จับตาพิจารณา #งบประมาณปี65 วาระสอง-สาม ลุ้นตัดงบหลายหน่วยงาน โปะงบกลางโควิด-19 16,362 ล้านบาท

Annual Appropriations Bill
Annual Appropriations Bill
18-20 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565) ในวาระสอง ลงมติรายมาตรา ว่าจะแก้ไขจำนวนงบประมาณของแต่ละมาตราหรือไม่ และวาระสาม เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างทั้งฉบับ
ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ตั้งงบประมาณรวมอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไปแล้วเมื่อ 2 มิถุนายน 2564 ก็มีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 72 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ระหว่างกระบวนการพิจารณาชั้น กมธ. มีการตัดลดงบประมาณของหลายหน่วยงาน และเสนอให้ไปเพิ่ม “งบกลาง” เพิ่มรายการสำหรับโควิด-19 โดยเฉพาะ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกมธ. เสียงข้างน้อย ที่เสนอว่าควรนำงบที่ กมธ. มีมติตัดลด ไปเพิ่มให้กับหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 จะออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร ก็ต้องลุ้นผลโหวตของสภาผู้แทนราษฎรว่าเห็นด้วยกับจำนวนที่ กมธ. มีมติเสนอ หรือที่ กมธ. เสียงข้างน้อย และ ส.ส. ที่ไม่ได้เป็น กมธ. เสนอ ซึ่งก่อนจะจับตาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ที่จะถึงในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ชวนดูข้อเสนอตัดลดงบประมาณภาพรวมจาก กมธ. และงบประมาณบางส่วนที่ไม่ถูกตัดลด เพื่อติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ได้ทันประเด็นสำคัญ

กมธ. เสนอตัดงบหลายหน่วยงานโปะงบกลางโควิด 16,362 ล้านบาท รับมือโควิด-เงินเยียวยา ใช้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ เสริม

จากข้อมูลในเอกสารรายการปรับลดร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาพรวมการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เรียกได้ว่างบประมาณแผนบูรณาการฯ งบประมาณหลายหน่วยรับงบประมาณในภาพใหญ่ถูก กมธ. เสนอตัดลดถ้วนหน้า ยกเว้นบางหน่วยรับงบประมาณที่ไม่ถูกตัดลดงบประมาณ เช่น จังหวัดและกลุ่มจังหวัด สภากาชาดไทย ซึ่งตั้งงบประมาณที่ 8,265,442,700 และงบประมาณของ ส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 8,761,390,800 บาท 
ขณะที่ในภาพย่อย ก็มีบางหน่วยงานที่หลุดรอดไม่ถูกเสนอตัดลดงบประมาณโดย กมธ. เลย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ  ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืองบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีบางหน่วยรับงบประมาณที่ไม่ถูกเสนอตัดลดงบประมาณ เช่น อบจ. ชัยนาท อบจ. สมุทรปราการ 
สำหรับงบประมาณที่ กมธ. เสนอตัดลดนั้น รวมๆ เป็นงบที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการสัมมนา อบรม ค่าครุภัณฑ์ เช่น ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าสิ่งก่อสร้างบางรายการ เช่น ค่าก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ค่าก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยภาพใหญ่ หน่วยรับงบประมาณระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า มี กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณ ดังนี้ 
๐ สำนักนายกรัฐมนตรี งบที่ตั้งไว้ 24,466,441,100 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 226,595,800 บาท
๐ กระทรวงกลาโหม งบที่ตั้งไว้ 95,980,159,000 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 3,226,880,000 บาท
๐ กระทรวงการคลัง งบที่ตั้งไว้ 11,283,775,700 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 334,978,600 บาท
๐ กระทรวงการต่างประเทศ งบที่ตั้งไว้ 3,956,192,300 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 211,250,000 บาท
๐ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา งบที่ตั้งไว้ 2,893,223,300 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 57,929,600 บาท
๐ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ งบที่ตั้งไว้ 21,449,620,800 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 38,487,000 บาท
๐ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งบที่ตั้งไว้ 45,760,685,000 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 641,364,700 บาท
๐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบที่ตั้งไว้ 34,890,424,600 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 205,500,000 บาท
๐ กระทรวงคมนาคม งบที่ตั้งไว้ 57,276,006,100 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 121,591,000 บาท
๐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม งบที่ตั้งไว้ 3,898,151,500 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 76,850,000 บาท
๐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบที่ตั้งไว้ 11,415,243,400 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 158,753,900 บาท
๐ กระทรวงพลังงาน งบที่ตั้งไว้ 1,883,229,300 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 10,100,000 บาท
๐ กระทรวงพาณิชย์ งบที่ตั้งไว้ 3,752,940,300 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 151,135,000 บาท
๐ กระทรวงมหาดไทย งบที่ตั้งไว้  260,338,478,200  บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 744,599,700 บาท
๐ กระทรวงยุติธรรม งบที่ตั้งไว้ 11,927,963,400 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 124,479,600 บาท
๐ กระทรวงแรงงาน งบที่ตั้งไว้ 45,754,911,900 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 31,483,900 บาท
๐ กระทรวงวัฒนธรรม งบที่ตั้งไว้ 4,387,934,400 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 99,564,200 บาท
๐ กระทรวงศึกษาธิการ งบที่ตั้งไว้ 119,878,053,400 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 1,950,413,900 บาท
๐ กระทรวงสาธารณสุข งบที่ตั้งไว้ 37,604,101,900 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 60,865,000 บาท
ทั้งนี้ภาพรวมรายจ่ายที่ถูกตัดลดของกระทรวงสาธารณสุข เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวพันโดยตรงกับการรับมือโรคระบาด เช่น ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งไว้ที่ 13,202,400 บาท กมธ. เสนอตัดลด 127,000 บาท เงินอุดหนุนทันตแพทยสภา ตั้งไว้ที่ 2,000,000 บาท กมธ. เสนอตัดลด 100,000 บาท เงินอุดหนุนแพทยสภา ตั้งไว้ที่ 5,000,000 บาท กมธ. เสนอตัดลด 300,000 บาท เงินอุดหนุนสภาการสาธารณสุขชุมชน ตั้งไว้ที่ 6,341,600 บาท กมธ. เสนอตัดลด 500,000 บาท
อย่างไรก็ดี ด้านการรับมือโควิด-19 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก. เงินกู้ห้าแสนล้านบาท ได้ตั้งวงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ 
๐ กระทรวงอุตสาหกรรม งบที่ตั้งไว้ 2,157,394,100 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 29,096,000 บาท
๐ ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี งบที่ตั้งไว้ 37,372,062,700 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 69,000,000 บาท
๐ รัฐวิสาหกิจ งบที่ตั้งไว้ 64,175,893,800 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 2,231,489,400 บาท
๐ หน่วยงานของรัฐสภา งบที่ตั้งไว้ 3,793,255,100 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 119,705,200 บาท
๐ หน่วยงานของศาล งบที่ตั้งไว้ 7,921,590,500 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 7,000,000 บาท
๐ หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ งบที่ตั้งไว้ 5,354,119,700 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 7,936,300 บาท
๐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบที่ตั้งไว้ 77,809,173,500 บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 1,398,701,500 บาท ตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา อบจ.จันทบุรี เทศบาลนครตรัง เทศบาลเมืองเสนา เทศบาลเมืองดอนสัก เทศบาลเมืองท่าข้าม
๐ หน่วยงานอื่นของรัฐ งบที่ตั้งไว้ 192,055,000  บาท กมธ. เสนอปรับลดลง 1,000,000 บาท
รวมงบที่ กมธ. เสนอตัดลดจากหน่วยรับงบประมาณต่างๆ 12,336,750,300 บาท ด้านแผนบูรณาการฯ 11 แผนงาน และทุนหมุนเวียน กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 4,025,259,800 บาท 
รวมงบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณ จากแผนบูรณาการฯ และทุนหมุนเวียน ที่ กมธ. เสนอตัดลด รวม 16,362,010,100 บาท และกมธ. มีมติเสนอให้นำงบที่ถูกตัดจำนวนดังกล่าว ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ในภาพรวม มีเพียงงบกลางที่ กมธ. เสนอให้ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของงบกลางที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. แล้วนั้น อยู่ที่  587,409,336,900 บาท จากเดิมที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ตั้งไว้ที่ 571,047,326,800 บาท
อย่างไรก็ดี การเสนอให้นำงบที่ถูกตัดลดในหลายหน่วยงานไปตั้งไว้ในงบกลาง ก็ยังมีข้อน่าห่วงกังวลทางกฎหมายอยู่บ้าง เพราะงบกลางไม่ได้ระบุตัว “ผู้รับงบประมาณ” เฉพาะเจาะจง งบกลางจึงเป็นเป็นข้อยกเว้นของหลักงบประมาณรายจ่ายต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง การจะจัดสรรงบกลางจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้างบกลางมากเกินไปและ/หรือไม่สามารถควบคุมตรวจสอบได้ ก็จะขัดกับหลักความโปร่งใสซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบวินัยทางการคลังตามรัฐธรรมนูญ 
สำหรับงบประมาณในหลายกระทรวงที่ถูกตัดลด และภารกิจของหน่วยงานเหล่านั้นเกี่ยวพันกับชีวิตประชาชน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงานนั้น งบประมาณสำหรับเยียวยานักเรียน นักศึกษา และแรงงาน แม้จะไม่ถูกตั้งใน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2565 อย่างชัดเจน แต่ยังมี พ.ร.ก.เงินกู้ห้าแสนล้านบาท ซึ่งตั้งวงเงิน 300,000 ล้าทบาท สำหรับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ ซึ่งเงินในส่วนนี้สามารถนำมาใช้เยียวยานักเรียน แรงงาน หรือคืนเงินค่าเทอมให้นักศึกษาได้

มติกมธ. เสนอตัดงบกลาโหมสามพันล้าน โผล่งบประมาณสร้างที่พักข้าราชบริพารในพระองค์ 272 ล้านบาท

กระทรวงกลาโหมถูกหั่นงบเยอะสุดเป็นอันดับหนึ่ง จากเดิมในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการไปในวาระหนึ่ง ตั้งงบประมาณกระทรวงกลาโหมไว้ที่ 95,980,159,000 บาท กมธ. เสนอตัดลด ถึง 3,226,880,000 บาท
โดยภาพรวมแล้ว โครงการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมที่กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณไป มักเป็นโครงการที่ตั้งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี กล่าวคือ รายการงบประมาณรายจ่ายที่ต้องทำสัญญาหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปีถัดๆ ไป แต่บางโครงการหรือบางรายการที่ถูกตัดลด ก็เป็นโครงการที่ไม่ได้ผูกพันข้ามปีแต่อย่างใด ตัวอย่างโครงการหรือรายการที่กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณ เช่น  
โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของ สป. (พื้นที่ประชาชื่น) (ระยะที่ 1) ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นโครงการที่ตั้งงบผูกพันข้ามปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ถึงปี 2567 วงเงินรวม 943,588,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 199,801,800 บาท ตัดลดไป 25,000,000 บาท ทำให้เฉพาะปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ 174,801,800 บาท
โครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตั้งงบประมาณไว้ที่ 22,953,200 บาท ถูกตัดลดไป 5,200,000 เหลือ 17,753,200 บาท แยกได้เป็น งบประมาณรายจ่ายสำหรับการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งไว้ที่ 15,140,800 บาท ถูกตัดลดไป 5,000,000 บาท คงเหลือ 10,140,800 บาท และงบประมาณสำหรับการป้องกันและทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4,816,000 บาท ถูกตัดลดไป 200,000 บาท คงเหลือ  4,616,000 บาท ขณะที่งบประมาณสำหรับการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2,996,400 บาท ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณปี 2565 ฉบับที่ 3 (ขาวคาดแดง) ว่าอยู่ภายใต้โครงการนี้เช่นกัน ไม่ถูกตัดลดแต่อย่างใด
ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ก็ตั้งงบสำหรับโครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์เช่นกัน โดยกองทัพบก ตั้งไว้ที่ 266,411,800 บาท กองทัพเรือ ตั้งไว้ที่ 45,497,300 บาท กองทัพอากาศ ตั้งไว้ที่ 35,939,700 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งไว้ที่ 51,895,900 บาท แต่งบประมาณดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกตัดลดแต่อย่างใด กล่าวคือ ภายใต้โครงการที่มีชื่อเดียวกัน กลับมีแค่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ถูกตัดลดงบประมาณลง
โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพบก ตั้งไว้ที่ 22,213,469,100 บาท กมธ. เสนอตัดลด 1,138,360,400 บาท คงเหลือ 21,075,108,700 บาท แจกแจงค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการดังกล่าวได้ ดังนี้
๐ ค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพกำลังกองทัพ ซึ่งมีรายการย่อยที่ถูกตัดลดงบประมาณ คือ 
1) ค่าใช้จ่ายในการฝึก ศึกษาทางการทหาร ตั้งไว้ที่ 2,038,571,600 บาท กมธ. เสนอตัดลด 34,000,000 บาท 
2) ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ที่ 3,240,902,300 กมธ. เสนอตัดลด 20,000,000 บาท 
๐ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ มีรายการย่อยที่ถูกตัดลดงบประมาณ คือ 
1) โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 3,146,863,700 บาท กมธ. เสนอตัดลด 355,290,100 บาท 
2) โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพซึ่งตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีไว้
2.1 โครงการตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ถึง 2566 มีจำนวนโครงการย่อยที่อยู่ภายใต้โครงการนี้ 24 โครงการ วงเงินรวมที่ตั้งไว้ทั้งหมด 22,657,171,500 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 9,449,735,300 บาท ถูกตัดลดไป 687,048,300 บาท เหลือ 8,762,687,000 บาท
2.2 โครงการที่จะเริ่มผูกพันในปีงบประมาณ 2565 ข้ามปีไปถึงปีงบประมาณ 2567 จำนวนสี่โครงการ วงเงินรวม 4,408,610,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 881,722,000 บาท ถูกตัดไป 42,022,000 บาท เหลือ 839,700,000 บาท
โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือ ตั้งไว้ที่ 14,511,189,600 บาท กมธ. เสนอตัดลด 978,500,000 บาท แจกแจงค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการดังกล่าวได้ ดังนี้
๐ ค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพกำลังกองทัพ ซึ่งมีรายการย่อยที่ กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณ คือ 
1) ค่าใช้จ่ายในการฝึกศึกษาทางการทหาร ตั้งไว้ที่ 966,500,000 บาท กมธ. เสนอตัดลด 15,000,000 บาท 
2) ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ที่ 3,537,121,700 กมธ. เสนอตัดลด 50,000,000 บาท
๐ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ มีรายการย่อยที่ถูกตัดลดงบประมาณ คือ 
1) โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพซึ่งตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีไว้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 ปีงบประมาณ 2563 ถึง 2567 และ 2568-2569 (เฉพาะปี 2560-2562 และ 2568-2569 ที่ตั้งงบเป็นก้อนเดียวกัน นอกนั้นตั้งงบประมาณเป็นรายปีงบประมาณ) มีจำนวนโครงการย่อยที่อยู่ภายใต้โครงการนี้ 11 โครงการ วงเงินรวมที่ตั้งไว้ทั้งหมด 45,175,971,200 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 4,854,536,700 บาท ถูกตัดลดไป 900,000,000บาท เหลือ 3,954,536,700 บาท
2) โครงการเสริมสร้างหน่วยต่างๆ ที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน แปดโครงการ ตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2561-2562 และ 2563 ถึง 2567 (เฉพาะ 2561-2562 ตั้งเป็นก้อนเดียวกัน นอกนั้นตั้งแยกเป็นรายปี) วงเงินรวม 3,631,921,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 393,035,100 บาท กมธ. เสนอตัดลด 8,500,000 บาท 
โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ตั้งไว้ที่ 19,545,708,600 บาท กมธ.เสนอตัดลด 590,000,000 บาท แจกแจงค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการดังกล่าวได้ ดังนี้
๐ ค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพกำลังกองทัพ ซึ่งมีรายการย่อยที่ถูกตัดลดงบประมาณ คือ 
1) ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย ตั้งไว้ที่ 6,954,528,200 บาท กมธ. เสนอตัดลด 80,000,000 บาท 
2) โครงการดำรงสภาพกำลังกองทัพซึ่งตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีไว้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ถึง 2566 มีจำนวนโครงการย่อย สองรายการ วงเงินรวมที่ตั้งไว้ทั้งหมด 4,015,831,900 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 1,293,674,400 บาท ถูกตัดลดไป 29,000,000 บาท เหลือ 1,264,674,400 บาท
๐ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ซึ่งมีรายการย่อยที่ถูกตัดลดงบประมาณ คือ 
1) โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ ตั้งไว้ที่ 1,931,329,200 บาท กมธ. เสนอตัดลด 14,000,000 บาท 
2) โครงการส่งเสริมกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน 22 รายการ ผูกพันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ถึง 2567 ตั้งงบประมาณรวมที่ 32,050,125,300 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 8,001,484,800 บาท ถูกตัดไป 467,000,000 บาท คงเหลือ 7,534,484,800 บาท
โครงการปรับวางที่ตั้ง รร. นอ. (โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช) เป็นโครงการที่ตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 ตั้งงบประมาณไว้ก้อนเดียวกัน และตั้งงบ 2563 ไปถึง 2566 เป็นรายปี งบรวมของโครงการอยู่ที่ 3,290,696,500 บาท โดยปี 2565 ตั้งงบประมาณที่ 710,030,600 บาท กมธ. เสนอตัดลดงบประมาณไป 20,000,000 บาท 
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการพิจารณาของ กมธ. พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวและทางเว็บไซต์พรรคก้าวไกลว่า ตนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณางบประมาณกองทัพในที่ประชุมกรรมาธิการ และถามสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในอนุกรรมาธิการที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ว่าเหตุใดจึงมีงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ (ถนนอู่ทองนอก) อาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองนอกให้กับข้าราชบริพารภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์ และครอบครัว และค่าที่ปรึกษา 27.1 ล้านบาท อยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ไม่ได้เป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรในสังกัดของตนเอง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจ กำลังพล และงบประมาณไปให้ส่วนราชการในพระองค์ไปทั้งหมดแล้ว ทำไมจึงยังมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ และมีงบประมาณอื่นในผลผลิตสนับสนุนการถวายความปลอดภัยรวมกัน 1,296 ล้านบาท ทั้งที่น่าจะอยู่กับส่วนราชการในพระองค์ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตอบว่า ปฏิบัติตาม พ.ร.บ ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 5 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการในพระองค์”
เมื่อไปย้อนดูเอกสารงบประมาณ ฉบับที่สาม ของกระทรวงกลาโหม ในผลผลิตการสนับสนุนการถวายความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,296,352,500 บาท ปรากฏรายการค่าก่อสร้างตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปี ยอดรวมทั้งหมด 620,500,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 272,678,700 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ตรงกับภาพเอกสารโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ (ถนนอู่ทองนอก) ที่พิจารณ์เผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ และงบประมาณในส่วนนี้ก็ไม่อยู่ในรายการที่ถูกตัดลดแต่อย่างใด ยังคงจำนวนเท่าเดิม 
มีข้อสังเกตว่า ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่สาม ของกระทรวงกลาโหม ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ ระบุแค่ว่า “ค่าก่อสร้าง จำนวน 1 รายการ” และ “ค่าที่ปรึกษา จำนวน 1 รายการ” เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเป็นค่าก่อสร้างโครงการใดเหมือนเอกสารที่ ส.ส. เข้าถึงได้
นอกจากโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ (ถนนอู่ทองนอก) ที่ไม่ถูกตัดลดแล้ว ยังมีอีกหลายโครงการที่พักอาศัยของข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมที่กมธ. ไม่เสนอตัดลด เช่น 
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (พื้นที่บางจาก) ตั้งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 934,070,400 บาท บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 304,421,700 บาท
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (พื้นที่ศรีสมาน) (ระยะที่ 2) ตั้งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 948,590,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 424,299,600 บาท
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยนายทหารสัญญาบัตรพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (พื้นที่เทิดราชัน) ตั้งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 81,700,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 31,046,000 บาท

งบบุคลากรภาครัฐไม่ถูกตัดลด โดยคิดเป็น 40% ของงบประมาณทั้งหมด

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ตั้งงบประมาณรายจ่ายแผนงานบุคลากรภาครัฐไว้ที่ 770,159,975,000 บาท ซึ่งไม่มี กมธ. เสนอตัดลดยอดรวมแต่อย่างใด มีเพียงการเปลี่ยนแปลงงบประมาณโดยตัดลดงบบุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปตั้งไว้สำหรับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณที่ถูกเพิ่มขึ้นใหม่ อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ
งบบุคลากร 770,159,975,000 บาท คิดเป็น 24.84 % จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด 3,100,000,000,000 บาท โดยยังไม่รวมงบประมาณอื่นที่ถูกตั้งไว้ใน “งบกลาง” ได้แก่
๐ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งตั้งไว้  74,000,000,000 บาท 
๐ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360,000,000 บาท
๐ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600,000,000 บาท
๐ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ  11,547,326,800 บาท
๐ เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570,000,000 บาท
๐ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370,000,000 บาท 
ซึ่งหากรวมงบบุคลากรภาครัฐ ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ รวมกับงบเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐที่อยู่ภายใต้งบกลาง รวมเป็นวงเงิน 1,243,607,301,800 บาท คิดเป็น 40.12 % จากงบประมาณทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ ในการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2565 วาระที่หนึ่ง ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล กระทุ้งประเด็นการตั้งงบประมาณสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่สูงถึง 40% ของงบทั้งหมดว่าเป็น “รัฐราชการขนาดใหญ่” และจากเอกสารสรุปการประชุมกมธ. กมธ. ก็ได้สอบถามต่อกรมบัญชีกลางว่ามีมาตรการรองรับอย่างไร กับปัญหางบประมาณปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากรและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ก็เป็นประเด็นที่ประชาชนต้องจับตาดูกันต่อไป