ผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้ง 2518-2556

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งผู้ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2476 แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 และมีมาแล้ว 10 ครั้ง เมื่อรวมกับการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ก็จะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11 เท่านั้น โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีแนวโน้มขับเคี่ยวกันดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสนามที่ไม่ได้มีความหมายแค่การดูแลท้องถิ่น แต่ยังเป็นภาพแทนของการต่อสู้ของขั้วอำนาจทางการเมืองในระดับประเทศด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ใช้ระบบสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะ คณะละ 5 คน เป็นผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ 1 คน และผู้สมัครตำแหน่งรองผู้ว่าฯ 4 คน ผู้ชนะ คือคณะของธรรมนูญ เทียนเงิน ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์  หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นรายบุคคล สองครั้งหลังจากนั้นเป็นพลตรีจำลอง ศรีเมืองที่ชนะการเลือกตั้งติดกัน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นกฤษดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งก็ลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม ภายใต้การสนับสนุนของพลตรีจำลองเช่นกัน โดยสามารถเอาชนะพิจิตต รัตตกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ไปไม่มาก

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 5 ในปี 2539 พลตรีจำลอง กลับมาลงสมัครอีกครั้ง ขณะที่กฤษดาก็ลงสมัครด้วย โดยทั้งสองคนเข้าป้ายอันดับสองและสามตามลำดับ ส่วนอันดับที่หนึ่งตกเป็นของพิจิตต รัตตกุล ที่เปลี่ยนไปลงสมัครในนามกลุ่มมดงาน ต่อมาปี 2543 สมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงถึง 1,016,096 คะแนน ส่วนการเลือกตั้งสี่ครั้งหลังจากนั้นเป็นการครองพื้นที่เมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยอภิรักษ์ โกษะโยธิน สองสมัย และม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อีกสองสมัย

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 10 ครั้งตั้งแต่ปี 2518-2556 มีดังนี้ (และสามารถดูรายละเอียดได้ตามไฟล์แนบ)

ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ได้คะแนน ‘เฉียดครึ่ง’ ของผู้มาใช้สิทธิ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใช้ระบบการเลือกตั้งระบบ “คะแนนสูงสุด” หรือ First Past The Post ซึ่งคนที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้สมัครลำดับอื่นๆ ได้คะแนนเท่าใด และไม่ต้องคำนึงว่า คนที่สนับสนุนผู้สมัครที่ได้อันดับหนึ่ง มีถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิหรือไม่ ทำให้ผู้ที่รับการเลือกตั้งแต่ละคนอาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่ “ชนะเด็ดขาด” เสมอไป

การเลือกตั้งในปี 2518 อันดับหนึ่งคณะของธรรมนูญ เทียนเงิน ได้คะแนนไป 99,247 คน ซึ่งค่อนข้างสูสีกับอันดับสองคณะของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ได้ไป 91,678 คะแนน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กาบัตรดี 253,434 คน จึงทำให้ธรรมนูญ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนสนับสนุนจากผู้มาใช้สิทธิเพียง 39.16% ส่วนผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ในการเลือกตั้งปี 2547 ได้คะแนนเสียง 911,441 คะแนน คิดเป็น 38.20% จากบัตรดีทั้งหมด 2,386,157 ใบ

ส่วนใหญ่แล้วผู้ว่าฯ กทม. ที่ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนเสียงไม่ถึง 50% ของจำนวนบัตรดี แต่ใกล้เคียงที่จะได้เสียงครึ่งหนึ่ง เช่น ปี 2539 พิจิตต รัตตกุล ได้คะแนนคิดเป็น 49.47% ปี 2543 สมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนคิดเป็น 45.85% ปี 2551 อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้คะแนนคิดเป็น 45.93% ปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้คะแนนคิดเป็น 45.41% ปี 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้คะแนนคิดเป็น 47.75% 

ผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด คือ เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนบัตรดีมีคนเดียว คือ จำลอง ศรีเมือง ในการเลือกตั้งปี 2528 ได้มา 408,233 คะแนน คิดเป็น 50.51% ของจำนวนบัตรดี และอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2533 ได้ 703,671 คะแนน คิดเป็น 63.49% ของจำนวนบัตรดี

ล้านคะแนน ยังไม่การันตีตำแหน่งผู้ว่าฯ

ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. ที่ชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงถึงหนึ่งล้านคะแนนมีเพียงสองคน คือ สมัคร สุนทรเวช ในปี 2543 ได้มา 1,016,096 คะแนน และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในปี 2556 ได้มา 1,256,349 คะแนน แต่ในการเลือกตั้งปี 2556 เป็นปีที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสีเมื่อผู้สมัครที่ได้ลำดับที่สอง คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทยก็ได้คะแนนถึงหนึ่งล้านเช่นกัน โดยได้มา 1,077,899 คะแนน

ส่วนผลการเลือกตั้งรอบอื่นในห้าครั้งหลัง ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 2,000,000 คน ผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนอยู่ที่เกือบๆ ล้านคะแนน ได้แก่ ปี 2547 อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ 911,441 คะแนน ปี 2551 อภิรักษ์โกษะโยธิน ได้ 991,018 คะแนน และในปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ 934,602 คะแนน

การชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนดิบมากหรือน้อยเพียงใด อาจจะขึ้นอยู่กับคู่แข่งคนอื่นๆ รวมทั้งบรรยากาศทางการเมืองระดับประเทศในสนามการเลือกตั้งครั้งนั้นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวระหว่างตัวแทนของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากที่สุด โดยผู้สมัครจากทั้งสองพรรคการเมืองได้มากกว่าหนึ่งล้านคะแนนทั้งสองคน ขณะที่อันดับสามแม้จะเป็นคนมีชื่อเสียงอย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ได้คะแนนเพียง 166,582 คะแนน ส่วนอันดับสี่อย่างสุหฤท สยามวาลา ก็ได้เพียง 78,825 คะแนน

ตรงกันข้ามกับผลการเลือกตั้งในปี 2543 ที่แม้อันดับหนึ่งจะได้เกินหนึ่งล้านคะแนนแต่เพราะมีผู้สมัครที่มีชื่อเสียงลงสนามแข่งกันจำนวนมาก ผลที่ออกมาจึงมีคนที่ได้คะแนนมากกว่าหนึ่งแสนคะแนนถึงหกคน ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช ได้มา 1,016,096 คะแนน, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 521,184 คะแนน, ธวัชชัย สัจจกุล ได้มา 247,650 คะแนน, พ.อ.วินัย สมพงษ์ ได้มา 145,641 คะแนน, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้มา 132,608 คะแนน และปวีณา หงษ์สกุล ได้มา 116,705 คะแนน

‘ไม้ประดับ’ ยังคึกคัก แม้คะแนนรวมไม่เพิ่มขึ้น

นอกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีชื่อเสียงแย่งชิงตำแหน่งอันดับที่หนึ่งกันแล้ว ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละครั้งยังมีผู้สมัครอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีชื่อเสียง หรือมีต้นทุนที่จะใช้หาเสียงมากนัก โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งจึงน้อยกว่า หรือที่เรียกว่า ผู้สมัคร “ไม้ประดับ” ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ลงสมัครแล้วได้รับคะแนนไม่มาก จะลงสมัครแค่ 1-2 สมัยแล้วล้มเลิกความตั้งใจ แต่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคน ที่แม้จะได้คะแนนสนับสนุนไม่มากแต่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะลงสมัครใหม่หลายๆ รอบ แม้ไม่มีแนวโน้มว่าคะแนนที่ได้รับจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ลงสมัครก็ตาม

สมิตร สมิทธินันท์ เป็นผู้สมัครที่ลงสมัครมาแล้วมากที่สุด คือ หกสมัย พร้อมกับนโยบายหาเสียงที่โด่งดัง คือ การเปิดไฟเขียวทุกสี่แยก เพื่อแก้ปัญหารถติด ในปี 2528 ได้มา 3,706 คะแนน ในปี 2533 ได้มา 3,736 คะแนน ในปี 2535 ได้มา 1,138 คะแนน ในปี 2539 ได้มา 616 คะแนน ซึ่งเป็นปีที่ผลคะแนนแปลกมากเพราะคะแนน “กระจุก” อยู่ไม่กี่คน โดยมีผู้สมัครที่ได้คะแนนหลักสิบถึงเก้าคน ในปี 2543 ได้มา 1,312 คะแนน และในปี 2556 ได้มา 697 คะแนน ส่วนในปี 2565 ไม่ได้ลงสมัครแล้ว หยุดสถิติไว้ที่การสมัครรับเลือกตั้งหกครั้ง

วรัญชัย โชคชนะ เป็นผู้สมัครที่ลงสมัครมาแล้วห้าสมัย เคยเป็นที่รู้จักจากความหมั่นเพียรโทรศัพท์เข้าไปแสดงความคิดเห็นในรายการวิทยุ และในยุค คสช. เป็นต้นมาเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสม่ำเสมอ ปี 2533 ได้มา 13,143 คะแนน ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาลงสมัครและได้รับคะแนนสูงเป็นลำดับที่ห้า แตะหมื่นคะแนนได้ครั้งเดียว ในปี 2535 ได้มา 734 คะแนน ในปี 2539 ได้มา 1,011 คะแนน ในปี 2543 ได้มา 383 คะแนน ในปี 2547 ได้มา 1,087 คะแนน และในปี 2556 ได้มา 638 คะแนน แม้คะแนนที่วรัญชัยได้รับจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2565 เขาก็ยังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง เท่ากับเขาทำสถิติการลงสมัครเท่ากับสมิตร ที่หกสมัย

วิทยา จังกอบพัฒนา อดีตข้าราชการที่หันหน้าเข้าสู่เวทีการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วสี่สมัย ในปี 2547 ได้มา 811 คะแนน ในปี 2551 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 3,759 คะแนน ในปี 2552 ได้มา  3,640 คะแนน และในปี 2556 คะแนนกลับลดลงเหลือเพียง 266 คะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2565 เขาก็ยังลงสมัครต่ออีกครั้งเป็นสมัยที่ห้า

อุดม วิบูลย์เทพาชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้วสี่สมัย ไม่เคยได้คะแนนถึงหลักพันคะแนนเลย ในปี 2543 ได้มา 408 คะแนน ในปี 2547 ได้มา 478 คะแนน ในปี 2551 ได้มา 617 คะแนน ในปี 2552 ได้มา 656 คะแนน ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับสุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งนั้น และไม่ได้ลงสมัครอีกในสมัยต่อมา

สุเมธ ตันธนาศิริกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้วสี่สมัย กับสโลแกน “จุดเทียน เปลี่ยนกรุงเทพฯ” ในปี 2547 ได้มา 709 คะแนน ในปี 2551 ได้มา 1,078 คะแนน ในปี 2552 ได้มา 6,017 คะแนน และในปี 2556 ได้มา 2,089 คะแนน ในปี 2565 ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

ไฟล์แนบ