ระบบเลือกตั้งฝรั่งเศส : ประชาชนเลือกได้สองรอบ การันตีเสียงข้างมากเด็ดขาด

ในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565 ชาวฝรั่งเศสจะเดินเข้าคูหาเป็นครั้งที่สองในรอบสองสัปดาห์เพื่อเลือกคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีในอีกห้าปีข้างหน้าระหว่างเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และมารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ผู้ท้าชิงจากพรรคประชานิยมฝ่ายขวา โดยระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสนั้นใช้ระบบเลือกตั้งสองรอบ (Two-Round System) ซึ่งจะคัดเลือกผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรกในการเลือกตั้งรอบแรก มาแข่งกันอีกครั้งในรอบที่สองเพื่อหาผู้ชนะแบบเด็ดขาด

ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีผู้สมัครทั้งหมดสี่คน ผลการเลือกตั้งในรอบแรกปรากฏว่าไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

ผู้สมัคร A ได้คะแนนเสียง 35 เปอร์เซ็นต์

ผู้สมัคร B ได้คะแนนเสียง 15 เปอร์เซ็นต์

ผู้สมัคร C ได้คะแนนเสียง 20 เปอร์เซ็นต์

ผู้สมัคร D ได้คะแนนเสียง 30 เปอร์เซ็นต์

หากเป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority) หรือ First Past The Post แบบที่ประเทศไทยใช้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ผู้ชนะในการเลือกตั้งก็จะเป็นผู้สมัคร A ซึ่งได้คะแนนสูงสุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือหากผู้สมัครที่ชนะนั้นได้คะแนนเสียงโดยรวมต่ำ ก็จะเจอกับคำถามถึงความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของคนทั้งเขต ตัวอย่าง กรณีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยปี 2562 ที่ผ่านมา จาก 30 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร มีผู้ชนะจำนวนมากที่ได้คะแนนไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่นในเขตเจ็ด ที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐชนะโดยได้คะแนนเพียง 25.45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ภายใต้ระบบเสียงข้างมากธรรมดา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะต้องชั่งใจเลือกผู้สมัครที่ตนเองอาจจะไม่ได้ชอบมากที่สุด แต่เป็นผู้สมัครที่มีโอกาสชนะมากที่สุดแทน หรือที่เรียกว่าการเลือกแบบมียุทธศาสตร์ เนื่องจากผู้สมัครสองคนอาจมีฐานเสียงใกล้เคียงกันจนตัดคะแนนกันเองจนทำให้ผู้สมัครคนที่สามสามารถเข้าเส้นชัยไปได้

แต่ในระบบเลือกตั้งสองรอบ หากไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในรอบแรก ก็จะนำผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับในรอบแรกมาแข่งขันกันอีกครั้ง สำหรับในฝรั่งเศส รอบที่สองจะทิ้งระยะห่างจากรอบแรกสองอาทิตย์ เพื่อการันตีว่าผู้ชนะจะได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority) คือ มากกว่ากึ่งหนึ่งขึ้นไป หากนำผลการเลือกตั้งจำลองข้างบนมาแข่งกันในรอบสอง ผู้ที่ผ่านเข้ารอบก็คือผู้สมัคร A และ D ซึ่งประชาชนก็จะได้เดินเข้าคูหาเลือกอีกครั้งหนึ่ง ผลอาจจะออกมาดังนี้

ผู้สมัคร A ได้คะแนนเสียง 35 เปอร์เซ็นต์

ผู้สมัคร D ได้คะแนนเสียง 65 เปอร์เซ็นต์

ในการเลือกตั้งรอบที่สอง กลับกลายเป็นว่าผู้สมัคร D ที่หวิดแพ้ในรอบแรกสามารถกลับมาชนะได้ อาจด้วยเหตุผลว่าฐานเสียงของตนเองนั้นมีความกว้างขวางกว่า เพียงแต่ต้องแบ่งคะแนนให้กับผู้สมัครอื่นในรอบแรก แต่เมื่อมาถึงในรอบที่สอง ประชาชนที่เคยเลือกผู้สมัครอื่นกลับมาเทคะแนนให้จนเข้าเส้นชัยได้ในที่สุดด้วยคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง

ระบบเลือกตั้งสองรอบถูกกล่าวขานว่าเป็นระบบที่ “ในการเลือกรอบแรกให้ใช้หัวใจเลือก ส่วนรอบที่สองนั้นให้ใช้สมองเลือก” เนื่องจากเป็นระบบเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถหย่อนบัตรได้อีกครั้งหนึ่ง ในรอบแรก ประชาชาชนจึงสามารถเลือกคนที่ตัวเองชอบได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการตัดคะแนนผู้สมัครที่อาจจะมีฐานเสียงคล้ายคลึงกัน เพราะหากคนที่เลือกในรอบแรกไม่ได้อยู่ในสองอันดับแรก ก็ยังจะมีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการเลือกแบบมียุทธศาสตร์ กล่าวคือ แทนที่จะเลือกคนที่ชอบมากที่สุด ก็เลือกคนที่ไม่ชอบน้อยที่สุดแทน

นอกจากนี้ ในบางประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งสองรอบ จะไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่ผ่านเข้ารอบสองจะมีกี่คน แต่จะใช้คะแนนขั้นต่ำแทน เช่น ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส ผู้ที่ได้คะแนนเกิน 12.5 เปอร์เซ็นต์จะผ่านเข้าสู่รอบที่สองแทนการให้สองอันดับผ่านเข้ารอบแบบการเลือกประธานาธิบดี

ข้อดีของระบบเลือกตั้งสองรอบ

  • ได้ผู้ชนะที่เป็นตัวแทนของเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง
  • ประชาชนมีโอกาสในการเลือกสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกแบบมียุทธศาสตร์ในรอบแรก
  • ระบบเลือกตั้งเข้าใจไม่ยาก ประชาชนไม่สับสน

ข้อเสียของระบบเลือกตั้งสองรอบ

  • พรรคขนาดเล็กชนะการเลือกตั้งยากขึ้น
  • เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบสองประนีประนอมกันเอง ทำให้อำนาจของประชาชนลดลง
  • ใช้เวลาและงบประมาณมาก

สำหรับการเลือกตั้งฝรั่งเศสที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นเจอกันอีกครั้งของมาครงและเลอ เปน หลังจากที่มาครงสามารถเอาชนะเลอ เปน ไปได้อย่างถล่มทลาย 66 เปอร์เซ็นต์ต่อ 34 เปอร์เซ็นต์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองเมื่อปี 2017 ความพ่ายแพ้ของเลอ เปน ผู้เป็นตัวแทนของพรรคที่หลายคนขนานนามว่าขวาจัด เป็นตัวอย่างที่ดีของผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในระบบการเลือกตั้งสองรอบเมื่อมีผู้สมัครที่มีฐานเสียงจำกัดหลุดเข้ามาในรอบสองได้และต้องเจอกับผู้สมัครที่มีฐานเสียงกว้างขวางกว่า ก่อนหน้านี้ฌ็อง-มารี เลอเปน (Jean-Marie Le Pen) พ่อของมารีนเลอเปน เคยเข้ารอบสองไปแข่งกับฌากส์ ชีรัค (Jacques Chirac) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2002 และต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปเนื่องจากผู้สมัครพรรคอื่นต่างร่วมกันเทใจให้เพื่อไม่ให้พรรคขวาจัดขึ้นมามีอำนาจ ผลคือเลอเปนคนพ่อ ได้คะแนนเสียงเพียง 17.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลโพลยังให้มาครงเป็นตัวเต็งที่จะเข้าเส้นชัยเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยที่สอง แต่ช่องว่างของคะแนนจะไม่กว้างเท่ากับเมื่อห้าปีที่แล้ว ในการเลือกตั้งรอบแรก มาครงได้คะแนน 28 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่เลอเปนได้คะแนน 23 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทั้งคู่ผ่านเข้ารอบมาเจอกันอีกครั้ง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เลอเปนประสบความสำเร็จในการสลัดภาพลักษณ์ขวาจัดที่ดูหัวรุนแรง ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อพรรคจาก National Front เป็น National Rally ไล่พ่อของตัวเองออกจากพรรค ไปจนถึงการใช้ประเด็นทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่แพงขึ้นเป็นจุดขายหลักมากกว่าประเด็นทางการเมือง วัฒนธรรม หรือผู้อพยพที่เป็นประเด็นที่อาจจะดูขวาสุดโต่งเกินไปสำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เลอ เปน ก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงความสัมพันธ์อันดีของเธอกับรัสเซีย ขณะที่มาครงเองก็เจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ห่างเหินและไม่เข้าใจประชาชนคนธรรมดา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นมีความสำคัญอย่างมากต่อกระแสประชานิยมฝ่ายขวาในโลกตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งกลางเทอมของสภาครองเกรสในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ และในขณะที่สงครามในยูเครนยังคงร้อนระอุ ผู้นำของฝรั่งเศสคนต่อไปจะเป็นกำหนดทิศทางของประเทศที่มีความฝันจะเป็นผู้นำของยุโรป