไม่ให้เปิดเผย) 174 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นควรให้เปิดเผย) 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

การประชุมวุฒิสภา 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ. พิทักษ์ฯ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ไม่ให้เปิดเผย) 193 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นควรให้เปิดเผย) 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

การประชุมวุฒิสภา 20 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ. พิทักษ์ฯ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย (ไม่ให้เปิดเผย) 187 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นควรให้เปิดเผย) 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

ทัวร์ดูงานต่างจังหวัด เสนองานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

นอกจากผลงานด้านการประชุมแล้ว ในหน้าเว็บไซต์ส่วนของข่าวสารวุฒิสภา ปรากฏข่าวว่า กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  เคยไปศึกษาดูงานมาแล้วอย่างน้อยหกครั้ง

ครั้งแรก 13 พฤศจิกายน 2562 ศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ และหอสมุดสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ครั้งที่สอง 20 ธันวาคม 2562 ศึกษาดูงานที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อรับทราบข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อต้านข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  

ครั้งที่สาม 17 กันยายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ และสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ครั้งที่สี่ 8 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการหลวงด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ห้า 9 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเตรียมความพร้อมและลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำสื่อวีดิทัศน์สถานที่สำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งใช้ประกอบในการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน นักเรียนและนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป

ครั้งที่หก 27 พฤศจิกายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลประวัติความเป็นมา ประกอบด้วย  1) พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม (สวนสุขภาพลัดโพธิ์) 2) พระสมุทรเจดีย์ 3) ป้อมพระจุลจอมเกล้า และ 4) ชุมชนบ้านสาขลา

นอกจากการประชุมและการศึกษาดูงาน กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ก็เคยปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น

รับหนังสือแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน จากผศ.ดร. เชรษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เมื่อ 1 ธันวาคม 2563  

สำหรับแถลงการณ์ของ ทปสท. มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ขอให้ดำรงจุดยืนของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์คู่กับสังคมไทย เนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างสูงยิ่งร่วมกับกลุ่มประชาชนทุกหมู่เหล่าในการสร้างชาติมาด้วยกัน และไม่สนับสนุนการรัฐประหารในการแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง

จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ Seed Project เรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” เมื่อ 29 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  และมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม เพื่อสร้างแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เข้ามานำเสนอความคิดและวิธีการในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองผ่านการหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่น 

และเมื่อมีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ก็ออกมาแถลงข่าวในวันถัดไปทันที โดยมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ คือ กมธ. ได้ติดตามการใช้สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และมีความเป็นห่วงที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กระทบต่อ “ความรู้สึก” ของคนไทยหลายสิบล้านคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเคารพยิ่ง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติในการใช้สิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยคำนึงถึงความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

ตั้งอนุฯ ศึกษาแนวทางสื่อสารเชิงรุกพัฒนาความเชื่อ

กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ยังมีคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญในสังกัดสองชุด คือ

1) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางด้านการสื่อสารในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (อนุกมธ.แนวทางสื่อสารฯ)

2) คณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (อนุกมธ.ดำเนินมาตรการฯ)

อนุกมธ.แนวทางสื่อสารฯ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางสื่อสารเชิงรุกเพื่อพัฒนาความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม สำหรับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันฯ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยและเพื่อความมั่นคงของประเทศ ดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสถาบันฯ ประกอบไปด้วยอนุกรรมาธิการ 12 คน เคยประชุมไปแล้วทั้งหมด 33 ครั้ง การประชุมในปี 2563 20 ครั้ง และปี 2564 ประชุมไปห้าครั้ง ขณะที่ปี 2565 ประชุมไปแล้วแปดครั้ง โดยครั้งล่าสุดประชุมเมื่อ 20 เมษายน 2565

ด้านอนุกมธ.ดำเนินมาตรการฯ ในเว็บไซต์ของอนุกมธ.ดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดเรื่องอำนาจของอนุกมธ.ชุดดังกล่าวเอาไว้ โดยอนุกมธ.ชุดนี้มีอนุกรรมาธิการทั้งหมด 12 คน เคยประชุมไปแล้วทั้งหมด 31 ครั้ง แบ่งเป็น การประชุมในปี 2563 เก้าครั้ง และปี 2564 ประชุมไปแล้ว 20 ครั้ง ขณะที่ปี 2565 ประชุมไปแล้วสองครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือการประชุมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์หรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด