สรุปความเคลื่อนไหวศึกแก้รัฐธรรมนูญไตรภาคตลอดปี 2564

ปี 2564 เป็นอีกปีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่ทั้งประชาชนและนักการเมืองให้ความสนใจ ในช่วงต้นปี รัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องล่มไปในวาระสาม ต่อมาได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอีกสองภาค รวมทั้งหมด 14 ร่าง โดยในปีนี้ มีหนึ่งร่างที่สามารถผ่านด่านวุฒิสภาจนสามารถแก้ไขได้สำเร็จ ซึ่งก็คือการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปสู่ระบบผสมเสียงข้างมาก (MMM) ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบเลือกตั้งที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม 2554)

จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสภาโดยไอลอว์ ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดปี 2564 ยิ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้นั้น “ยากลำบาก” เพียงใด โดยเฉพาะการกำหนดให้ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาเองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญ หาก ส.ว. ไม่ลงคะแนนให้อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงในวาระแรกและวาระสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่สามารถผ่านไปได้ ซึ่งจากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็มีแนวโน้มว่า ส.ว. จะไม่ลงคะแนนให้ร่างใดก็ตามที่มีการเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในขณะที่การแก้ไขระบบเลือกตั้งซึ่งไม่ได้มีผลกระทบกับ ส.ว. โดยตรง กลับเป็นร่างเดียวที่ได้รับไฟเขียว

สรุปผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญไตรภาค รวมทั้งหมด 21 ร่าง
๐ ภาคแรก (พฤศจิกายน 63 – มีนาคม 64) พิจารณา 7 ร่าง ผล: ร่างที่ให้ตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกคว่ำในวาระสาม
๐ ภาคสอง (มิถุนายน – พฤศจิกายน 64) พิจารณา 13 ร่าง ผล: ร่างแก้ระบบเลือกตั้งผ่านสภาทั้งสามวาระและประกาศใช้เป็นกฎหมายได้สำเร็จ
๐ ภาคสาม (พฤศจิกายน 64) พิจารณา 1 ร่าง ผล: ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ถูกคว่ำในวาระแรก

แก้รัฐธรรมนูญภาคแรก วาระสอง

กมธ. เสียงข้างมากห้ามแก้หมวด 1-2 / วาระหนึ่งและสามต้องใช้เสียงสองในสาม

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคแรก เริ่มต้นในวาระแรกเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 จบลงด้วยที่ประชุมสภามีมติรับรองสองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในชั้นกรรมาธิการ จะนำร่างของพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีโมเดลที่มาของ สสร. แบบผสมระหว่างเลือกตั้งและสรรหาเป็นร่างหลักในการพิจารณา ในขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดตามจังหวัดเป็นร่างรอง
ในพิจารณาในชั้นกรรมาธิการได้ข้อสรุปว่า กมธ. เสียงข้างมากมีมติให้ สสร. ทั้ง 200 คนมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่าจะมีข้อเสนออื่น ๆ รวมถึงการให้อำนาจ สสร. เต็มในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังให้แก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า “สองในสาม” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา
๐ รัฐบาลคุมเกมแก้รัฐธรรมนูญใน กมธ. เบ็ดเสร็จ ตั้ง ส.ว. ที่ “ไม่เห็นชอบ” มาด้วย https://ilaw.or.th/node/5790
๐ 2 ร่าง 2 ปัญหา 2 โอกาส: เกมในสภา #แก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่จบ ประชาชนต้องสู้ต่อ https://ilaw.or.th/node/5792
๐ เปิดโมเดล สสร. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘พรรคเพื่อไทย’ https://ilaw.or.th/node/5743
๐ เปิดโมเดลตั้ง สสร. ของพรรครัฐบาล เลือกตั้ง 150 + แต่งตั้ง 50 https://ilaw.or.th/node/5745
๐ เปิด 4 โมเดล “สสร.” เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน https://ilaw.or.th/node/5581
๐ กมธ.เสียงข้างมาก ห้าม สสร. “แก้ไขหมวด 1-หมวด 2” รัฐธรรมนูญ https://ilaw.or.th/node/5825

สภาลงมติให้วาระหนึ่งและสามใช้เสียงสามในห้า เลือกตั้งสสร. แบบแบ่งเขต

หลังจากที่ กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ลำดับต่อไปก็จะเป็นการพิจารณาของรัฐสภาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยใช้การลงมติรายมาตราในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการลงมติส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากร่างเดิมที่ผ่าน กมธ. เสียงข้างมาก ดังนี้

หนึ่ง การแก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า “สามในห้า” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา แทนที่จะเป็นสองในสามตามร่างของกมธ. ทั้งนี้ นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่าที่มาของการให้ใช้เสียงสองในสามของสองสภา เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เพราะ กมธ. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้เสียงสามในห้าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็มี ส.ส. หลายคนสงวนความเห็นแปรญัตติ เช่น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่งและวาระที่สามให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาก็เพียงพอแล้ว แต่เฉพาะในวาระสามให้เพิ่มเงื่อนไขว่าต้องได้เสียงของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

สอง การแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือระบบ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” แทนการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งตามร่างของ กมธ. เสียงข้างมาก โดยมีเงื่อนไขห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์เช่นเดิม

การกำหนดให้ สสร. มีอำนาจจำกัดให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเท่ากับเป็นการปิดประตูข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคณะราษฎร ดังนั้นจึงมี ส.ส. บางส่วนลุกขึ้นคัดค้านในประเด็นนี้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าการแก้ไขหมวด 1-2 ไม่ใช่เรื่องของการล้มล้างการปกครอง เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 255 กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้อยู่แล้ว ในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขนั้นสามารถทำได้

ด้านผู้ที่อภิปรายสนับสนุนการห้ามแก้หมวด 1-2 ได้แก่ บรรดา ส.ว. อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์ ที่กล่าวว่า การห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เป็นไปตามญัตติที่รัฐบาลเสนอ ความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนก็แตกต่างกันได้ ส่วนของวุฒิสภาเองมีมุมมองอีกส่วนหนึ่ง ว่าการที่จะปกป้องสถาบัน ก็เป็นหน้าที่สำคัญที่วุฒิสภาต้องทำหน้าที่ตรงนี้อย่างชัดเจน เข้มแข็ง และสามารถปกป้องสถาบันได้อย่างแท้จริง

๐ สรุปผลการประชุมรัฐสภาในวาระสอง https://ilaw.or.th/node/5829

ศาลรัฐธรรมนูญขวาง ต้องทำประชามติก่อนให้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับต้องเจอกับอุปสรรคใหม่ ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้คำตอบกับประเด็นว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน” 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ทำให้เกิดการตีความคำว่า “ก่อน” ที่หลากหลาย บางส่วนเห็นว่าต้องทำประชามติตั้งแต่ก่อนการลงมติในวาระแรกทำให้ไม่สามารถลงมติวาระสามได้แล้ว ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ภายหลังจากลงมติวาระสาม หากมีการแก้ไขเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ จึงสามารถลงมติในวาระสามได้แล้วค่อยทำประชามติ ซึ่งแม้จะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มในวันที่ 15 มีนาคม 2564 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความคลุมเครือนี้กระจ่างขึ้นแต่อย่างใด

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐสภาเห็นชอบกับญัตติด่วนของไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. เรื่องขอให้ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสภามีอำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้อำนาจรัฐสภาเพียงแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 เท่านั้น

ในการลงมติวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ร่วมมือกันยกมือให้ญัตตินี้ผ่านไปด้วยคะแนน 336 เสียงต่อ 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ทั้งนี้ ในการอภิปรายนั้นมี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลลุกขึ้นแสดงความไม่เห็นด้วยกับญัตติของพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. แต่ถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลาง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะโหวตไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ที่ผลึกกำลังกันอย่างไม่แตกแถว ส่งผลให้มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การออกคำวินิจฉัยต้องทำประชามติ

๐ รัฐสภามีมติเสียงข้างมากยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. หรือไม่? https://ilaw.or.th/node/5818

๐ รัฐสภาวุ่น! ส.ส. ส.ว. เสนอสี่ทางออก #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม https://ilaw.or.th/node/5840

๐ 5 เหตุผล ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ https://ilaw.or.th/node/5833

แก้รัฐธรรมนูญภาคแรก วาระสาม

คว่ำวาระสาม ปิดฉากแก้รัฐธรรมนูญภาคแรก

เมื่อวาระสามเดินทางมาถึงในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. ก็เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากการอภิปรายกว่า 12 ชั่วโมง เสียงข้างมากก็มีมติให้ลงมติในวันเดียวกันนี้ ผลการลงมติปรากฏว่ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม โดยมีผู้เห็นชอบ 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ซึ่งรวมถึงเสียง ส.ว. สองในสามและฝ่ายค้านอีกร้อยละ 20 ในวาระสุดท้าย

แก้รัฐธรรมนูญภาคสอง วาระแรก

ศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคสองเริ่มต้นขึ้นวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 โดยที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 13 ฉบับ ประกอบไปด้วยร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว 1 ฉบับ เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ 4 ฉบับ เสนอนำโดยพรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ เสนอนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ

การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต่างจาก “ภาคแรก” ที่เริ่มในช่วงปลายปี 2563 ที่พรรคการเมืองร่วมกันเสนอร่างภายใต้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกันอย่างเป็นเนื้อเดียว ในภาคสอง พรรคการเมืองต่าง ๆ เลือกที่จะเสนอแยกกันตามแต่ละประเด็นที่พรรคต้องการจะผลักดัน ฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยร่วมกันเสนอ 4 ร่าง แต่พรรคก้าวไกลร่วมด้วยเพียงร่างเดียวเท่านั้น

เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอกันในภาคสองนี้มีความหลากหลายมากกว่าในภาคแรก โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของโครงสร้างทางการเมืองซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างมากตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของการขยายสวัสดิการสังคมด้วย ทั้งนี้ ร่างฉบับหนึ่งของพรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอให้มีการตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นไม่ได้ถูกนำเข้าวาระการประชุม เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าเป็นการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ทำให้มีความจำเป็นต้องทำประชามติเสียก่อนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายรัฐบาล-ค้าน เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง บัตรสองใบคล้ายรัฐธรรมนูญ 40

สิ่งที่น่าสนใจของข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคที่สองนี้คือจุดร่วมที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีร่วมกัน ได้แก่การแก้ไขระบบเลือกตั้งจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กลับไปเป็นแบบบัตรสองใบ ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 การแก้ไขระบบเลือกตั้งนี้ถูกเสนอจากทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคขนาดกลางอื่น ๆ อย่างพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย

ระบบเลือกตั้งที่เสนอมาใหม่นั้นจะมีการปรับจำนวน ส.ส. เขต เพิ่มจาก 350 คนเป็น 400 คน ในขณะที่ลด ส.ส. บัญชีรายชื่อลงจาก 150 คนเหลือเพียง 100 คน เมื่อเข้าคูหาแล้ว ผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบแรกจะใช้สำหรับเลือกผู้แทนเขตของตนเอง และใบที่สองจะใช้สำหรับเลือกพรรคการเมืองเพื่อคิดเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อต่อไป โดยไม่มีการคิดจำนวน ส.ส. พึงมีแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทั้งสามพรรคจะเสนอระบบเลือกตั้งเหมือนกันทั้งหมด เพราะยังมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ประเด็นหลักคือจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการที่พรรคขนาดเล็กจะได้ที่นั่งในสภา ในขณะที่ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดคะแนนขั้นต่ำร้อยละ 5 แต่ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเสนอไว้ตรงกันคือร้อยละ 1 ในขณะที่ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเอาไว้ นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยยังมีการเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน แทนที่ 60 วันตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เสนอให้แก้ไขในประเด็นนี้

เสนอแก้ไขสิทธิเสรีภาพ-สวัสดิการสังคม

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอเหมือนกันก็คือการแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเช่นเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเสนอให้คุ้มครองเสรีภาพตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและต่อต้านการรัฐประหาร ส่วนเรื่องสิทธิในการประกันตัวนั้นก็เสนอให้แก้ไขว่า จะไม่ให้ประกันตัวพร้อมคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณาคดีเกินหนึ่งปีไม่ได้ และให้การใช้กฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นนี้ของพรรคอื่น ๆ นั้น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐเสนอให้มีการนำสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเขียนไว้ครอบคลุมกว่ากลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังมีข้อเสนอของตัวเองในเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น และให้มีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินทำกิน ด้านพรรคภูมิใจไทยนั้นมีข้อเสนอให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง หรือที่เรียกกว่า Universal basic income (UBI)

ฝ่ายค้าน-พรรคร่วมเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. เลือกนายกฯ แต่ พปชร. ไม่เอาด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือการเสนอให้ตัดอำนาจของ ส.ว. ทั้ง 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเสนอเหมือนกัน ทั้งฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลที่ร่วมเสนอร่างนี้เพียงร่างเดียว และพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ก็ร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียง พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมด้วยคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย แต่แกนนำพรรครัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนานั้นกลับเลือกที่จะไม่ร่วมด้วย 

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองอีก เช่น ห้ามศาลหรือข้าราชการรับรองรัฐประหาร แก้ให้นายกต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและการนิรโทษกรรม คสช. ทั้งหมด

๐ ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคสองทั้งหมด https://ilaw.or.th/node/5889

๐ สรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย https://ilaw.or.th/node/5891

๐ สรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ https://ilaw.or.th/node/5882

๐ แก้รัฐธรรมนูญ ต้องรื้อถอนอำนาจคสช. – เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าไขว้เขว https://ilaw.or.th/node/5887

ส.ว. อ้างตัวเองมาจากประชามติ ไม่เห็นด้วย พปชร. เสนอแก้ “กลไกปราบโกง”

ในการอภิปรายของที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. นอกจากพรรคการเมืองจะอภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตนเองแล้ว สิ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันคือปฏิกิริยาของ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องใช้เสียงของ ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 คนในวาระที่หนึ่งและสาม มิเช่นนั้นจะถือว่าร่างนั้นเป็นอันตกไป โดยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคแรกเมื่อปลายปี 2563 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็เคยคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ตัดอำนาจของตนเองมาแล้ว

ประเด็นหลักที่ ส.ว. อภิปรายในครั้งนี้คือการคัดค้านการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจตนเอง และคัดค้านการแก้ไขข้อจำกัดในการแปรญัตติงบประมาณและการทำหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินของหน่วยงานรัฐหรือข้าราชการตามมาตรา 144 และ 185 ซึ่งเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ

เหตุผลหลักที่ ส.ว. ใช้อ้างถึงอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของตัวเอง คือมีความชอบธรรมซึ่งได้รับจากประชาชนจากการออกเสียงประชามติในปี 2559 อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ลดทอนความชอบธรรมด้วยข้อเท็จจริงที่พบว่า การออกเสียงประชามติครั้งนั้นมีการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก อีกเหตุผลของ ส.ว. คืออำนาจในการเลือกนายกฯ นั้นก็ให้ใช้เฉพาะช่วงเริ่มต้นในการกอบกู้ประเทศหรือเวลาเจอวิกฤติ ไม่ใช่การออกแบบมาให้สืบทอดอำนาจอย่างที่ถูกกล่าวหา และการจะตั้งรัฐบาลได้นั้นต้องมีเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี 

อีกประเด็นหนึ่งที่ ส.ว.แต่งตั้งไม่เห็นด้วยคือข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐให้แก้ไขมาตรา 144 และ 185 ซึ่งห้ามแปรญัตติเพิ่มงบประมาณ โดยมีบทลงโทษให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และห้าม ส.ส. แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ทั้งนี้ ส.ว. เห็นว่าทั้งสองมาตรานี้เป็นหนึ่งในกลไกปราบโกงที่ป้องกันไม่ให้นักการเมืองทุจริตได้

๐ สรุปการประชุมสภาแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง https://ilaw.or.th/node/5894

ส.ว. ปัดตกหมด ให้ผ่านแค่ระบบเลือกตั้ง

ในช่วงการลงคะแนน พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีแนวทางในการโหวตที่ชัดเจน พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะลงมติรับทุกร่าง พรรคก้าวไกลรับเฉพาะร่างที่เสนอให้แก้ไขที่มานายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยรับทุกร่างยกเว้นร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งและรื้อมรดก คสช. ขณะที่ ส.ว. เสียงโหวตค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ส.ว. ผลึกกำลังกันอย่างแข็งขันในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่มี ส.ว. คนไหนโหวตรับแม้แต่คนเดียว ส่วนร่างที่เหลือนั้นส.ว. ส่วนใหญ่ไม่รับร่างใด นอกจากร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ร่างของพรรคเพื่อไทยก็เสนอระบบเลือกตั้งแบบเดียวกัน

การตัดสินใจลงคะแนนของ ส.ว. เช่นนี้ดูจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงคะแนนของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐกลางคันด้วย โดย 16 คนแรกของ ส.ส. พลังประชารัฐลงคะแนนเสียงรับเฉพาะร่างของตนเองและร่างที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง และงดออกเสียงทุกร่างที่ปิดสวิซต์ ส.ว. และล้างมรดกคณะรัฐประหาร แต่เมื่อเห็นแนวโน้มการโหวตของ ส.ว. ที่ไม่ลงคะแนนให้กับร่างของพลังประชารัฐ ส.ส. ที่เหลือของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนโดยรับทุกร่าง รวมถึงตัดอำนาจ ส.ว. ด้วย

ทั้งนี้ ผลการลงมติของรัฐสภาปรากฏว่ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดียวจากทั้งหมด 13 ร่างที่ผ่านเกณฑ์ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาและมีเสียง ส.ว. เกินหนึ่งในสาม คือร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบคล้ายรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีผู้รับหลักการ 553 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 343 เสียง และ ส.ว. 210 เสียง

ข้อเสนอการปิดสวิตซ์ ส.ว. นั้นถูก ส.ว. พร้อมใจกันปัดตกเช่นเดียวกันความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคแรก โดยในครั้งนี้แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคจะร่วมกันลงคะแนนเสียงให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ (439 จาก 484) แต่ร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. ทั้งฉบับที่พรรคเพื่อไทยและฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ก็ต้องตกไปเพราะ ส.ว. ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างที่มาลดอำนาจตัวเอง มี ส.ว. เพียง 15 คนที่ลงมติให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และมี ส.ว. อีก 19 คนที่โหวตให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์จากที่ต้องการถึง 84 เสียง

๐ ถอดรหัสการลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ – ส.ว. โหวตแบบ “ไม่สนโลก” https://www.ilaw.or.th/node/5897

๐ ผลการลงคะแนนแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง 13 ร่าง https://ilaw.or.th/node/5896

แก้รัฐธรรมนูญภาคสอง วาระสอง

ไพบูลย์นั่งประธาน กมธ. “หน้าเก่าเจ้าเดิม” กลับมาเป็น กมธ. อีก

หลังจากที่ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับไฟเขียวขาก ส.ว. ผ่านวาระแรกมาได้เพียงร่างเดียว ขั้นตอนต่อมาก็คือการนำไปปรับปรุงแก้ไขในขั้นกรรมาธิการ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) เพื่อทำหน้าที่ปรับแก้รายละเอียดของร่าง เพื่อนำเสนอต่อสภาให้ลงมติรายมาตราตามที่ได้เสนอให้แก้ไขในวาระสอง

กมธ. ทั้งหมด 45 คนประกอบไปด้วยตัวแทนจาก ส.ส. 30 คน และ ส.ว. อีก 15 คน โดยมีไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ กมธ. ทั้งนี้ หลายคนที่ได้รับเลือกเป็น กมธ.ชุดนี้ ถือว่าเป็น “หน้าเก่าเจ้าเดิม” กล่าวคือ เคยดำรงตำแหน่ง กมธ. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว โดยมี 23 คน แบ่งเป็น ส.ส. 10 คน และ ส.ว. 13 คน ที่เคยเป็น กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคแรกแต่สุดท้ายถูกคว่ำไป

นอกจากนี้ ยังมีอีก 15 คน ที่เคยเป็นสมาชิกของ “กมธ. ถ่วงเวลา” ซึ่งเป็น กมธ. ที่ตั้งขึ้นจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน 2563 จากที่กำหนดการเดิมจะต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการชิงเสนอและลงมติตั้ง คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ก่อนรับหลักการ ขึ้นมาเสียก่อน ท่ามกลางการคัดค้านของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เพราะเห็นว่า จะเป็นการ “ถ่วงเวลา” แก้รัฐธรรมนูญให้ทอดยาวออกไปโดยไม่จำเป็น โดยหลายคนใน กมธ. ถ่วงเวลานี้ได้กลับมาเป็น กมธ. ร่างแก้ไขรับบเลือกตั้งอีกครั้ง แบ่งเป็น ส.ส. 6 คน และ ส.ว. 9 คน โดยที่ไม่มี ส.ส. ฝ่ายค้านเนื่องจากบอยคอตการตั้ง กมธ. ถ่วงเวลา

๐ รายชื่อกมธ. #แก้รัฐธรรมนูญ นั่งหลายชุด แก้หลายรอบ แต่รัฐธรรมนูญไม่เคยผ่าน https://ilaw.or.th/node/5900

กมธ. เสนอแก้เพิ่ม 5 มาตรา ให้ กกต. มีอำนาจประกาศหลักเกณฑ์หากยังแก้ พรป. ไม่เสร็จ

ในการพิจารณาของ กมธ. นั้นมีข้อเสนอแปรญัตติขอให้แก้ไขในรายละเอียดของร่างจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้รับการบรรจุเข้าไปในร่างของ กมธ. เช่น กมธ. จากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยขอสงวนความเห็นให้เปลี่ยนสัดส่วนของส.ส. เป็นแบบแบ่งเขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างนี้เข้ามาเองในวาระแรกก็มีการขอปรับแก้ให้กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในการได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไว้ที่ร้อยละหนึ่งด้วย

ท้ายที่สุด ร่างที่ กมธ. เสียงข้างมากให้ความเห็นชอบนั้นก็มีการเสนอให้ปรับแก้เพิ่มขึ้นอีก 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 85, มาตรา 86, มาตรา 90, มาตรา 92, มาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 105 วรรคท้าย จากเดิมที่ร่างซึ่งผ่านวาระแรกมานั้นเสนอให้แก้เพียงมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น โดยมาตราที่มีการแก้เพิ่มขึ้นมานั้นมีส่วนที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจในการประกาศหลักเกณฑ์การเลือกตั้งในกรณีที่เกิดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนที่การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสร็จ

๐ สรุป “ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ” ฉบับ กมธ.ร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ https://ilaw.or.th/node/5961

ก้าวไกลประท้วง กมธ. แก้เกินหลักการ ไพบูลย์เรียกประชุมด่วนแก้ร่างใหม่

การพิจารณาร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งวาระสองเกิดขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเข้าญัตติพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธาน กมธ.ได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาพิจารณาว่าร่างของ กมธ. นั้นมีการแปรญัตติเกินหลักการที่ได้ผ่านมติในวาระแรกซึ่งระบุให้แก้เพียง 2 มาตราหรือไม่ โดยไพบูลย์ ประธาน กมธ. ได้อ้างว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 124 ระบุให้การแปรญัตติเพิ่มเติมหรือตัดทอนนั้นสามารถทำได้หาก “ไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น” ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับญัตติของธีรัจชัย ด้วยคะแนน 374 ต่อ 60 งดออกเสียง 194 เสียง

อย่างไรก็ดี ร่างของ กมธ. ก็ส่อเค้าจะมีปัญหาเนื่องจากการให้ กกต. มีอำนาจในประกาศหลักเกณฑ์การเลือกตั้งนั้นอาจจะเข้าข่ายตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระนั้นต้องจัดทำประชามติเสียก่อนจึงจะแก้ไขได้ ทำให้แม้ร่างของ กมธ. จะผ่านไปได้ก็อาจจะมีผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและเสี่ยงต่อการถูกตีตกได้

ดังนั้น ในระหว่างการประชุมพิจารณาวันแรก (24 สิงหาคม 2564) ไพบูลย์ในฐานะประธานกมธ. จึงเรียกประชุมโดยด่วนเพื่อปรับแก้ร่างเดิมของกมธ. ซึ่งทำให้ในร่างสุดท้ายที่ออกมานั้นเหลือเพียง 3 มาตราเท่านั้น โดยมีการนำมาตราที่อาจจะเป็นปัญหาออกไป และมีการนำร่างใหม่นี้มาแจกจ่ายให้ที่ประชุมรัฐสภาในช่วงเย็น ก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติให้นำร่างนี้มาพิจารณาในวันรุ่งขึ้นแทนร่างเดิม

ผลการลงมติในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ปรากฏว่าที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ. เสนอไปด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง โดยหลังจากนี้ก็ต้องรออีก 15 วันเพื่อลงคะแนนต่อในวาระสามซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของรัฐสภา

ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งนั้นไม่ได้มีการแบ่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านดังเช่นประเด็นอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยพรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนการกลับไปสู่ระบบบัตรสองใบ คิดคะแนนเขตและบัญชีรายชื่อแยกกัน แต่พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กอื่น ๆ กลับไม่ให้การสนับสนุน เช่น พรรคภูมิใจไทยซึ่งประกาศงดออกเสียงทั้งในวาระสองและสาม หรือพรรคก้าวไกลซึ่งสนับสนุนระบบ MMP แบบประเทศเยอรมนี

๐ เกมส์แก้ระบบเลือกตั้ง สภาแบ่ง 2 ฝ่าย ไม่แบ่งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล https://ilaw.or.th/node/5957

แก้รัฐธรรมนูญภาคสอง วาระสาม

แก้ระบบเลือกตั้งสำเร็จ ส.ว. เทคะแนนให้เกินครึ่ง

เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินทางมาถึงวาระสามก็จะไม่มีการอภิปรายของสมาชิกเหมือนในสองวาระแรก แต่จะมีเพียงการลงมติเท่านั้น โดยเงื่อนไขของวาระสามตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีความพิเศษ กล่าวคือ นอกจากจะต้องใช้เสียงของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเกินกึ่งหนึ่งและเสียง ส.ว. เกินหนึ่งในสามแล้ว ยังต้องมีเสียงของฝ่ายค้านซึ่งหมายถึงพรรคที่ไม่ได้มีสมาชิกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ด้วย

สำหรับร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งนี้มีการลงมติกันในวันที่ 10 กันยายน 2564 โดยผลปรากฏรัฐสภามีมติเห็นชอบไปด้วยคะแนน 472 ต่อ 33 และงดออกเสียง 187 เสียง ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งกลายเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจคือ  มี ส.ว. ถึงจำนวน 149 คนลงมติเห็นชอบ ขณะที่อีก 101 คน ลงมติไปในทางตรงข้ามหรือไม่เข้าร่วมประชุม โดยกลุ่ม ส.ว. ที่เห็นชอบส่วนใหญ่เป็น ส.ว. สายทหารหรือใกล้ชิดกับคสช. ในขณะที่ ส.ว. ที่ลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงส่วนใหญ่เป็น ส.ว. เคยมีบทบาททางการเมืองในยุคเผด็จการ คสช. และมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น พลเดช ปิ่นประทีป, พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม, เสรี สุวรรณภานนท์, คำนูณ สิทธิสมาน, เจตน์ ศิรธรานนท์, ตวง อันทะไชย และ สมชาย แสวงการ เป็นต้น

๐ แก้รัฐธรรมนูญ: “ส.ว.สายทหารเห็นชอบ-สายต้านทักษิณคัดค้าน” https://ilaw.or.th/node/5975

ทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย กับคำถามถึงอำนาจในการวีโตของกษัตริย์

หลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระสามของสภาไปได้ ขั้นตอนต่อมาก็คือการให้นายกรัฐมนตรีรอ 15 วันก่อนที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทูลเกล้าถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 ตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นก็มีความพิเศษอีกเช่นกัน คือไม่ได้รับรองพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการวีโตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่มีการรับรองไว้ พระราชอำนาจในการวีโตนั้นจะมีผลในการหน่วงเวลาการผ่านร่างกฎหมาย โดยหากกษัตริย์เลือกจะไม่ลงพระปรมาภิไธยใน 90 วัน แต่สภาลงมติเห็นชอบอีกครั้งด้วยมติสองในสามก็ยืนยันให้ผ่านกฎหมายดังกล่าวได้ หรือหากพระมหากษัตริย์ยังไม่ลงพระปรมาภิไธย นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศใช้กฎหมายนั้น ๆ ได้เลย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กลับไม่ได้ระบุพระราชอำนาจในส่วนนี้ไว้ มีแต่การวีโตร่างกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ เท่านั้นที่สามารถทำได้

สุดท้ายแล้วในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาก็ประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลังจากนี้ก็จะเป็นขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมายลูกก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นการแก้ไขให้ระบบเลือกตั้งใหม่พร้อมใช้สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า

๐ แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านวาระสาม แล้วไงต่อ? ดูเส้นทางกว่าจะได้ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่ https://ilaw.or.th/node/5979

๐ กษัตริย์มีอำนาจ Veto ร่างกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจ Veto แก้รัฐธรรมนูญ https://ilaw.or.th/node/5992

แก้รัฐธรรมนูญภาคสาม

Re-solution รวมรายชื่อ “รื้อระบอบประยุทธ์”

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พรรคการเมืองต่าง ๆ กำลังร่างข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งท้ายที่สุดก็จะไปพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคสอง ก็มีความพยายามจากภาคประชาชนที่จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยกลุ่ม Re-Solution นำโดยพริษฐ์ วัชระสินธุ์ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า โดย iLaw ร่วมทีมในการรวบรวมรายชื่อประชาชน ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขรายมาตราแทนร่างใหม่ทั้งฉบับ

ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” เริ่มต้นนำเสนอสู่สาธารณะและเปิดให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2564 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนได้ 150,921 คน และนำรายชื่อทั้งหมดพร้อมกับข้อเสนอไปยื่นต่อสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่สองที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนที่จะได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาชุดนี้ และเป็นร่างฉบับแรกที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันภายใต้ระบบใหม่ที่สามารถส่งเอกสารและลงชื่อผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” เสนอยกเลิก ส.ว. รื้อองค์กรอิสระ ป้องกันรัฐประหาร

ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ที่เสนอโดยภาคประชาชนนี้มีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่หลากหลาย ประเด็นแรกคือการเสนอให้ “ยกเลิกวุฒิสภา” และเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ “สภาเดี่ยว” โดยแต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น มีการระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. จากที่ไม่มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 

ประเด็นต่อมาคือการเสนอให้ “รื้อองค์กรอิสระ” ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีที่มาจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภา และจากสถาบันศาล จากเดิมที่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.

นอกจากนี้ ยังมีการใส่กลไก “ตรวจสอบและถอดถอนศาล” เข้ามาไว้อีกด้วย โดยประชาชน 20,000 คน หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่สามารถเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด หรือประมาณ 300 คน เพื่อเสนอเรื่องไปยัง “องค์คณะพิจารณาถอดถอน” ซึ่ง ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากตุลาการ ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. จากฝ่ายค้าน หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติด้วยเสียงมากกว่าครึ่งให้ถอดถอน ตุลาการที่ถูกกล่าวหาก็พ้นจากตำแหน่ง

ท้ายที่สุด มีการเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ให้ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. และมีการกำหนดให้การต่อต้านรัฐประหารเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน รวมถึงข้าราชการไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร และห้ามศาลรับรองความสมบูรณ์และสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารอีกด้วย

๐ เปิดสามเหตุผล “ยกเลิก ส.ว.-เดินหน้า สภาเดี่ยว” https://www.ilaw.or.th/node/6021

๐ สรุปร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ยกเลิก ส.ว. รื้อองค์กรอิสระ เพิ่มอำนาจฝ่ายค้าน https://ilaw.or.th/node/5850

๐ เหตุผล “รื้อ” ที่มาองค์กรอิสระ https://ilaw.or.th/node/6027

๐ วิธีแก้ปัญหา “ตุลาการภิวัฒน์” ตามฉบับ Resolution https://ilaw.or.th/node/6014

ผู้เสนอร่างย้ำ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ พาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย

ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ได้รับการบรรจุเข้าไปในวาระพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 โดยได้มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปชี้แจงร่างในสภาด้วย

 
บางช่วงบางตอนจากผู้ชี้แจงร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ต่อสภา
 
ผู้ชี้แจง พริษฐ์ วัชรสินธุ
 
“ผมเลยอยากเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะไว้วางใจผมหรือผู้สนับสนุนร่างท่านอื่นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ สิ่งที่สําคัญ คือการที่ท่านไว้วางใจประชาชน และโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อสร้างระบบ การเมืองที่ไว้วางใจประชาชน
 
และถึงแม้ท่านจะยังไม่เห็นด้วยกับผม ว่าเราควรมีระบบการเมืองที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของการไว้วางใจประชาชน ผมขอเถอะครับ ให้ท่านเลือกไว้วางใจประชาชนแค่ครั้งเดียว ในการตัดสินใจเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ด้วยเสียงของเขาเอง เพราะในเมื่อมาตรา 256 ได้กําหนดไว้อยู่แล้ว ว่าหากร่างนี้ผ่านการพิจารณา 3 วาระของรัฐสภา จะต้องมีการจัดทําประชามติกับคนไทยทั่วประเทศว่าเห็นชอบกับร่างแก้ไขนี้หรือไม่
 
ถ้าท่านคิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหาแย่ขนาดนั้นจริง ท่านก็ไว้วางใจประชาชนเถอะครับ ว่าพวกเขาก็จะคว่ำร่างนี้ด้วยเสียงของพวกเขาเอง”
 
ผู้ชี้แจง ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ปฏิวัติ แบบที่ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะปฏิวัติหมายถึงต้องล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วเขียนใหม่ ในลักษณะที่ไม่มีเค้าร่างแบบเดิมเลย  แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปฏิรูป เราไม่ได้ทำลายรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ เราแก้ไขรายมาตรา ในประเด็นที่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และยังคงเหลือเค้ารางแบบเดิมทั้งหมด ประเทศไทยยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเดิมทั้งหมด …
 
ผมไม่ได้ยกเลิกการตรวจสอบเพียงแต่สร้างระบบดุลอำนาจให้มาเกาะเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น มิฉะนั้น เราจะกลับไปประเด็นปัญหาที่ผมตั้งไว้แต่แรกว่า เราให้องค์กรเหล่านี้มาตรวจสอบ แล้วใครจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ตรวจสอบเราอีกที เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาจะใช้อำนาจโดยชอบเสมอ”

ส.ว. ค้านสภาเดี่ยว อ้างทำลายระบบถ่วงดุล

ในการอภิปรายไม่มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นพูดมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นกล่าวสนับสนุนร่างดังกล่าว และ ส.ว. ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างรื้อระบอบประยุทธ์ โดยให้เหตุผลว่าแม้ประเทศอื่นจะมีสภาเดี่ยว แต่ประเทศไทยก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางการเมืองเป็นของตนเอง คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยทำให้ยังไม่พร้อม อย่างประเทศที่มี ส.ว. เองก็ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ถ่วงดุล ส.ส. อีกชั้นหนึ่ง ส่วนเรื่องการรัฐประหารนั้นก็จะมองว่าเป็นสิ่งผิดเพียงด้านเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองให้รอบด้าน ให้รวมไปถึงสาเหตุด้วยว่าเหตุใดจึงต้องเกิดขึ้น

๐  ไอติม-ปิยบุตร นำเสนอสภาเดี่ยวรื้อ “ระบอบประยุทธ์” https://ilaw.or.th/node/6023

๐ รวมเสียง ส.ว. ค้าน “รื้อระบอบประยุทธ์” ค้าน “สภาเดี่ยว” https://ilaw.or.th/node/6024

ท้ายที่สุด ผลการลงมติปรากฏว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ก็ถูกสภาคว่ำในวาระที่หนึ่ง โดยมีพรรคฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ร่วมใจกันโหวตไม่รับหลักการ 473 เสียงต่อรับหลักการ 206 เสียงและงดออกเสียงอีก 6 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้มี ส.ว. 224 คนที่ลงคะแนนไม่รับหลักการ ในขณะที่มีอีกเพียง 3 เสียงเท่านั้นที่ลงคะแนนให้กับร่างรื้อระบอบประยุทธ์ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคสามต้องปิดฉากเพียงในวาระแรกเนื่องจากได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา และมี ส.ว. ลงคะแนนให้ไม่ถึงหนึ่งในสาม ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่สองแล้วที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการรวบรวมรายชื่อของประชาชนถูกสภาปัดตก

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์