บำเหน็จบำนาญเพิ่มได้ ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สองปีเต็ม ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร อ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 แม้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะให้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ครั้งละไม่เกินสามเดือน แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ขยายระยะเวลาบังคับใช้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ถึง 17 ครั้ง และยังไม่มีความชัดเจนว่า จะใช้ไปนานเท่าใด โดยการทำงานภายใต้สถานการณ์โรคระบาดมีเหตุจำเป็นต้องอาศัยอำนาจพิเศษจากกฎหมายนี้อย่างไร

ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หากเป็นสถานการณ์ที่มีภัยคุกคามอันเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตหรือร่างกายจริงๆ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมมีความเสี่ยงและย่อมได้รับการตอบแทนที่เหมาะสม พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2494 จึงกำหนดการตอบแทนพิเศษ ในมาตรา 24 ว่า

“ผู้ซึ่งกระทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ในระหว่างเวลาที่มีการรบหรือการสงคราม หรือมีการปราบปรามการจลาจล หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่สั่งให้เป็นนักดำเรือดำน้ำ ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติการตามสั่งเป็นทวีคูณ แม้ว่าในระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนก็ตาม”

โดยการนับระยะเวลาปฏิบัติราชการนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดว่า จะได้เงินบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุหรือไม่ และจะได้เป็นจำนวนเท่าใด โดยหลักการพื้นฐานอยู่ในมาตรา 9 ที่กำหนดว่า ข้าราชการมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญต่อเมื่อมีเหตุทุพพลภาพ หรือเหตุสูงอายุ หรือ “เหตุรับราชการนาน” และมาตรา 14 ที่กำหนดว่า สำหรับข้าราชการที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญด้วย “เหตุรับราชการนาน” ต้องมีเวลาราชการ 30 ปีขึ้นไป หรือถ้าจะออกจากราชการก่อน (early retire) เมื่อทำงานมาถึง 25 ปีและผู้บังคับบัญชาอนุญาตก็ยังมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานได้ 

กฎหมายนี้ถูกปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยแก้ไขครั้งล่าสุดในปี 2554 ซึ่งหลักการในมาตรา24 วรรคแรกนี้ เป็นเช่นเดิมตั้งแต่ฉบับที่ 2494 มาจนถึงปัจจุบันไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข

สำหรับการคำนวนบำเหน็จบำนาญ จะใช้เวลาราชการเป็นเกณฑ์หลักในการคำนวน ตามมาตรา 34 คือ

(1) สำหรับบำเหน็จ ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการ

(2) สำหรับบำนาญ ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายหารด้วยห้าสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการ

ตัวอย่างเช่น หากข้าราชการคนหนึ่งรับราชการนาน 30 ปี ได้รับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุที่ 50,000 บาท ถ้าต้องการรับบำเหน็จก็จะได้รับ 50,000 x 30 = 1,500,000 บาท ถ้าต้องการรับบำนาญก็จะได้รับ 50,000 ÷ 50 x 30 = 30,000 บาทต่อเดือน 

ถ้าหากข้าราชการคนหนึ่งทำงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงกลาโหม ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพื่อรับมือกับสถาการณ์โควิด19 ยาวนานสองปี เมื่อมีเวลาราชการในเวลาปกติถึง 28 ปีแล้ว ก็สามารถนับระยะเวลาภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเข้าไปอีกสองปี รวมเป็น 30 ปี และมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเพราะเหตุรับราชการนานได้ หากเวลาราชการนานถึง 30 ปีแล้ว ก็จะได้นับเวลาราชการเพื่อการคำนวนบำเหน็จบำนาญเพิ่มเติมคิดจากจำนวนปีที่ทำงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ตัวอย่างเช่น หากข้าราชการคนหนึ่งรับราชการนาน 30 ปีจนกระทั่งเกษียณอายุ ซึ่งช่วงเวลาสองปีเป็นการทำงานภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้รับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุที่ 50,000 บาท ถ้าต้องการรับบำเหน็จก็จะได้รับ 50,000 x 32 = 1,600,000 บาท ถ้าต้องการรับบำนาญก็จะได้รับ 50,000 ÷ 50 x 32 = 32,000 ต่อเดือน ถ้าหากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกินเวลานานกว่าสองปีการนับเวลาราชการเพื่อคำนนวนสิทธิบำเหน็จบำนาญก็จะขยายต่อไปอีก

อีกตัวอย่างหนึ่ง หากข้าราชการคนหนึ่งรับราชการนาน 30 ปีจนกระทั่งเกษียณอายุ ซึ่งช่วงเวลา 17 ปีเป็นการทำงานภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุที่ 50,000 บาท ถ้าต้องการรับบำเหน็จก็จะได้รับ 50,000 x 47 = 2,350,000 บาท ถ้าต้องการรับบำนาญก็จะได้รับ 50,000 ÷ 50 x 47 = 47,000 ต่อเดือน

หากผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมีเหตุต้องเสียชีวิต พิการหรือทุพลลภาพ ก็จะมี “บำนาญพิเศษ” ต่างหากคิดตามอัตราเงินเดือนสุดท้าย ในมาตรา 39 และ 41

นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพิจารณาบําเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉินพ.ศ.2529 สำหรับทหารที่สู้รบในเวลาเหตุฉุกเฉิน ให้ได้รับบำเหน็จพิเศษโดยพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน หรือให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ หากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ให้เลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 9 ชั้น หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเพราะเจ็บป่วยไม่ใช่เพราะการสู้รบให้เลื่อนชั้นเงินเดือนไม่เกิน 3 ชั้น

อย่างไรก็ดี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด19 ทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลาสองปี ไม่ควรนับรวมเป็น “เหตุฉุกเฉิน” ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมฉบับนี้ เพราะตามคำนิยามในข้อ 4.2 กำหนดไว้ว่า “เวลาเหตุฉุกเฉิน” หมายความว่า เวลาทําสงคราม เวลาทําการรบ เวลาทําการปราบปรามการจลาจลและเวลาปฏิบัติราชการลับหรือปฏิบัติราชการพิเศษตามที่กระทรวงกลาโหมกําหนด