หนังสือเวียนศาล ให้ประกันโดยคำนึงถึงโควิดในเรือนจำ เน้นให้ผู้ต้องขังยื่นคำร้องเองจากเรือนจำได้

 

14 พฤษภาคม 2564  พงษ์เดช วานิชกิตติกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ออกหนังสือเวียนถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องมาตรการคุมขังและเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ศาลพิจารณาให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้ประกันตัวโดยคำนึงถึงอันตรายจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ในสถานที่คุมขังด้วย และกำหนดมาตรการขั้นตอนเพื่อให้มีโอกาสให้ประกันตัวได้มากขึ้น
 
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวแนะนำให้ใช้มาตรการกำกับดูแลแบบอื่น ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อ "ผ่อนคลายการเรียกหลักประกัน" ศาลอาจใช้เงื่อนไขการกำหนดที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย และอาจใช้วิธีการตั้งผู้กำกับดูแล และสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ สามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวจากสถานที่คุมขังได้เลย โดยไม่ต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมคำร้อง
 
สำหรับจำเลยที่ต้องมารายงานตัวเป็นระยะๆ ก็ให้ใช้โทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนได้
 
สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ประธานศาลฎีกาท่านก่อนและท่านปัจจุบันได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกนี้แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมนำมาเน้นย้ำเพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังลุกลามไปมากจะสังเกตเห็นได้ว่ายังมียอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนหลักพันทุกวัน การนำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนำมาปฏิบัติใช้นั้น เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน ผู้ต้องขัง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และทั้งช่วยลดความเสี่ยง และลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอีกด้วย 
 
 
 
 
รายละเอียดของหนังสือฉบับดังกล่าว เป็นดังนี้
 
 
สำนักงานศาลยุติธรรมออกหนังสือด่วนที่สุด
 
เรื่อง มาตรการคุมขังและเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
เรียน หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม
 
ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19)ซึ่งได้ขยายขอบเขตการแพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ โดยปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในสถานที่คุมขังเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสถานที่คุมขังหลายแห่งมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้วยการลดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง นั้น
 
สำนักงานศาลยุติธรรมรวบรวมบรรดากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่สามารถนำมาใช้ลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้ต้องขังและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
 
1. การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา (ทุกชั้นศาล)
1.1 กรณีผู้ต้องหาโดยจำเลยยังไม่เคยถูกคุมขัง เช่น ศาลอนุญาตฝากขังครั้งแรก การพิจารณาคำร้องปล่อยชั่วคราวควรคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานที่คุมขังประกอบด้วย และเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตราย พึงใช้วิธีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ รวมทั้งนำมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในระหว่างนี้ และเมื่อใช้มาตรการดังกล่าวแล้วสามารถผ่อนคลายการเรียกหลักประกันลงได้ ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์ที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 วิธีการดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในศาลสูงสำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาของศาลล่างได้ด้วย
 
หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องรายงานตัวเป็นระยะๆ อาจใช้วิธีการรายงานตัวทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
 
 
1.2 ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานที่คุมขังและประสงค์ที่จะขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมคำร้อง (คำร้องใบเดียว) ผ่านทางสถานที่คุมขังก็ได้
 
 
1.3 ในคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 ข้อ 5 ทั้งนี้ พึงนำมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อผ่อนคลายการเรียกหลักประกัน ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์ที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562
 
1.4 ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แม้ยังไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใดเช่น มีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 หรือให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย
 
 
ตัวอย่างคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานที่คุมขังผู้ต้องหา / จำเลย ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับกฎหมายกำหนดให้สามารถนำมาตรการต่างๆมาใช้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา / จำเลยในระหว่างสอบสวน/ พิจารณา โดยแต่งตั้งผู้กำกับดูแลในระหว่างการปล่อยชั่วคราวตามพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุกเจ็ดวันในระหว่างการปล่อยชั่วคราว / ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง / ให้ทำสัญญาประกันว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกของศาล หากไม่ปฏิบัติตามยอมให้ปรับเป็นเงินจำนวน…. บาท
 
2. การพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
ในกรณีที่สถานที่คุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนด ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาลหรือดำเนินการในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (Video Conference) การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่อาจดำเนินการโดยส่งสำเนาคำร้องขอฝากขังไปยังสถานที่คุมขังเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานที่คุมขังแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบและลงชื่อคัดค้านหรือไม่คัดค้านการฝากขัง หากผู้ต้องหาคัดค้านให้สถานที่คุมขังแจ้งให้ศาลทราบโดยเร็ว เพื่อเรียกไต่สวนผู้ร้องถึงเหตุจำเป็นในการฝากครั้งต่อไป
 
อย่างไรก็ตามการพิจารณาคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวนในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการฟังคำคัดค้านของผู้ต้องหา ควรต้องเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็นหรือเรียกพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ต้องหาในชั้นนี้ โดยดำเนินการผ่านระบบการประชุมทางจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น และต้องได้ความชัดว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาต่อไป หากไม่มีเหตุจำเป็นต้องยกคำร้อง (คู่มือปฎิบัติราชการของตุลาการส่วนวิธีพิจารณาความอาญาพ.ศ. 2564 หน้า 34 – 36)
 
3. การอ่านคำพิพากษากรณีจำเลยทุกคนในคดีได้รับการปล่อยชั่วคราวให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความแจ้งให้ศาลทราบว่าประสงค์จะฟังคำพิพากษาตามกำหนดเดิม ก็ให้อ่านคำพิพากษาไปได้ โดยกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 
กรณีจำเลยบางคนหรือทุกคนในคดีถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้อ่านคำพิพากษาตามกำหนดนัดเดิมโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 สำหรับจำเลยที่ถูกคุมขัง
 
 
4.ในสถานการณ์ที่สถานที่คุมขังมีเหตุจำเป็นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังและการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนด ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะการประชุมทางจอภาพตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ข้อ 5 จำเป็นต้องเลื่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาในช่วงเวลาดังกล่าวออกไปก่อน
 
ให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมประสานงานกับสถานที่คุมขังในเขตอำนาจ หากมีข้อขัดข้องของสถานที่คุมขังในการเบิกตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาพิจารณาคดีที่ศาลหรือในลักษณะการประชุมทางจอภาพ อาจเลื่อนการพิจารณาคดีในช่วงเวลาดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน ผู้ต้องขังและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
 
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกุล 
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม